Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นจริงหรือ

Posted By Amki Green | 19 ธ.ค. 61
23,912 Views

  Favorite

สมัยเด็ก ๆ เราเคยเรียนมาว่าปลาทุกชนิดเป็นสัตว์เลือดเย็น แต่ระยะหลังมานี้ได้มีการค้นพบปลาเลือดอุ่น ซึ่งเป็นความขัดแย้งกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้มา ดังนั้น วันนี้เราจะมีไขข้อข้องใจของหลาย ๆ คนว่า แท้จริงแล้วปลาเป็นสัตว์เลือดอุ่นหรือสัตว์เลือดเย็นกันแน่

 

ก่อนอื่น เราต้องรู้ความแตกต่างระหว่างสัตว์เลือดอุ่นกับสัตว์เลือดเย็นกันก่อน

 

สัตว์เลือดอุ่น (Warm-blooded)

สัตว์เลือดอุ่นเป็นสัตว์ที่พยายามที่จะรักษาอุณหภูมิภายในร่างกายให้คงที่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งสัตว์เหล่านี้สามารถผลิตพลังงานความร้อนออกมาใช้ได้เองเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงได้ด้วย

 

สำหรับการผลิตความร้อนให้แก่ร่างกาย สัตว์เลือดอุ่นจะกินอาหารในปริมาณมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์เลือดเย็น เนื่องจากอาหารจะถูกนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานเพื่อใช้ในการคงอุณหภูมิร่างกาย และมีเพียงส่วนน้อยที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นน้ำหนักตัว ตัวอย่างของสัตว์เลือดอุ่น ได้แก่ สัตว์ปีก เช่น นก เป็ด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข สิงโต

 

สัตว์เลือดเย็น (Cold-blooded)

สัตว์เลือดเย็นเป็นสัตว์ที่อุณหภูมิร่างกายแปรผันตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมโดยรอบ กล่าวคือ เมื่ออยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง อุณหภูมิร่างกายก็จะสูงตามไปด้วย แต่ในทางกลับกันเมื่ออยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ อุณหภูมิร่างกายของสัตว์เลือดเย็นก็จะต่ำลงด้วย สัตว์เลือดเย็นจะมีความคล่องตัวเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น และค่อนข้างเฉื่อยชาเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เย็น

 

การที่สัตว์เลือดเย็นมีอุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ก็เนื่องมาจากการทำงานของกล้ามเนื้อของพวกมันนั่นเอง โดยขึ้นกับปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย ปฏิกิริยาเคมีจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง เพราะมีความร้อนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และจะเกิดช้าลงเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำ สัตว์เลือดเย็นจะเปลี่ยนอาหารไปเป็นน้ำหนักตัวได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์เลือดอุ่น ตัวอย่างของสัตว์เลือดเย็น ได้แก่ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา

 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยล่าสุดมีการค้นพบว่า ปลาที่อาศัยอยู่ตามทะเลมีวิวัฒนาการปรับตัวให้ระบบไหลเวียนเลือดสามารถกักเก็บความร้อนไว้ภายในร่างกายได้ กลุ่มเส้นเลือดพิเศษที่สามารถกักเก็บความร้อนได้เหล่านี้ เรียกว่า “Rete mirabile” โดยเส้นเลือด Rete mirabile จะดึงดูดพลังงานความร้อนและกักเก็บไว้ภายในตัวปลา หลังจากเลือดแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่บริเวณเหงือกเรียบร้อยแล้ว เลือดจะไหลผ่าน Rete mirabile ทำให้ได้รับความพลังงานความร้อน และพลังงานความร้อนดังกล่าวจะเคลื่อนที่ไปทั่วร่างกายพร้อมกับเลือดนั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

สาเหตุที่ทำให้ปลามีวิวัฒนาการที่สามารถกักเก็บความร้อนไว้ในร่างกาย เนื่องมาจากเมื่ออุณหภูมิของน้ำลดต่ำลง (เช่น ในช่วงฤดูหนาว) อุณหภูมิภายในร่างกายของปลาจะลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งที่อุณหภูมิดังกล่าวไม่เหมาะสมต่อการทำงานของอวัยวะภายในและการเกิดปฏิกิริยาเคมีต่าง ๆ ในร่างกายของปลา ทำให้อวัยวะภายในไม่สามารถทำงานได้และตายลงในที่สุด ปลาจึงจำเป็นต้องมีวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด

 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงทราบแล้วว่า ปลาโดยทั่วไปแล้วเป็นสัตว์เลือดเย็นเนื่องจากอุณหภูมิของร่างกายแปรผันไปตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ แต่จะมีปลาบางชนิดเท่านั้น เช่น Opah หรือ Moonfish ที่จัดเป็นปลาเลือดอุ่น เนื่องจากมีวิวัฒนาการโดยที่เส้นเลือดสามารถกักเก็บความร้อนและเคลื่อนที่ไปทั่วร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะภายในร่างกายยังคงทำงานได้อยู่ เพื่อป้องกันอาการแข็งตายเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีพ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow