Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความแตกต่างของสภาพอากาศ (Weather) และภูมิอากาศ (Climate)

Posted By Amki Green | 20 ก.ค. 61
75,538 Views

  Favorite

หลายคนอาจจะแยกไม่ออกว่า สภาพอากาศ (Weather) และภูมิอากาศ (Climate) แตกต่างกันอย่างไร ในเมื่อสภาพอากาศเราก็รู้แค่ฝนตก หนาว หรือร้อน แต่จริง ๆ แล้วสองคำนี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนะ เรามาดูความแตกต่างกันเลยดีกว่า              
 

 

หากเราดูพยากรณ์อากาศ เราจะเห็นนักข่าวพยากรณ์สภาพอากาศของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งสภาพอากาศ (Weather) จะเกี่ยวกับการอธิบายสภาพอากาศโดยทั่วไปที่เกิดขึ้นบริเวณใดบริเวณหนึ่งและเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เช่น อุณหภูมิ ฝน ลม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความเปลี่ยนแปลงไปตามวัน เวลา และสถานที่ และอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นนาทีต่อนาทีเลยก็ว่าได้ เช่น แต่ละภาคของประเทศไทยนั้นก็มีลักษณะสภาพอากาศที่แตกต่างกัน อุณหภูมิที่ต่างกัน และปริมาณฝนที่ไม่เท่ากัน เช่น สภาพอากาศในกรุงเทพมหานครวันนี้ มีอุณหภูมิเฉลี่ย 30 องศาเซลเซียส

 

ส่วนภูมิอากาศ (Climate) จะพูดถึงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นเป็นประจำต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากเท่าใดนัก เช่น ภูมิอากาศแบบขั้วโลก ลักษณะจะเป็นแบบอากาศหนาวเย็น หรือประเทศไทยมีภูมิอากาศแบบลมมรสุมเขตร้อน จะมีลักษณะฝนตกตลอดทั้งปีสลับกับร้อนแล้ง ซึ่งการเกิดภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่จะเกี่ยวข้องปัจจัยต่าง ๆ บนโลกที่ทำให้เกิดลักษณะภูมิอากาศในแต่ละที่ที่มีความต่างกัน

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดเขตลักษณะภูมิอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

1. ระดับละติจูด

การที่แกนโลกของเราเอียง 23.5 องศานั้น ทำให้ตำแหน่งละติจูดต่าง ๆ ของโลกได้รับแสงอาทิตย์ที่ต่างกัน ที่ตั้งละติจูดจะเป็นตัวกำหนดอุณหภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่
- เขตละติจูดต่ำ ได้แก่ บริเวณเส้นศูนย์สูตร 0-30 องศาเหนือและองศาใต้ จะมีอุณหภูมิสูง เพราะได้รับอิทธิพลจากแสงอาทิตย์มากที่สุด ส่งผลให้บริเวณนี้จะมีฤดูกาลเพียง 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน
- เขตละติจูดกลาง ได้แก่ บริเวณละติจูด 30-60 องศาเหนือและองศาใต้ จะมีเขตอากาศอบอุ่น เนื่องจากได้รับแสงอาทิตย์ปานกลาง ทำให้บริเวณโซนนี้จะมีฤดูกาล 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว
- เขตละติจูดสูง ได้แก่ บริเวณละติจูด 60 องศาเหนือและองศาใต้เป็นต้นไป ซึ่งก็คือบริเวณขั้วโลก มีอุณหภูมิต่ำ อากาศหนาวเย็น

 

2. ความใกล้/ไกลทะเล

พื้นที่บริเวณที่อยู่ใกล้ทะเลจะได้รับความชุ่มชื้นอย่างมาก เพราะมีการระเหยของน้ำทำให้เกิดฝนตก แต่บริเวณพื้นที่ในประเทศซึ่งอยู่ห่างไกลจากทะเล จะได้รับความชุ่มชื้นน้อย ทำให้เป็นพื้นที่แห้งแล้งเป็นทะเลทราย ยกตัวอย่างเช่น ทวีปออสเตรเลีย บริเวณที่อยู่ใกล้ทะเลจะมีฝนตกชุก ส่วนบริเวณตอนในทวีปส่วนใหญ่จะเป็นทะเลทราย เพราะได้รับความชื้นน้อย

 

3. ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลของแต่ละพื้นที่

บริเวณที่เป็นเทือกเขา ลักษณะอากาศจะมีความกดอากาศสูง อากาศหนาวเย็น ยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไรอุณหภูมิก็จะยิ่งลดลงตามไปด้วย เช่น ดอยอินทนนท์ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย อุณหภูมิที่วัดได้จะต่ำกว่าภาคพื้นดิน

 

4. กระแสน้ำในมหาสมุทร

กระแสน้ำในมหาสมุทรนั้น ประกอบไปด้วย กระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็น ซึ่งกระแสน้ำแต่ละกระแสเมื่อไหลผ่านในแต่ละพื้นที่ จะทำให้ลักษณะภูมิอากาศแต่ละเขตแตกต่างกันไป กระแสน้ำในมหาสมุทรหากเป็นกระแสน้ำเย็น จุดกำเนิดจะไหลมาจากขั้วโลก จากเขตละติจูดสูงไปยังละติจุดต่ำ ส่วนกระแสน้ำอุ่น จุดกำเนิดจะไหลมาจากเส้นศูนย์สูตร จากละติจูดต่ำยังละติจูดสูง ซึ่งกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นจะส่งผลต่อพื้นที่ต่าง ๆ บนโลก ดังนี้

-  กระแสน้ำอุ่น หากไหลผ่านไปยังพื้นที่ที่อยู่ในละติจูดสูง ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น กระแสน้ำอุ่นจะทำให้บริเวณนั้นมีอากาศที่ไม่หนาวเย็นมากนัก มีความอบอุ่น เช่น กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตีมที่ไหลผ่านบริเวณทวีปอเมริกาเหนือ ทำให้ฤดูหนาวอากาศไม่หนาวมากนัก แต่หากไหลผ่านละติจูดต่ำ กระแสน้ำอุ่นจะนำพาความชุ่มชื้นไปยังบริเวณนั้น ๆ ส่งผลให้มีการระเหยของน้ำไปยังอากาศ และก่อให้เกิดฝนตกชุกตามมา

- กระแสน้ำเย็น จะส่งผลให้บริเวณที่ไหลผ่านมีความแห้งแล้ง หนาวเย็น หากไหลผ่านละติจูดสูงก็จะทำให้บริเวณนั้นมีความหนาวเย็นมากยิ่งขึ้น และหากไหลผ่านละติจูดกลางหรือต่ำ กระแสน้ำเย็นจะนำพาความแห้งแล้งไปสู่บริเวณดังกล่าว ทำให้บริเวณนั้นแห้งแล้งมาก ยกตัวอย่างเช่น กระแสน้ำเย็นแคลิฟอร์เนียที่ไหลผ่านทางด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ ส่งผลให้บริเวณนั้นมีอากาศแห้ง และเกิดไฟป่าบ่อยครั้ง

 

5. ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศก็มีส่วนที่ทำให้พื้นที่นั้นมีอากาศที่ต่างกัน เช่น หากมีแนวเทือกเขากั้น บริเวณที่อยู่หน้าเขาก็จะมีฝนตกชุก แต่บริเวณที่อยู่หลังเขาจะแห้งแล้งเพราะแนวเทือกเขากั้นความชื้นให้ฝนไปตกหน้าเขาหมด ตัวอย่างเช่น จังหวัดกาญจนบุรี หากใครเคยได้ไปเที่ยวจะสังเกตได้ว่ามีอากาศร้อนอบอ้าวอย่างมาก เป็นเพราะจังหวัดนี้มีเทือกเขากั้นความชื้น ขวางทางลม ทำให้บริเวณหลังเขาไม่ได้รับความชุ่มชื้นมากเท่าไรนักนั่นเอง

 

6. ทิศทางของลมประจำถิ่น เช่น

- ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะพัดผ่านประเทศไทยในช่วงฤดูฝน โดยหอบนำความชุ่มชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามายังแผ่นดิน ทำให้ฝนตก
- ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะพัดความหนาวเย็นและแห้งแล้งมาจากจีนในฤดูหนาว ทำให้บริเวณตอนเหนือของประเทศไทยมีอากาศหนาว

 

7. อิทธิพลของพายุหมุน

ในแต่ละพื้นที่ของโลกนั้นมีประเภทของพายุ แตกต่างกันไป ซึ่งความเร็วความแรงของลมพายุจะมีความแตกต่างกัน หากประเทศที่อยู่ติดกับทะเล ใกล้กับศูนย์กลางการเกิดพายุมาก ก็จะทำให้ได้รับอิทธิพลของพายุและฝนตกชุก ซึ่งระดับความเร็วลมแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ดีเปรสชัน โซนร้อน และไต้ฝุ่น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศฟิลิปปินส์จะได้รับอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นเป็นประจำเพราะอยู่ใกล้กับศูนย์กลางของการเกิดพายุ นั่นก็คือ บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกนั่นเอง ขณะที่ประเทศไทยเรานั้นจะได้รับอิทธิพลของพายุดีเปรสชันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นพายุที่อ่อนกำลังลงแล้ว เนื่องจากกว่าที่พายุจะเดินทางมาถึงประเทศไทย ลมก็อ่อนกำลังลงแล้ว

 

หวังว่าวันนี้ผู้อ่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศ (Weather) และภูมิอากาศ (Climate) และเข้าใจปัจจัยที่ทำให้เกิดภูมิอากาศบนโลกของเรา ที่ส่งผลให้อากาศบนโลกแตกต่างกันในแต่ละประเทศไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ สวัสดีค่ะ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow