Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รวมโรคเกี่ยวกับ 'ระบบทางเดินหายใจ' ที่พบบ่อยในเด็กเล็ก

Posted By Plook Parenting | 06 มิ.ย. 61
14,160 Views

  Favorite

โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ พบได้ในคนทุกวัย แต่อาจพบมากในเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงมีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย

 

เนื่องจากเด็กเป็นวัยแห่งการเสริมสร้างพัฒนาการและภูมิต้านทานต่าง ๆ จึงทำให้ไวต่อการได้รับเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย จนอาจส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่ายกว่าวัยอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากลูกน้อยไม่สบายในอนาคต

 

ภาพ : Shutterstock

 

>> โรคไมโคพลาสมา <<

ไมโคพลาสมา คือ โรคระบาดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียขนาดเล็ก เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำลายระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้เกิดอาการไอ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ และปอดบวมได้ สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ช่วย ได้รับละอองไอจาม รวมทั้งการไปอยู่ในที่ที่คนพลุกพล่าน แออัด ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

ติดตามสาเหตุ ลักษณะอาการ และวิธีการรักษาได้ที่นี่ ไมโคพลาสมา…โรคระบาด ทำลายระบบทางเดินหายใจ

 

>> ไซนัสอักเสบ <<

ไซนัสอักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยไม่ว่าจะในเด็กหรือผู้ใหญ่ เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุไซนัสมากกว่า 1 จุดขึ้นไป โดยมีปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการอักเสบมากมาย อาทิ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก จมูกอุดตัน ผนังกั้นจมูกคด และเป็นหวัด เป็นต้น ซึ่งอาการของโรคไซนัสอักเสบในเด็กและผู้ใหญ่จะมีลักษณะต่างกัน โดยอาการของเด็กมักสังเกตได้จากความผิดปกติต่าง ๆ ดังนี้

ติดตามสาเหตุ ลักษณะอาการ และวิธีการรักษาได้ที่นี่ ไซนัสอักเสบในเด็ก

 

>> โรคไอกรน <<

โรคไอกรน (Pertussis) คือโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก คอ และท่อลม) ติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการไออย่างรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุไม่เกิน 7 ปี เสียงการไอของโรคนี้จะแตกต่างไปจากการไออื่น ๆ โดยมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Whooping Cough คือ เป็นเสียงไอลึก ๆ สลับกับการไอเป็นชุด เนื่องจากผู้ป่วยหายใจไม่ทันหลังการไอ

โรคไอกรน เป็นโรคที่ติดต่อกันง่าย โดยเชื้อโรคจะแพร่กระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก และน้ำลายของผู้ป่วย หากเกิดขึ้นในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กยังมีภูมิต้านทานไม่แข็งแรงพอจึงรับเชื้อโรคไอกรนได้ง่าย ในเด็กทารก อาจจะไม่มีอาการไอ แต่มีหยุดหายใจและเขียว ซึ่งอาจะทำให้เสียชีวิตได้

ติดตามสาเหตุ ลักษณะอาการ และวิธีการรักษาได้ที่นี่ โรคไอกรน (Pertussis) ในเด็กเล็ก

 

>> ไข้หวัดใหญ่ <<

โรคไข้หวัดใหญ่ คือ โรคที่ติดต่อกันได้ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ เมื่อมีการไอ จาม เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายผ่านการสูดหายใจเข้าไป หรือในบางครั้งการจับสิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย สามารถทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน

ติดตามสาเหตุ ลักษณะอาการ และวิธีการรักษาได้ที่นี่ ไข้หวัดใหญ่ ... ภัยร้ายใกล้ตัว

 

>> โรคภูมิแพ้ <<

โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่ภูมิในร่างกายมีปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งแวดล้อมบางอย่างไวกว่าคนปกติ ส่งผลให้เกิดอาการแสดงได้ในหลายระบบของร่างกาย เช่น ทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร 

โรคภูมิแพ้จัดเป็นกลุ่มอาการที่เกิดกับเด็กในอันดับต้น ๆ ที่พบบ่อยคือ การแพ้อาหารบางอย่าง เช่น นมวัว  ไข่ ถั่วเหลือง อาหารทะเล และแป้งสาลี อาการแพ้แสดงออกได้หลายลักษณะ ทางระบบผิวหนังได้แก่ ผื่นคัน ผื่นลมพิษ

ติดตามสาเหตุ ลักษณะอาการ และวิธีการรักษาได้ที่นี่ ป้องกันลูกอย่างไรไม่ให้เป็นภูมิแพ้

 

>> โรคจากไวรัสอาร์เอสวี (RSV) <<

เชื้อไวรัส RSV ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก พบมากและเจริญเติบโตได้ดีในช่วงที่มีอากาศชื้นโดยเฉพาะหน้าฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน ไวรัส RSV ติดต่อกันได้ง่ายเพียงการสัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งทางตาหรือจมูกและทางลมหายใจ

ดังนั้นในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นหวัดจึงเสี่ยงต่อการรับและแพร่กระจายเชื้อไวรัสนี้มาก เด็กเล็กสามารถรับเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว โดยเชื้อไวรัส RSV มีระยะฟักตัวประมาณ 2 – 6 วัน  และทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมรับมือให้ดี และสังเกตอาการของลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากอาการเบื้องต้นจะคล้ายกับหวัดธรรมดา แต่ก็มีส่วนที่พอจะสังเกตได้ คือ เด็กที่เป็นหวัดธรรมดาจะมีอาการไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล กินน้ำ กินนมได้ อาจกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วย ซึ่งจะหายได้ใน 5-7 วัน

ติดตามสาเหตุ ลักษณะอาการ และวิธีการรักษาได้ที่นี่ อาร์เอสวี (RSV) ไวรัสร้ายในเด็กเล็ก

 

>> โรคปอดบวม <<

โรคปอดบวมในเด็กเล็ก คือการอักเสบติดเชื้อของเนื้อปอด หลอดลมและถุงลม ทำให้ความสามารถในการทำงานของทางเดินหายใจลดลง บางครั้งอาจทำให้เด็กพิการและเสียชีวิตได้ โรคปอดบวมเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ไมโครพาสมา เชื้อชนิดอื่น เช่น เชื้อรา สารเคมีเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือ เชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี ทั้งการสูดหายใจ การสัมผัสละอองของน้ำมูกน้ำลายจากผู้ที่มีเชื้อ และโรคนี้มักพบบ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี

 

>> โรคติดเชื้อไอพีดี (IPD) <<

โรคติดเชื้อไอพีดี (IPD) หรือ "Invasive Pneumococcal Disease" เป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่รุนแรง โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโต-คอคคัส นิวโมเนียอี หรือเรียกสั้น ๆ ว่านิวโมคอคคัส และโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ แต่จะพบบ่อยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ ไอพีดีเป็นโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในหลาย ๆ ระบบของร่างกาย โดยมีลักษณะการติดเชื้อและแสดงอาการในระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อ

 

>> โรคหลอดลมอักเสบ <<

โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อบริเวณหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมอักเสบ ส่งผลให้เยื่อบุหลอดลมบวมและมีเสมหะอุดหลอดลม ลูกน้อยจึงมีอาการไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก และหอมเหนื่อย

แม้โรคหลอดลมอักเสบ จะไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรง แต่ก็เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กส่วนมากมักเป็นโรคนี้หลังจากเป็นไข้หวัดเป็นเวลานาน หากลูกน้อยไม่ได้รับการดูแลหรือรักษาอย่างถูกต้อง โรคหลอดลมอักเสบอาจลุกลามกลายเป็นโรคปอดอักเสบที่มีอาการรุนแรงกว่าได้

 

 

เพราะสุขภาพที่ดี คือใบเบิกทางที่สำคัญในการเรียนรู้โลกกว้างของลูก หากคุณพ่อคุณแม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจเหล่านี้แล้ว ก็สามารถรับมือและหาวิธีการป้องกันให้ลูกน้อยห่างไกลจากโรคเหล่านี้ได้ เพื่อให้เขาเรียนรู้โลกใหม่ได้อย่างสดใสและแข็งแรง

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow