Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้จัก IPD ภัยร้ายในเด็ก ... ป้องกันไว้ดีกว่า

Posted By Plook Parenting | 06 มิ.ย. 61
2,646 Views

  Favorite

โรคติดเชื้อไอพีดี (IPD) หรือ "Invasive Pneumococcal Disease" เป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่รุนแรง โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโต-คอคคัส นิวโมเนียอี หรือเรียกสั้น ๆ ว่านิวโมคอคคัส และโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ แต่จะพบบ่อยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี

 

เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ ไอพีดีเป็นโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในหลาย ๆ ระบบของร่างกาย โดยมีลักษณะการติดเชื้อและแสดงอาการในระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อ

     • การติดเชื้อในระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง หากเกิดกับเด็กทารกจะวินิจฉัยได้ยาก อาจมีอาการงอแง ซึม ไม่กินนม และชัก หากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเสียชีวิตหรือพิการ หูหนวก ปัญญาอ่อน

     • การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง ร้องกวน งอแง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ช็อก เสียชีวิต นอกจากนี้เชื้ออาจกระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ปอด กระดูกและข้อ

     • การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หูน้ำหนวก เด็กจะมีอาการไข้สูง บ่นปวดหู งอแง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง การติดเชื้ออาจลุกลามไปที่อวัยวะข้างเคียงหรือสมองได้ และสามารถเกิดหูน้ำหนวกเรื้อรัง แก้วหูทะลุ การได้ยินบกพร่อง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการด้านภาษาของเด็กอีกด้วย

     • การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอดอักเสบ เด็กจะมีอาการไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตได้ถ้าได้รับการรักษาล่าช้า

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการป้องกัน

1. คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้เบื้องต้นโดยการพาลูกไปรับวัคซีนไอพีดี ในเด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป จนถึง 5 ปี

2. หลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในที่ชุมชนหรือสถานที่มีคนแออัดโดยไม่จำเป็น เพราะเชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย โดยการไอ จาม ละอองเสมหะ ซึ่งเป็นการแพร่กระจายในลักษณะเดียวกับโรคหวัด ฉะนั้นเด็กเล็กที่ไม่มีภูมิต้านทานก็จะติดเชื้อได้ง่าย

3. เมื่อเด็กเป็นไข้หรือเป็นหวัดควรให้เด็กหยุดเรียน สวมหน้ากากอนามัย หรือปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

4. สอนให้ลูกรู้จักสุขอนามัยที่ดี เช่น การใช้ช้อนกลางเวลากินอาหาร  หมั่นล้างมือบ่อย ๆ  ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นไข้หวัดหรือป่วย

5. ระวังอย่าให้คนอื่น ๆ เข้ามากอดหอมเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะอาจได้รับเชื้อจากพาหะที่มาจากผู้ใหญ่ ซึ่งเชื้อจะมาจากการหอมแก้มหรือการเข้าใกล้เด็ก เพราะในโพรงจมูกของผู้ใหญ่นั้นอาจจะมีเชื้อนิวโมคอคคัสอยู่ ซึ่งไม่ส่งผลกับผู้ใหญ่เพราะเชื้อเป็นแค่พาหะ

6. ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างต่อเนื่องไปนาน ๆ เพราะมีภูมิต้านทานโรค และกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ในแต่ละวัน

 

คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักสังเกตอาการของลูกเวลาเจ็บป่วย หากเห็นอาการผิดปกติ เช่น เด็กงอแงมาก เวลามีไข้จะมีอาการร่วม เช่น ชัก อาเจียนหรือมีอาการซึม ควรรีบพาไปพบแพทย์ ซึ่งจะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow