Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการรับมือกับเด็กนักเรียนในห้องเรียน

Posted By Plook Teacher | 12 ก.ค. 61
51,086 Views

  Favorite

นายนรรัชต์  ฝันเชียร

           ปัญหาใหญ่ในชั้นเรียนที่พบเจอในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการควบคุมชั้นเรียน ด้วยเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ครูไทยอย่างเราต้องรู้จักหาวิธีการในการดูแลชั้นที่สร้างสรรค์มากขึ้น ในอดีตเราอาจจะถือไม้เรียวเดินไปเดินมาสร้างความยำเกรงให้เด็กในห้องเรียนหันมาฟังเราได้ แต่ปัจจุบันนี้วิธีการนี้อาจใช้ไม่ได้แล้ว ซ้ำร้ายยังส่งผลเสียต่ออาชีพการทำงานของเราอีกด้วย เพราะการสื่อสารในโลกในยุคปัจจุบันนี้เป็นสิ่งรวดเร็วมาก ภาพที่เรายืนถือไม้เรียวหรือกำลังทำโทษเด็กอาจถูกบันทึกและเผยแพร่ในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งถือแม้ว่าเราจะปรารถนาดีสักแค่ไหน กระแสสังคมที่รับชมผ่านสื่อแค่ผิวเผินก็พร้อมที่จะโจมตีเรา โดยไม่รับฟังเหตุผลใดๆของเราทั้งสิ้น

 

           ที่ผมพูดอย่างนี้ อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องไม่สำคัญ คุณครูหลายท่านอาจคิดว่าปกติฉันก็ไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ตบ่อย ไม่รู้ไม่เห็นเสียก็ไม่เป็นไร อย่าลืมนะครับว่าโลกอินเตอร์เน็ตไปไวและกว้างไกลมาก แม้ไม่ถึงหูเราก็อาจจะถึงพ่อแม่พี่น้องเพื่อนสนิทมิตรสหาย ร้ายแรงที่สุดก็ถึงหัวหน้าและผู้บังคับบัญชา จนเรื่องขี้ประติ๋วกลับกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ถึงกับโดนไล่ออกเลยก็เป็นได้

 

           เอาล่ะ ในเมื่อวิธีการที่มีมาตั้งแต่อดีตไม่สามารถเอามาใช้ได้แล้ว เราจะมีวิธีอย่างไรในการดูแลชั้นเรียน เพื่อให้เด็กๆมีสมาธิและเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมกันล่ะ เรื่องนี้ถ้าให้ได้วิธีการที่เหมาะสม เราคงต้องมาศึกษาในเรื่องของการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้กันก่อน

 

           อับราฮัม เฮช มาสโลว์ (Abraham H.Maslow) นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงชาวสหรัฐ ได้นำเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับแรงจูงใจ ซึ่งเขาได้อธิบายว่า มนุษย์เรานั้น มีความต้องการไม่สิ้นสุด และปรารถนาที่จะได้รับการตอบสนองอย่างต่อเนื่อง โดยการการตอบสนองนั้นจะเป็นไปตามลำดับขั้น  และเมื่อขั้นหนึ่งขั้นใดได้รับการตอบสนองแล้ว ก็จะขยับความปรารถนาขึ้นไปในขั้นที่สูงขึ้น ซึ่งในทฤษฎีแรงจูงใจของมาสโลว์นี้ ได้แบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้น ดังนี้

  1. ต้องการของร่างกาย (Physiological needs) เป็นความต้องการพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต ประกอบด้วย อากาศ น้ำ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค

  2. ความต้องการความปลอดภัย (Safety needs) เป็นความต้องการในการได้รับปกป้องคุ้มครอง และมีความมั่นคงปลอดภัย

  3. ความต้องการด้านสังคม (Social needs) เป็นความต้องการที่จะได้รับความรักและการยอมรับจากบุคคลอื่น 

  4. ความต้องการการยกย่อง (Esteem needs) เป็นความต้องการการยกย่องและเคารพนับถือ

  5. ความต้องการประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต (Self-actualization needs) เป็นความต้องการสูงสุดแต่ล่ะบุคคลตามเป้าหมายที่ตนเองคาดหวังไว้

     

    ภาพ : shutterstock.com


     

           ถ้าดูตามทฤษฎีของมาสโลว์แล้ว จะเห็นได้ว่า ความต้องการของมนุษย์เรานั้นมีการเติบโตขึ้นตามลำดับ โดยเริ่มต้นจากความต้องการภายในร่างกายของตัวเองก่อน แล้วแผ่ขยายไปเป็นความคาดหวังจากบุคคลอื่น จนสุดท้ายนำมาสู่สิ่งที่เป็นนามธรรม อย่างความคาดหวังในชีวอต ซึ่งถ้าเราเอาแนวคิดจากทฤษฎีนี้มามาประยุกต์ใช้สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของเด็กในห้องเรียน เราก็อาจส่งเสริมเกได้ตามแนวทางดังนี้

 

           สเต็ปที่ 1     จัดชั้นเรียนให้เหมาะสม

ห้องเรียนที่เล็กอุดอู้ ไม่ระบายอากาศ มีมุมอับมุมทึบมากมาย และร้อนอบอ้าวเกินไป ล้วนไม่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็ก รวมไปถึงสภาพจิตใจของตัวผู้สอนเองด้วย การปรับปรุงห้องเรียนให้เหมาะสมเป็นไปตามวัยเด็กและสอดคล้องการสุขภาพพลานามัยของเด็ก เช่น อาจจัดให้มีคูลเลอร์น้ำในห้องเรียนเพื่อให้เด็กสามารถดื่มได้ จัดเฟอร์นิเจอร์ไม่บังทิศทางลม ติดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศที่เพียงพอ และดูแลความสะอาดอยู่เสมอ จะช่วยตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้านร่างกายของเด็กได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีความพร้อมและสมาธิในการเรียนรู้มากขึ้น หรือไม่ก็ลองเปลี่ยนจากการนั่งเรียนในห้องเรียน ไปเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนดูบ้าง ก็น่าจะเป็นวิธีที่ช่วยได้มาก

 

           สเต็ปที่ 2    สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตรและผ่อนคลาย

ไม่มีใครชอบบรรยากาศแห่งความกดดัน การถูกข่มขู่ หรือโดนบังคับจิตใจ  ไม่ว่าจะเป็นในการเรียนหรือในโลกการทำงาน แต่เชื่อไหมครับว่าสิ่งเหล่านี้คือรูปแบบที่มักจะพบเจอ ในระบบการศึกษาของบ้านเรา หลายท่านที่เป็นครูอาจมองว่าถ้าไม่บังคับหรือเคี่ยวเข็ญบ้าง เด็กๆ ก็จะไม่สนใจเรียน แต่เท่าที่เคยสัมผัสมา ถึงแม้จะเคี่ยวเข็ญอย่างไร ถ้าตัวเด็กนั้นไม่ได้รู้สึกอยากเรียนมาตั้งแต่แรก  ก็ยากที่ทำให้เด็กหันมาสนใจเรียน แถมยังทำให้เด็กเกิดทัศนคติที่ไม่ดีกับการเรียนอีกด้วย ดังนั้น เพื่อจะตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัยตามทฤษฎีของมาสโลว์ เราก็ควรสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ผ่อนคลายและเป็นมิตรกับเด็ก เพื่อให้เขารู้สึกว่าการมาโรงเรียนนั้นไม่น่ากลัวและสนุกสนาน โดยการสอนของครูนั้นมีความสร้างสรรค์ อารมณ์ดี และรับฟังความต้องการของเด็ก ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เด็กรักการมาเรียนและสนใจเรียนมากขึ้น

 

           สเต็ปที่ 3    เน้นสื่อและกิจกรรมหลากหลายเพื่อให้เด็กได้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

การจัดการเรียนรู้ ด้วยวิธีการและสื่อที่หลากหลายและแปลกใหม่อยู่เสมอ จะช่วยจูงใจให้เด็กสนใจในการจัดการเรียนการสอนของครู  ซึ่งปัจจุบันมีสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เช่น แบบจำลอง คอมพิวเตอร์ หรือชุดการเรียนรู้ต่างๆ ถ้ารู้จักนำมาใช้อย่างสร้างสรรค์ ก็จะช่วยให้เด็กมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น ซึ่งถ้าเน้นกิจกรรมให้เด็กได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น การทำงานเป็นกลุ่ม หรือการจัดให้เกิดการแข่งขันเป็นทีม ก็จะเป็นการตอบสนองความต้องการด้านสังคม ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ ได้รับความรักและมีการยอมรับระหว่างกัน

 

           สเต็ปที่ 4    ยกย่องและชมเชย

ยกย่องและชมเชย ถือเป็นการเสริมแรงทางบวกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ซึ่งถ้าตามทฤษฎีของมาสโลว์จะเห็นว่าเมื่อมนุษย์เราได้รับการยอมรับแล้ว ก็ปรารถนาที่จะได้การชมเชยยกย่องในขั้นต่อมา ซึ่งการชมเชยเด็กๆ เมื่อเขาทำกิจกรรมต่างๆ สำเร็จหรือนำเสนอแนวคิดที่น่าสน ใจนั้น ก็ล้วนเป็นการช่วยให้เขาหันมาสนใจการเรียนและมีสมาธิกับสิ่งเหล่านั้นมากขึ้นได้

 

           สเต็ปที่ 5    สร้างแรงบันดาลใจ

    การศึกษาในทุกระดับ ควรพุ่งประเด็นให้ผู้เรียนนั้นเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ มากกว่าที่จะสนใจที่วิชาการเป็นหลัก เพราะแรงบันดาลใจนั้นคือแรงผลักดันที่สำคัญ ที่ช่วยให้ให้เด็กมุ่งมั่นต่อเป้าหมายแห่งความสำเร็จในชีวิต การสร้างให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจนั้น ถือแม้จะยากยิ่ง แต่ถ้าสามารถสร้างได้แล้ว เด็กจะเติบโตในโลกของการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งวิธีการที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กนั้นคือการให้เด็กได้พบเจอประสบการณ์ที่หลากหลาย ผ่านสถานที่หรือสื่อต่างๆ เพื่อให้เขาได้มีความฝันในเรื่องที่เขาสนใจและในฐานะครูก็ควรส่งเสริมและสนับสนุนเขาในเรื่องเหล่านั้นอย่างเต็มใจและสม่ำเสมอ จึงจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม

 

ภาพ : pixabay.com

 

           นี่คือ 5 ขั้นตอนในการส่งเสริมการเรียนรู้ในชั้นเรียน ตามทฤษฎีของมาสโลว์ที่ผมได้หยิบยกมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทาง ซึ่งถ้าสามารถทำได้ตามขั้นตอนทั้งหมดนี้ ผมว่าเด็กๆที่เรียนรู้ในห้องเรียนรูปแบบนี้คงมีความรู้สึกอยากมาโรงเรียนทุกวัน มีสมาธิในการเรียน มีความสุขและสนุกกับการเรียนรู้มากขึ้นอย่างมากเลยทีเดียว

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow