Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Philosophy of Youth Life ปรัชญาชีวิตวัยรุ่น

Posted By Plook Magazine | 11 ก.ค. 61
9,316 Views

  Favorite

ช่วงชีวิตวัยรุ่น เป็นช่วงที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง วัยรุ่นหลายคนเลยมองหาปรัชญาชีวิตไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจในวันที่โลกไม่ค่อยใจดีด้วย เพราะปรัชญาอันทรงพลังเพียงไม่กี่คำก็ทำให้เรามีพลังกายพลังใจขึ้นมาดื้อ ๆ ในช่วงที่กำลังเผชิญกับปัญหาและต้องการทางออก Plook ฉบับนี้จึงได้คัดสรรปรัชญาชีวิต 6 ข้อที่สวยงาม เรียบง่าย แต่หนักแน่นไปด้วยความหมาย เพื่ออธิบายความจริงถึงการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข   

 

 

ปรัชญาชีวิตข้อที่ 1


เวลาแห่งความสุขไม่ได้แค่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่เรายังต้องระวังในสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขอีกด้วย เพราะสักวันมันอาจจะนำมาซึ่งปัญหาหรือเรื่องน่าปวดหัว ดังนั้นการคาดหวังว่าจะมีความสุขกับอะไรตลอดไปก็อาจเป็นไปไม่ได้ อย่างเช่น วันนี้เรามีความสุขกับการกินเบคอน พอวันรุ่งขึ้นเรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาเพราะเบคอนที่กินเข้าไปกลายมาเป็นพุงน้อย ๆ ที่ท้องและต้นของเรา

 

เลือกสิ่งที่อยากมีปัญหาด้วย  

ถ้าวันหนึ่งความสุขกลายมาเป็นปัญหา คำแนะนำคือเราควรเลือกปัญหาที่อยากจะอยู่ด้วยมากที่สุด โดยเริ่มต้นถามตัวเองว่า อะไรที่ทำให้เรามีความสุข และพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อที่จะได้ความสุขนี้มาครอบครอง ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่มีความหมายกับชีวิต และเป็นความสุขที่เราต้องการจริง ๆ อย่างเช่น เรายอมเหนื่อย อดหลับอดนอนเพื่อที่จะอ่านหนังสือสอบเข้าคณะในฝันให้ได้ ถึงจะเหนื่อยแต่พอทำได้แล้วก็จะมีความสุขมาก เมื่อรู้แบบนี้แล้วเราจะเจ็บปวดน้อยลงเมื่อต้องเสียใจกับสิ่งที่ยกให้เป็นความสุขในครั้งต่อไป

 
 
 
ปรัชญาชีวิตข้อที่ 2

 

ความทุกข์ใจของวัยรุ่นสมัยนี้มักมาจากการอยากเป็นคนสำคัญ อยากทำอะไรที่มีความหมาย เพราะเรากำลังอยู่ในวัฒนธรรม Pop Culture ที่ต้องทำตัวให้ป็อปตลอดเวลา โดยเฉพาะในโลกโซเชียลที่สื่อมักจะนำเสนอไลฟ์สไตล์ชีวิตสุดชิคของเหล่าคนดัง ทำให้คนที่ไม่ได้มีชีวิตแบบนั้นเกิดความรู้สึกแย่ และรู้สึกว่าตัวเองเป็นแกะดำ เริ่มไม่พอใจในชีวิตตัวเอง โทษครอบครัว โทษสังคมที่ตัวเองอยู่ และเริ่มรู้สึกอับอายเพราะไม่ได้มีชีวิตชิคคูลโด่งดัง กลายเป็นว่าการเป็นคนโนเนม ไม่มีใครรู้จัก ใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่เด่น แต่ก็ไม่ได้บ๊วย เป็นความล้มเหลวแบบใหม่ที่น่าอับอาย

    
บางทีเราอาจเกิดมาเพื่อเป็นคนธรรมดา

การมีประสบการณ์ชีวิตพื้นฐานอาจเพียงพอแล้วสำหรับบางคน เช่น ได้กินอาหารอร่อย ๆ ทุกวัน, มีเพื่อนที่ดี, ได้ลงมือทำในสิ่งที่ชอบ, ได้ช่วยเหลือคนอื่น, ไปเที่ยวต่างประเทศ, มีคนแชร์เรื่องต่าง ๆ ด้วย ฯลฯ ถึงจะฟังดูน่าเบื่อ แต่เราไม่จำเป็นต้องฝืนทำในสิ่งที่ไม่อยากทำเพียงเพื่ออยากให้ตัวเองป็อปและเป็นที่รู้จัก เอาจริง ๆ เราไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นที่จดจำหรือเป็นคนสำคัญของใครเลยก็ได้ เพราะการได้ทำสิ่งดี ๆ ที่เราทำขึ้นด้วยใจอย่างมีความสุข น่าจะสำคัญกว่าการได้เป็นคนโด่งดังแต่ภายในใจกลับไม่มีความสุขมากกว่านะ

 
 
 
ปรัชญาชีวิตข้อที่ 3

 

เด็กมัธยมกลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืนจากการประกวดร้องเพลง พร้อมได้เงินสด 1 ล้านบาท, เพื่อนในห้องได้ไปเที่ยวอิตาลีด้วยเครื่องบินชั้นธุรกิจ, คนรู้จักสอบติดมหา’ลัยดัง พ่อเลยซื้อรถยนต์ให้เป็นของขวัญ แต่เรากลับติกแหง็กอยู่บ้านลำพังกับแมวอีกห้าตัว และเริ่มคิดว่าทำไมชีวิตเรามันห่วยแบบนี้ ความหดหู่เริ่มระเบิดไปทั่วห้อง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเราก็มีความสุขกับชีวิตแบบนี้ทุกวัน

 

ชีวิตที่มีค่าของเราหรือของคนอื่น

สังคมทุกวันนี้อยากให้เราเป็นสิ่งที่ดีที่สุด มีความสุขที่สุด เก๋ที่สุด เรียนเก่งที่สุด ป็อปปูลาร์ที่สุด ได้ทำงานที่มีความหมายที่สุด ถึงจะเรียกว่ามีชีวิตที่มีค่า เรากำลังพยายามมากเกินไปเพื่อที่จะมีความสุขตามแบบที่คนอื่นบอกไว้ และลงเอยด้วยการดูถูกชีวิตของตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า ทั้งที่ชีวิตเราก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น และดีในแบบของเราเหมือนกัน หยุดรู้สึกแย่เพราะเห็นชีวิตคนอื่นน่าอิจฉา และเอาเวลาไปทำชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นดีกว่า เพราะชีวิตมันคงดีขึ้นไม่ได้ ถ้ามัวแต่นั่งสไลด์หน้าจอและอิจฉาชีวิตคนอื่นอยู่แบบนี้

 

 

 

ปรัชญาชีวิตข้อที่ 4
 

ถ้าวันหนึ่งเราเจอกระเป๋าใบใหญ่ที่ข้างในมีแต่เงินระหว่างที่เดินไปโรงเรียน เราจะทำอย่างไรกับมันดี จะหยิบไปเลย เดินผ่านไปเฉย ๆ หรือเอาไปให้ตำรวจดีนะ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามันไม่ใช่ความผิดของกระเป๋าที่วางอยู่ตรงนั้น แต่มันจะเป็นความผิดของเราแน่ ๆ ถ้าเลือกที่จะหยิบเงินในกระเป๋าไป ซึ่งก็เปรียบเหมือนสัจธรรมที่ว่า ‘ชีวิตคือการเลือก’ ผิดหรือถูกอยู่ที่ตัวเราตัดสินใจ

 

เราเป็นผลของสิ่งที่เลือก

คนเรามักจะโทษสิ่งที่เกิดขึ้นว่าไม่ใช่ความผิดของตัวเอง ทั้งที่ความจริงแล้วในหลาย ๆ ครั้ง เราเลือกที่จะทำผิดเอง ถึงแม้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตบางอย่างเราไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราสามารถเลือกที่จะให้มันจบสวย ๆ ได้ ด้วยการรับผิดชอบต่อสิ่งนั้นให้ถูกต้อง ก่อนจะคิดตัดสินใจทำอะไร อยากให้จำเอาไว้ว่า ทุกสิ่งที่เราเลือกทำล้วนมีผลสะท้อนกลับมาสู่ตัวเราทั้งหมด ก็เหมือนกับคำสอนที่ว่า ‘คิดดี พูดดี ทำดี ชีวิตมีสุข’

 

 

ปรัชญาข้อที่ 5

 

หลายคนไม่ชอบที่ต้องทำร้ายความรู้สึกคนอื่นเวลาที่เขามาขอความช่วยเหลือ ทำให้เราไม่กล้าพูดคำว่า ‘ไม่’ แต่การตอบ ‘ตกลง’ กับทุกอย่าง หลายครั้งก็นำพาเราเข้าไปสู่ความยุ่งยากที่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวด้วย แม้ในใจลึก ๆ เราจะรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าตอบตกลงจะทำให้ตัวเองเดือดร้อนและไม่สบายใจเสียเอง ดังนั้น ทำไมเราถึงไม่เรียนรู้ที่จะรักษาความรู้สึกของตัวเองก่อน และปฏิเสธการขอความช่วยเหลือที่เกินความสามารถอย่างสุภาพ อย่าทำให้คำว่า ‘ไม่’ มันพูดยากขนาดนั้นเลย

 

ใส่ใจความรู้สึกตัวเองก่อน

จำเอาไว้ว่าทุกครั้งที่เราพูดคำว่า ‘ไม่’ ก็เหมือนเรากำลังลากเส้นรอบ ๆ ตัวเองเพื่อป้องกัน และสร้างขอบเขตที่แข็งแรงให้ตัวเอง เพื่อไม่ให้คนอื่นเข้ามาเอาเปรียบได้ง่าย ๆ อย่าคิดว่าการปฏิเสธเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะเราควรตอบตกลงกับสิ่งที่สำคัญ จำเป็น และอยากทำจากใจจริง ๆ ลองคิดดูว่าถ้าเราตอบตกลงกับทุกอย่าง แล้วเราจะต้องเจอปัญหาและเรื่องหยุมหยิมมากมายขนาดไหน ใจความสำคัญของเรื่องนี้ก็คืออยากให้รักษาและใส่ใจความรู้สึกของตัวเองก่อน

 

 

ปรัชญาข้อที่ 6

 

สมมติว่าเรากำลังจะไปสอบวิชาที่สำคัญที่สุด ใจเรานั่งอยู่ในห้องพร้อมสอบแล้ว แต่เรื่องจริงคือเรากำลังติดอยู่บนทางด่วนที่รถไม่ขยับเลยมาเป็นชั่วโมง สุดท้ายก็ไปถึงห้องสอบเลทครึ่งชั่วโมง ทำให้ทำข้อสอบไม่ทัน และความเศร้าเสียใจก็ได้ครอบงำตัวเรา พร้อมกับความคิดว่า รู้อย่างนี้น่าจะมาทางอื่น ตื่นเช้ากว่านี้ หรือไม่ก็ลงเดินเท้า และความคิดอีกมากมายที่จะทำให้เสียใจมากขึ้น อยากให้เลิกเศร้า แล้วปล่อยมันไปเถอะ

 

ผิดพลาดเพื่อได้ทำบางอย่างให้สำเร็จ

เหตุการณ์ไหนที่เรากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว ก็ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยมันไป และจดจำความผิดพลาดในเหตุการณ์นั้น นำมาเป็นบทเรียนเพื่อที่จะให้ตัวเองไม่ทำพลาดซ้ำสอง ใจความสำคัญของเรื่องนี้คือ อยากให้รู้จักปล่อยวางและรู้จักการให้อภัยตัวเอง อย่างเหตุการณ์ที่เราไปสอบไม่ทัน ก็ทำให้ได้บทเรียนว่า เราต้องยกโทษให้ตัวเองที่ทำพลาด การไปสอบไม่ทันไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนไม่ได้เรื่อง แต่ควรคิดว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้ในครั้งหน้า ในสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว ก็ไม่ควรเก็บเอามาคิดให้ใจช้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

 

แหล่งข้อมูล
หนังสือ The Subtle Art of Not Giving a Fuck เขียนโดย Mark Manson. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 จาก https://issuu.com/
 

 
เรื่อง: วัลญา นิ่มนวลศรี
ภาพ: แอมเบียน
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow