Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

‘ปีนต้นไม้’ เล่นอย่างไร ให้ได้ประโยชน์ 10 ประการ

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 22 มิ.ย. 61
8,048 Views

  Favorite

เมื่อสัปดาห์ก่อน ครูพิมมีโอกาสไปชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง CHILDHOOD โรงเรียนริมป่า มาค่ะ

 

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในรั้วโรงเรียนอนุบาลออโรรา ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีแนวการเรียนการสอนแบบวอร์ลดอร์ฟ เน้นการใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ฤดูกาล และการเล่นอิสระ

“การปีนต้นไม้” ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่โรงเรียนที่มีแนวทางการศึกษาแบบนี้นิยมให้เด็ก ๆ ได้ลองทำ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ดูมีความเสี่ยง แต่หากพิจารณาจากประโยชน์ของการเล่นแบบนี้ และมีการเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก ๆ ครูพิมคิดว่า ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยนะคะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

ประโยชน์ 10 ประการ ของการเล่นปีนต้นไม้

1. การเล่นปีนต้นไม้ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย จากการทรงตัว การโหน การจับ และการปีนป่าย

2. การเล่นปีนต้นไม้ ช่วยให้เด็กรู้จักการวางแผนอย่างง่าย เช่น จะปีนจากบริเวณลำต้น ไปยังกิ่งไม้ ควรจะต้องปีนจากจุดใด ไปจุดใด และปีนอย่างไรให้ไปถึงจุดที่ตั้งใจไว้

3. การเล่นปีนต้นไม้ ช่วยเพิ่มสมาธิให้กับเด็กได้ การปีนต้นไม้มีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บได้ในทุกขณะ เด็ก ๆ เองก็ทราบถึงข้อควรระวังนี้ค่ะ ในขณะที่เขาเล่น พวกเขาจึงจำเป็นที่จะต้องตั้งสมาธิให้ดี และจดจ่ออยู่กับร่างกายของตน จนเกิดเป็นสมาธิโดยธรรมชาติ

4. การเล่นปีนต้นไม้ เป็นการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor) ได้แทบทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งแตกต่างจากกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดด ที่อาจจะเน้นกล้ามเนื้อเพียงบางส่วน เช่น ขา ทำให้เด็ก ๆ ไม่ได้ใช้ศักยภาพของร่างกายเท่าที่ควร

5. การเล่นปีนต้นไม้ ช่วยให้เด็ก ๆ รู้จักใช้ความอดทนและพยายาม หลาย ๆ ครั้ง เราจะเห็นเด็กบางคน ปีนแล้ว ปีนอีก โหนแล้ว โหนอีก เพื่อที่จะไปยังจุดที่ต้องการ หรืออาจจะท้าทายตัวเองให้ปีนสูงขึ้น ๆ ซึ่งสำหรับเด็ก ๆ นั้น การเล่นเช่นนี้นับว่าเด็ก ๆ ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ทั้งเพื่อให้ได้ความสนุกและเพื่อความสำเร็จจากการไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้

6. การเล่นปีนต้นไม้ ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาสมอง เนื่องจากการเล่นแบบอิสระนี้ ถือเป็นการพบประสบการณ์ใหม่ ๆ และในทุก ๆ ครั้งที่ปีนต้นไม้ เด็ก ๆ มักจะได้ประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ว่าจะในแง่ของผิวสัมผัส ความยากง่ายของแต่ละจุดที่ปีน สิ่งที่ได้มองเห็น หรือการรับรู้อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเล่น ซึ่งความใหม่ของประสบการณ์แต่ละครั้งที่ได้รับ จะช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทให้มีการแตกแขนงและเชื่อมโยงกันมากขึ้น

7. การเล่นปีนป่าย ช่วยให้เด็กเป็นนักแก้ปัญหาที่ดีขึ้นได้ เพราะแต่ละบริเวณของต้นไม้แต่ละต้น มีส่วนยากง่ายแตกต่างกัน และมีปัญหาต่าง ๆ ให้เด็กได้แก้ ทั้งใบไม้ที่อาจจะมากเกินไป กิ่งไม้ที่ห่างกันเกินไป หรือบางกิ่งที่อาจจะเปราะเกินกว่าจะปีนขึ้นไปได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จะทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามไปด้วยตนเอง

8. การเล่นปีนต้นไม้ ช่วยให้เด็กได้สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติ เมื่อต้นไม้คือของเล่น ของเล่นคือต้นไม้ เด็กจะรู้สึกถึงความผูกพันและการมีส่วนร่วมกับธรรมชาติได้อย่างง่ายดาย เพราะไม่เพียงแค่เห็นถึงความสวยงามของธรรมชาติเท่านั้น แต่การ “คลุกคลี” อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะช่วยสร้างความผูกพันและจิตสำนึกในการรักธรรมชาติได้อย่างน่าอัศจรรย์เลยทีเดียวค่ะ

9. การเล่นปีนต้นไม้ ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเอง ถ้าคุณเคยสังเกตเห็นเด็ก ๆ ที่เล่นคนเดียวได้อย่างสนุกสนานเป็นเวลานาน ๆ กับของเล่นจากธรรมชาติเหล่านี้ ครูพิมเชื่อเลยว่า คุณอาจจะอึ้งจนเกิดความสงสัยว่า ทำไมเด็ก ๆ พวกนี้ถึงได้ใช้เวลากับอะไรนาน ๆ ได้ขนาดนี้ ในโลกที่คนส่วนใหญ่เริ่มที่จะไม่สามารถอยู่กับตัวเองได้นานเกิน 5 นาทีโดยไม่มีเครื่องมือสื่อสารหรืออุปกรณ์สร้างความบันเทิง

10. การเล่นปีนต้นไม้ คือการใช้ของเล่นราคาถูกแต่มีคุณค่าสูง

 

Roald Dahl นักเขียนหนังสือสำหรับเด็ก กล่าวว่า “ยิ่งคุณอนุญาตให้เด็ก ๆ เล่นแบบเสี่ยง ๆ ได้มากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยิ่งรู้จักดูแลตัวเองได้มากขึ้นเท่านั้น” ครูพิมเห็นด้วยกับประโยคนี้เลยค่ะ แต่แน่นอนว่า ในบริบทของความเสี่ยงนั้น การบริการจัดการความเสี่ยง และการให้ความรู้ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นเช่นกัน ในบทความต่อไป ครูพิมจะมาพูดถึงวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง (ในการปีนต้นไม้) เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความสบายใจกันมากขึ้นนะคะ ฝากติดตามกันด้วยค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow