Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เลือดประจำเดือนเป็นเลือดดีหรือเลือดเสีย

Posted By Amki Green | 05 พ.ย. 61
14,992 Views

  Favorite

ถ้าพูดถึง "ประจำเดือน" แน่นอนว่าผู้หญิงทุกคนต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี เนื่องจากผู้หญิงทุกคนต้องเคยอยู่ในช่วงที่มีประจำเดือน และคงมีจำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่า แท้ที่จริงแล้วเลือดประจำเดือนเป็นเลือดดีหรือเลือดเสีย วันนี้เราจะมาพูดในเรื่องนี้กัน

        
การเกิดประจำเดือน

การเกิดประจำเดือน (Menstruation) นั้นเริ่มต้นจากสมองส่วนไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) หลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิง (Gonadotropin releasing hormone, GnRH) ไปยังต่อมใต้สมองส่วนหน้า ซึ่งฮอร์โมนนี้จะควบคุมให้ต่อมใต้สมองส่วนหน้าหลั่งฮอร์โมนฟอลลิเคิลสติมิวเลติง (Follicle stimulating hormone, FSH) และฮอร์โมนลูทิไนซิง (Lutinizing hormone; LH) ออกมา โดย FSH และ LH จะไปกระตุ้นให้ฟอลลิเคิล (Follicle) หรือถุงไข่ที่มีอยู่จำนวนมากให้เจริญเติบโต แต่จะมีเพียงฟอลลิเคิลเดียวที่เจริญเติบโตมากกว่าฟอลลิเคิลอื่น ๆ ซึ่งภายในฟอลลิเคิลนี้จะประกอบไปด้วยไข่จำนวน 1 ใบ

ภาพ : Shutterstock

 

ฟอลลิเคิลจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ยับยั้งการกระตุ้นฟอลลิเคิลอื่นของ FSH หลังจากนั้นฟอลลิเคิลที่เจริญเติบโตมากกว่าฟอลลิเคิลอื่น ๆ จะแตกออกและปล่อยไข่เข้าสู่ท่อนำไข่ เรียกว่า การตกไข่ (Ovulation) ส่วนชิ้นฟอลลิเคิลที่แตกออกแล้วจะกลายเป็นเนื้อเยื่อสีเหลือง เรียกว่า คอร์ปัส ลูเทียม (Corpus luteum) ซึ่งเป็นส่วนที่จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และเอสโตรเจน (Estrogen) ต่อไป

 

ฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนและเอสโตรเจนที่สร้างขึ้นโดยคอร์ปัส ลูเทียม จะทำให้ผนังมดลูกหนาขึ้น เนื่องจากต้องมีการสะสมอาหารต่าง ๆ ไว้สำหรับให้ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วหรือตัวอ่อน (Embryo) ได้ฝังตัว แต่หากไข่ที่ตกไม่ได้รับการผสมกับเชื้ออสุจิ เยื่อบุผนังมดลูกจะเกิดการหลุดลอกออกมาพร้อมกับไข่ เรียกว่า ประจำเดือน หรือ Menstruation

 

ข้อสังเกตของเลือดประจำเดือน

เลือดประจำเดือนแตกต่างจากเลือดปกติ เนื่องมาจากองค์ประกอบและสมบัติทางกายภาพ กล่าวคือ เลือดประจำเดือนเป็นเลือดที่มีสารคัดหลั่งจากช่องคลอด, เนื้อเยื่อที่ตายแล้วจากผนังมดลูก, เม็ดเลือดแดง และมิวซิน (Mucin) ซึ่งเป็นสารคัดหลั่งชนิดหนึ่งปะปนอยู่ด้วย โดยองค์ประกอบของสิ่งที่ปนอยู่ในเลือดประจำเดือนจะปรับเปลี่ยนไปตามระยะต่าง ๆ ของการเป็นประจำเดือน ส่วนปริมาณของประจำเดือนจะมีความแตกต่างกันในผู้หญิงแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอายุ นอกจากนี้ความหนาของผนังมดลูกยังส่งผลต่อสีของประจำเดือนอีกด้วย ดังนั้น เราควรสังเกตประจำเดือนอยู่เสมอ เนื่องจากประจำเดือนสามารถบอกเกี่ยวกับสุขภาพได้

ภาพ : Shutterstock

 

สิ่งที่ควรสังเกตเกี่ยวกับประจำเดือน คือ

1. ปริมาณเลือด โดยปกติแล้วเลือดที่ออกมาจะมีปริมาณไม่มาก แต่ถ้าท่านใดมีปริมาณเลือดออกมามากกว่าปกติ (มีการเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 2 ชั่วโมง) ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที
2. ลักษณะของเลือด หากเลือดที่ออกมามีลักษณะเป็นก้อนเลือด ลิ่มเลือดสีแดงสด แดงเข้ม แดงคล้ำ อาจเกิดจากความผิดปกติเช่นกัน ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที
3. ความสม่ำเสมอของรอบเดือน ประจำเดือนควรมาเป็นประจำสม่ำเสมอ และควรต้องมาทุก ๆ 21-35 วัน ไม่ควรมาเร็วกว่า 21 วันและช้ากว่า 35 วัน

 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลาย ๆ คนคงรู้แล้วว่า เลือดประจำเดือนนั้นไม่ใช่เลือดเสีย แต่เกิดมาจากการสลายตัวของผนังมดลูกที่ไม่ได้รับการฝังตัวจากตัวอ่อน รวมถึงผนังหลอดเลือดและเลือดที่มาเลี้ยงมดลูกด้วย ซึ่งมีความแตกต่างจากเลือดทั่ว ๆ ไป อันเนื่องมาจากองค์ประกอบและคุณสมบัติทางกายภาพของประจำเดือน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- สีของประจำเดือนบอกอะไร

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow