Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เลี้ยงลูกอย่างไร ในวันที่พ่อแม่ต้องแยกทาง

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 09 ก.ค. 61
4,639 Views

  Favorite

เรื่องของชีวิตคู่ อาจไม่ใช่แค่เรื่องของคน 2 คนอีกต่อไป เมื่อมี “ลูก” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเมื่อชีวิตคู่มีปัญหา การแยกทางกันอาจเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับพ่อและแม่ แต่สำหรับลูกนั้นปัญหาทุกอย่างกำลังเริ่มต้น

 

ลูกจะต้องรับมือกับสภาพครอบครัวที่เปลี่ยนไป สภาพอารมณ์ที่หวั่นไหวในวันที่ไม่มีพ่อและแม่อยู่ด้วยเหมือนเดิม ดังนั้นพ่อแม่ต้องมีความเข้าใจและช่วยกันประคับประคองจิตใจลูกให้ผ่านพ้นจากสถานการณ์นี้ไปได้ให้เร็วที่สุด วันนี้แม่แหม่มมีวิธีดี ๆ ในการรับมือกับสถานการณ์นี้มาฝากกันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. สถานการณ์เปลี่ยนไปแต่ “ความรัก” ยังคงอยู่

ไม่ว่าสถานภาพชีวิตคู่จะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่คุณทั้งคู่จงจำไว้ว่าคุณคือ “พ่อและแม่” ของเด็กที่น่ารักคนหนึ่ง พ่อและแม่จะต้องพยายามประคองอารมณ์ของตนเองเมื่ออยู่กับลูก ถึงแม้ไม่มีความรักเหลือต่อกันแล้ว แต่จงแสดงความเอื้ออาทรและหวังดีต่อกัน เพราะลูกจะรับรู้และสัมผัสถึงความรู้สึกเหล่านั้น

เมื่อลูกได้รับรู้ถึงความรักและความอบอุ่นอย่างเต็มที่แล้ว เขาจะไม่รู้สึกว่ามีคนใดคนหนึ่งกำลังหายไปจาก หรือมีปัญหากำลังเกิดขึ้น เพราะพ่อและแม่ได้ช่วยกันเติมความรักให้เต็มดวงใจน้อย ๆ ของลูกแล้ว ลูกจะค่อย ๆ เติบโตขึ้นด้วยสภาพจิตใจที่เข้มแข็งและมั่นคง ซึ่งเมื่อถึงเวลาลูกจะค่อย ๆ ทำความเข้าใจ และรับรู้ได้ถึงเหตุผลของพ่อและแม่

2. ให้ “ความรัก” แต่อย่า “สงสาร”

เมื่อพ่อแม่แยกทางกัน คงหลีกเลี่ยงใม่ได้ที่ลูกมักจะถูกมองว่าเป็นเด็กบ้านแตก น่าสงสาร พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อาจจะพากันทุ่มเทให้ความรักกันอย่างเต็มที่ เพื่อชดเชยและคิดว่าจะช่วยเยียวยาจิตใจของลูกได้ แต่จริง ๆ แล้ววิธีนี้เป็นวิธีการที่ผิดและไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ในทางกลับกันอาจจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาเพิ่มขึ้น เด็กบางคนกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ และเรียกร้องความสนใจตลอดเวลา เพราะคิดว่าตัวเองคือ "ศูนย์กลาง"  ที่ใคร ๆ ก็ต้องยอม

ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดก็คือ อย่าให้ในสิ่งที่ลูกไม่ได้รู้สึก “ขาด” เพราะมันจะกลายเป็น “ล้นจนลูกไม่รู้จักความพอดี สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก็คือ การให้ความรักความอบอุ่นเหมือนเดิมอย่างที่ผ่านมา ไม่ว่าลูกจะอยู่กับใครก็ตาม แรก ๆ ลูกอาจจะมีปฏิกิริยาแปลก ๆ หรือแสดงความไม่พอใจอยู่บ้าง แต่ถ้าพ่อแม่เข้าใจ นิ่ง และปฏิบัติต่อเขาเหมือนเดิม ลูกก็จะค่อย ๆ เข้าใจและรู้ได้ว่าเขายังคงเป็นที่รักของพ่อและแม่ไม่เคยเปลี่ยน

3. อย่าแบ่งฝ่าย

สร้างกฎระเบียบที่ตกลงร่วมกัน พ่อแม่อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าเมื่อไปอยู่ที่บ้านไหนแล้วถูกตามใจมากกว่า หรือบ้านไหนให้อภิสิทธิเขามากกว่า เพราะจะส่งผลเสียโดยตรงให้กับลูก เมื่อก่อนเคยมีกฎอย่างไร พ่อและแม่ก็ควรทำความเข้าใจร่วมกันและยึดกฎนั้นเหมือนเดิม และที่สำคัญควรเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตนเอง เช่น พ่อไปโรงเรียนลูกในวันพ่อ และยังได้ใช้เวลาร่วมกันกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่พูดถึงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในเรื่องที่ไม่ดีให้ลูกฟัง เพราะเหตุผลหลักของการเลิกกัน คือเหตุผลของผู้ใหญ่ จงจำไว้ว่า “อย่าสร้างปัญหาที่มีเพิ่มขึ้นในใจลูก แต่จงเติมเต็มจิตใจลูก ด้วยความรักและความเข้าใจ”

 

เพราะลูก คือ ตัวแทนของความรักและความทรงจำที่ดีของพ่อและแม่ ไม่ว่าพ่อแม่จะอยู่ที่ไหน “ลูก” จะยังคงเป็น “จุดศูนย์กลาง” ของพ่อและแม่เสมอ และไม่ว่าความรักของพ่อและแม่จะเปลี่ยนไปอย่างไร ขอให้ลูกจำไว้ว่า “ความรัก” ที่พ่อและแม่มีให้ลูกจะยังคง “เหมือนเดิม”

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow