Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

'โรคซึมเศร้า' รู้จักกันดีพอหรือยัง ?

Posted By Jkulisara | 22 ส.ค. 61
4,731 Views

  Favorite

ทุกวันนี้โรคทางจิตเวชที่เรียกได้ว่าเป็นที่รู้จักและพบได้บ่อยมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้น "โรคซึมเศร้า"

มีผู้คนทั่วโลกที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการของโรคนี้ถึง 350 ล้านคน โรคซึมเศร้าได้พรากชีวิตคนจำนวนมากด้วยการฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ โรคซึมเศร้ายังพบในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สาว ๆ อย่างเราควรจะให้ความสำคัญ มีความเชื่อผิด ๆ มากมายเกี่ยวกับคนเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เราค่อย ๆ มาทำความเข้าใจไปด้วยกันนะคะ

 

โรคซึมเศร้าไม่ใช่ "โรคจิต"

ภาพ : medicalxpress.com

 

ผู้คนมากมายยังมีความเข้าใจผิด ๆ ว่าผู้ป่วยจิตเวชจะต้องเป็นคนบ้า เป็นอันตรายต่อสังคม ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดถนัดเลยนะคะ เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่า ที่จริงแล้ว โรคทางจิตเวชสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภทด้วยกัน นั่นคือ "โรคจิต" (psychosis) กับ "โรคประสาท" (neurosis)

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างทั้งสองประเภทนี้คือ ผู้ป่วยโรคจิตจะไม่รับรู้ความเป็นจริง ไม่รู้สึกตัว ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี เช่น โรคจิตเภท โรคจิตหลงผิด ผู้ป่วยโรคจิตจะไม่สามารถดำรงชีวิตตามปกติในสังคมได้ อาจเดินร้องไห้ หัวเราะ เปลือยกายในที่สาธารณะ มีอาการแบบที่เรียกกันว่า "คนบ้า" ส่วน ผู้ป่วยโรคประสาท จะยังมีความรู้สึกตัว ตอบสนองต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ตามปกติ ยังคงรู้จักผิดชอบชั่วดี แต่มีอาการกังวลใจ กลัว ซึมเศร้าลง ซึ่งโรคซึมเศร้าถือเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่งนั่นเอง 

นอกจากโรคซึมเศร้าแล้ว โรคประสาทชนิดอื่น ๆ ยังมีอีกมากมาย เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคแพนิค โรคกลัวหรือโรคโฟเบีย เป็นต้น ดังนั้น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ใช่คนบ้า ไม่ใช่บุคคลอันตรายน่ารังเกียจแต่อย่างใด

 

ประเภทของโรคซึมเศร้า

ภาพ : healthlabclinic.com

 

โรคซึมเศร้ายังแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ค่ะ

1. โรคซึมเศร้าแบบรุนแรง (Major Depressive Disorder)

ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้ารบกวนชีวิตประจำวันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป

2. โรคซึมเศร้าแบบเรื้อรัง (Persistent Depressive Disorder หรือ Dysthymia) 

ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าไม่รุนแรงเท่าประเภทแรก แต่มีอาการต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 ปี

3. โรคซึมเศร้าอารมณ์ตก หรือโรคไบโพล่าร์ (Manic Depressive Illness หรือ Bipolar)

ผู้ป่วยมีอารมณ์สองขั้ว แปรปรวนรุนแรงสลับกันระหว่างภาวะซึมเศร้า และภาวะฟุ้งซ่านขาดสติ (Mania)

ทั้ง 3 ประเภทจะมีอาการของภาวะซึมเศร้า ซึ่งกระทบความสุขในชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมากค่ะ

 

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

ภาพ : health.com

 

โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง คือ สารเซโรโทนิน (serotonin) และ สารนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ประกอบกับปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เช่น เหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิต ความสูญเสียที่กระทบจิตใจ ความโดดเดี่ยว พันธุกรรม อาการป่วยจากโรคทางกายอื่น ๆ  ลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพของผู้ป่วย การใช้สารเสพติด ไปจนถึงภาวะการบาดเจ็บหรือการถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระยะยาวที่สมองสั่งการเพื่อจัดการกับความกลัวและความเครียด

 

อาการของโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป เช่น

1. อาการทางจิตใจและอารมณ์ 

รู้สึกเหงาหงอย หดหู่ สิ้นหวัง คิดว่าตนเองไม่มีค่า ไม่ภูมิใจในตนเอง รู้สึกผิด ขาดสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ แม้แต่เรื่องที่ตนเคยสนใจ หรืออาจมีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง

ภาพ : issue247.com

 

2. อาการทางร่างกาย 

รู้สึกไร้เรี่ยวแรง อ่อนล้า เหนื่อย เคลื่อนไหวช้า มีอาการนอนไม่หลับ หรืออาจนอนมากกว่าปกติ เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ น้ำหนักลดลง หรืออาจเพิ่มขึ้นผิดปกติ ประจำเดือนผิดปกติ ปวดตามร่างกาย ความรู้สึกทางเพศลดลง

ภาพ : 30seconds.com

 

อาการเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป จึงจะถือว่าเป็นโรคซึมเศร้า และอย่างที่เล่าไปในตอนต้นว่า มักพบผู้ป่วยซึมเศร้าเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยผู้หญิงจะเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าผู้ชายถึง 70% อาการแสดงออกของผู้ป่วยหญิงก็มักต่างจากผู้ป่วยชายด้วยเช่นเดียวกัน

ผู้ป่วยซึมเศร้าที่เป็นเพศหญิง มักมีอาการเศร้า สิ้นหวัง รู้สึกไร้ค่า อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากฮอร์โมน ไม่ว่าจะเป็นช่วงมีประจำเดือน ช่วงหมดประจำเดือน ไปจนถึงหลังคลอดบุตร ทำให้มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงยิ่งขึ้น อาจทำให้เกิด โรคซึมเศร้าก่อนมีรอบเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder) หรือ โรคซึมเศร้าหลังคลอดบุตร (Postpartum Depression หรือที่เรียกกันว่า Baby Blues) ส่วนในผู้ชาย มักมีอาการหงุดหงิด อ่อนล้า นอนไม่หลับ ไม่ค่อยแสดงอาการสิ้นหวัง เศร้าเหมือนในผู้หญิง บางคนอาจก้าวร้าวรุนแรง และอาจหันไปพึ่งสารเสพติดค่ะ

 

รู้ตัวว่ามีอาการแล้ว ทำอย่างไรดี ?

ภาพ : ameblo.com

 

ถ้าเพื่อน ๆ รู้สึกตัวว่ามีอาการของโรคซึมเศร้าแล้ว อย่าลังเลที่จะไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการบำบัดรักษา ถึงแม้จะมีอาการติดต่อกันไม่ถึง 2 สัปดาห์ แต่หากอาการที่เกิดขึ้นรบกวนความสุขในชีวิตประจำวันของเรา ก็สามารถไปพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุย ขอคำปรึกษาในการจัดการกับความเศร้าได้เช่นกันนะคะ

สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จิตแพทย์จะทำการรักษาโดยการใช้จิตบำบัด ปรับพฤติกรรมและความคิด และอาจใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองร่วมด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีความสุขกับชีวิตได้อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้จิตแพทย์อาจพูดคุยกับคนใกล้ชิดของผู้ป่วย เพื่อความเข้าใจในโรคที่ผู้ป่วยเผชิญและแนะนำวิธีปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างถูกต้อง

 

ภาพ : verilymag.com

 

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอาการที่ดีขึ้นได้ก็คือ ความรักความเข้าใจจากคนใกล้ชิด หากคนใกล้ตัวของเพื่อน ๆ กำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ขอให้พยายามทำความเข้าใจ เอาใจใส่และอดทนต่อพฤติกรรมของผู้ป่วย อย่ามองว่าผู้ป่วยซึมเศร้าเป็นคนบ้าหรือผิดปกติทางจิตใจ แต่เป็นคนธรรมดาที่ประสบกับความเจ็บป่วยไม่ต่างกับผู้ป่วยโรคทางกายอื่น ๆ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่กำลังประสบกับโรคซึมเศร้า รวมถึงคนใกล้ชิดทุกคนด้วยนะคะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Jkulisara
  • 1 Followers
  • Follow