Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ถอดรหัสเทคนิคช้อปออนไลน์ยังไง ให้ปลอดภัยจากเทศกาล Sale

Posted By Lailababa | 18 เม.ย. 61
3,778 Views

  Favorite

อย่าปล่อยให้ความระแวงมาทำให้คุณพลาดมหกรรมลดราคาสินค้าช่วง Sale เป็นอันขาด เพราะมันเป็นโค้งสุดท้ายที่ช่วยคุณเติมเต็ม Wish List ของคุณได้ในราคาประหยัด หากคุณเป็นนักช้อปออนไลน์หน้าใหม่ที่เข้าไปเล็ง ๆ สินค้าจากหลาย ๆ เว็บไซต์ แต่ก็ยังลังเลเพราะกลัวโดนหลอกบ้างละ กลัวความยุ่งยากในการจ่ายเงินบ้างละ 3 โหมดรักษาความปลอดภัยเหล่านี้คงช่วยคุณซื้อความกล้าได้ไม่ยาก

คำเตือนจาก สคบ.

สคบ. คือหน่วยงานช่วยเหลือผู้บริโภค มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หากเป็นเมื่อก่อนคงดูแลในส่วนของการซื้อ-ขายหน้าฉากเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันการช้อปปิ้งในรูปแบบออนไลน์กำลังมาแรงควบคู่ไปกับการโดนหลอกด้วยเช่นกัน แถมส่วนใหญ่มักไม่มีหลักฐานเอาผิดผู้ค้ามากพอ หรือที่ร้ายแรงกว่านั้นคือตามหาผู้ค้าไม่เจอ ทำให้ยังมีอีกหลายคดีที่ปิดไม่ลง ส่งผลให้ทางหน่วยงานออกมาเตือนผู้บริโภคที่เตรียมตัวจะช้อปกับช่วง Sale มหกรรมลดราคาด้วย 5เทคนิคช้อปอย่างไรให้ไม่โดนหลอก ดังนี้

  • ตรวจสอบข้อมูลเว็บไซต์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าออนไลน์ หากเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ได้มาตรฐานจริงย่อมผ่านการขึ้นทะเบียน และมีข้อมูลให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้ แม้หน้าเพจของเว็บไซต์นั้น ๆ จะโชว์สัญลักษณ์ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไว้แล้วก็ไม่ควรเชื่อ เพราะมันอาจเป็นของปลอมได้เช่นกัน แนะนำให้เข้าไปที่ https://dawhois.com/ หรือ https://www.thnic.co.th/th/whois/ สองเว็บไซต์นี้จะให้ข้อมูลที่ละเอียดได้มากกว่า
  • เลือกช้อปกับร้านค้าที่มีการรีวิวเยอะ ๆ ควรย้อนดูวันที่รีวิวด้วยว่ามีสม่ำเสมอไหม และผู้รีวิวเป็นคนเดิมหรือเปล่า ทางที่ดีควรเป็นเว็บไซต์ที่มีการรีวิวต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี ขึ้นไป เพื่อยืนยันการอัพเดตของร้านค้านั้น ๆ
  • ตรวจสอบการตอบคำถามระหว่างร้านค้า และผู้ซื้อ หากเว็บนั้น ๆ ไม่ใส่ใจกับการตอบคำถามลูกค้า ให้ตั้งแง่สงสัยไว้ก่อนเลย เพราะตามวิสัยของพ่อค้า-แม่ขายทั้งหลายย่อมต้องใส่ใจลูกค้า พร้อมพยายามโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าผิดกฎหมาย เพราะเป็นหมวดหมู่ที่ถูกหลอกง่ายที่สุด แถมผู้บริโภคยังไม่สามารถไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด ๆ ได้อีกด้วย คล้าย ๆ กับคุณลงเรือลำเดียวกับผู้ค้านั่นแหละ ถ้าเขาโดนจับคุณก็จบเช่นกัน

ตรวจสอบเงื่อนไขการรับประกัน และบริการหลังการขาย

ส่วนใหญ่ผู้บริโภคที่ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มักจะโดนหลอกให้ซื้อเครื่องหิ้วเข้ามาจากต่างประเทศ พอซื้อไปแล้วตัวเครื่องทำงานขัดข้องก็จะไม่สามารถส่งซ่อมกับศูนย์บริการภายในประเทศได้ ถ้าไม่อยากโดนหลอกแนะนำให้ขอหมายเลข Serial เครื่องมาตรวจสอบก่อนตัดสินใจซื้อ หากสอบถามกับเว็บไซต์แล้วได้รับคำยืนยันกลับมาเพียงอย่างเดียว คุณต้องเก็บหลักฐานการโต้ตอบเอาไว้ จากนั้นรีบนำหมายเลข Serial ข้างกล่องไปเช็คกับศูนย์บริการของแบรนด์นั้น ๆ ทันทีที่ตัวเครื่องมาถึง หากโดนหลอกจริง ๆ จะได้ฟ้องร้องได้ทันท่วงที

สำหรับเงื่อนไขการคืนสินค้า และการบริการหลังการขายอื่น ๆ เว็บไซต์ที่ได้รับมาตรฐานมักระบุไว้เป็นกิจจะลักษณะ พร้อมที่อยู่ หรืออาคารสำนักงานที่ร้านค้านั้น ๆ ดำเนินการอยู่ ต้องสามารถตรวจสอบได้จริงใน Google ถึงจะผ่านการทดสอบความปลอดภัยอีกขึ้น ยิ่งเมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเสีย ๆ หาย ๆ เกี่ยวกับสินค้าปลอม และไม่ได้คุณภาพ ทำให้นักช้อปมือฉมังออกมาเตือนขาช้อปทั้งหน้าใหม่ และหน้าเก่าให้ระวังด้วยวิธีง่าย ๆ คือ ถ่ายวิดีโอตั้งแต่เริ่มแกะกล่องจนเจอสินค้าข้างใน ทางที่ดีถ่ายจนตรวจเช็คสภาพสินค้าเสร็จเลยจะดีกว่า หากโชคดีคุณก็จะได้สินค้าตามสั่ง แต่ถ้าโชคร้ายคุณก็ยังมีหลักฐานไปเอาผิดเว็บไซต์นั้น ๆ ได้ แม้ต้องสละเวลาเล็กน้อยมาถ่ายวิดีโอแต่ก็คุ้มค่าจริงไหม

ช่องทางชำระเงิน

สมัยนี้การช้อปปิ้งออนไลน์มันสะดวกกว่าการช้อปปิ้งแบบปกติหลายเท่า อาทิ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปซื้อ ไม่ต้องเสียค่ารถ และสามารถเลือกช่องทางชำระเงินได้ดั่งใจ เมื่อก่อนการซื้อสินค้าออนไลน์ผู้ซื้อจำเป็นต้องมีบัตรเครดิตเท่านั้น แต่เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป แม้บัตรเครดิตจะเป็นทางลัดให้คุณจ่ายเงินง่ายสุด แต่มันก็ทำให้คุณขาดกิเลส จนเป็นหนี้ก้อนโตภายหลังได้เช่นกัน ทำให้แหล่งช้อปปิ้งออนไลน์ส่วนใหญ่ขยายช่องทางชำระเงินเพื่อครอบคลุมความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ดังนี้

ชำระด้วยบัตรเครดิต แม้จะเป็นช่องทางที่สะดวกที่สุด แต่ก็ตามมาด้วยความยุ่งยากหลายอย่างเช่นกัน ส่วนใหญ่เปิดให้ลงทะเบียนครั้งเดียวพอครั้งต่อไปอยากช้อปอีกก็เข้ามาคลิก ๆ ไม่กี่ครั้งก็จบ ปัญหาที่พบบ่อยเห็นจะเป็นพบรายการสั่งซื้อสินค้าทั้ง ๆ ที่เจ้าของบัตรไม่ได้ใช้ หรือขอคืนสินค้าแต่วงเงินไม่ได้คืนมาด้วย และตัดวงเงินซ้อนกันหลายครั้งทำให้คุณต้องมาตามเรื่องขอคืนภายหลัง เป็นต้น แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปด้วย 3 เทคนิคง่าย ๆ ที่คุณควรทำก่อนช้อปปิ้งออนไลน์เหล่านี้

  • อย่าให้หมายเลยบัตรผ่านอีเมล์ เพราะระหว่างส่งข้อมูลอาจมีการโจรกรรมข้อมูลเกิดขึ้นได้ ซึ่งสมัยนี้เหล่ามิจฉาชีพมือฉมังย่อมมีหลายวิธีดักจับข้อมูลสำคัญของคุณ ถ้าไม่ระวังวันดีคืนดีจดหมายทวงหนี้อาจมาเคาะประตูบ้านโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้
  • หมั่นเช็คยอดหนี้ในบัตรเครดิตอยู่เสมอ เพราะมีหลายเว็บไซต์ที่ถูกเปิดขึ้นเพื่อหลอกเอาข้อมูลบัตรเครดิตโดยเฉพาะ หากคุณเผลอเข้าไปแม้ไม่สั่งซื้อ Spayware ที่มิจฉาชีพติดตั้งไว้จะเข้าถึงข้อมูลทันที แน่นอนว่าธนาคารหน้าบัตรย่อมมีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อลูกค้าอยู่แล้ว แต่ถ้าข้อมูลที่คุณได้เป็นใบแจ้งหนี้ยอดสูง ๆ ละ ยามนั้นร้อยทั้งร้อยย่อมโทรติดต่อหมายเลขที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ทันที ตรงนี้แหละที่มิจฉาชีพจะหลอกถามข้อมูลสำคัญเพื่อโจรกรรมยอดเงินในบัตร หากคุณเจอเหตุการณ์แบบนี้แนะนำให้ติดต่อกับธนาคารโดยตรงตามหมายเลขที่ระบุไว้หลังบัตรเท่านั้น
  • งดช้อปโดยใช้ WiFi สาธารณะ เพราะมันเสี่ยงต่อการโดนโจรกรรมข้อมูลที่สุด บางครั้งเครือข่าย WiFi ที่ใช้อาจเป็นของปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นก็ได้ หากเป็นการเข้าถึงข้อมูลด้วยเหตุผลอื่นแม้จะไม่ใช่เพื่อช้อปปิ้งออนไลน์ก็ตาม เราแนะนำให้คุณสังเกตเครื่องหมาย HTTP ให้เป็นสีเขียวทุกครั้ง เพราะมันหมายถึงข้อมูลที่คุณใช้จะไม่รั่วไหลไปไหน

ชำระด้วยเงินสด มีหลายช่องทางด้วยกัน แม้จะยุ่งยากกว่านิดหน่อย แต่รับรองปลอดภัยกว่าการใช้บัตรเครดิตชัวร์ แถมมันยังช่วยคุณจำกัดงบประมาณเพื่อหลีกเลี่ยงหนี้สินในอนาคตได้อีกด้วย ไม่เหมือนกับบัตรเครดิตที่อยากได้แค่คลิก ๆ ให้ตัดวงเงินในบัตรก็จบ บางครั้งไม่มีเงินในกระเป๋าก็เอาเงินในอนาคตมาใช้แทนได้ สำหรับช่องทางการชำระเงินที่ได้รับความนิยมจะมีอยู่ 3 ช่องทางด้วยกัน ดังนี้

  • COD ย่อมาจาก Cash on Delivery เป็นช่องทางฮอตฮิตที่ได้รับความนิยมที่สุดในปัจจุบัน ผู้ซื้อไม่ต้องกังวลว่าจะโดนหลอกอีกต่อไป เพราะถ้าของไม่มาก็ไม่ต้องจ่ายเงินนั่นเอง
  • เคาน์เตอร์เซอร์วิส (Counter Service) ได้รับความนิยมพอ ๆ กับ COD มักถูกใช้กับการซื้อบริการต่าง ๆ อาทิ จองแพ็คเกจทัวร์ โปรโมชั่นทำผม หรือซื้อดีลสปา เป็นต้น เพราะบริการเหล่านี้จะมีระยะเวลาโปรโมชั่นกำหนดชัดเจนจึงไม่สามารถใช้การจ่ายเงินแบบ COD ได้ เมื่อจองแล้วต้องชำระเงินในทันทีไม่เกิน 24 ชั่วโมง ทางที่ดีหลังจากคุณสั่งจองแล้ว แนะนำให้ติดต่อร้านค้าเพื่อสอบถามรายละเอียดทันที หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไข หรือไม่มีร้านค้านั้น ๆ อยู่จริง คุณจะได้ยกเลิกการสั่งจองได้ทัน
  • เครื่อง ATM คล้าย ๆ กับการโอนเงินทั่วไปนั่นแหละ เพียงเปลี่ยนเป็นบัญชีของร้านค้าเท่านั้น เป็นช่องทางชำระเงินง่าย ๆ ที่คุณไม่จำเป็นต้องไปยืนต่อแถวจ่ายเงินตาม 7-Eleven และไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมาก ๆ ไว้จ่าย COD แถมยังมีหลักฐานการจ่ายเงินชัดเจน พร้อมตรวจสอบความมีตัวตนของร้านค้านั้น ๆ ได้ในตัว

หากความระแวงทำให้คุณไม่กล้าช้อปกับ 12.12 Sale มหกรรมลดราคาสินค้าครั้งยิ่งใหญ่ละก็ มาตรการรักษาความปลอดภัยทั้ง 3 แบบที่เรารวบรวมมาคงช่วยให้คุณกล้าออกมาเผชิญโลกออนไลน์มากขึ้นแน่นอน ถ้าไม่อยากเสียเงินไปกับสินค้านอก Wish List แนะนำให้เลือกช้อปกับ 12 เว็บฮอตที่ช่วยคุณช้อปกับ 12.12 Sale ได้ถูกใจที่สุดก็ได้ การช้อปปิ้งออนไลน์เป็นเพียงชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของความสะดวกสบายที่อินเตอร์เน็ตมอบให้คุณได้เท่านั้น ถ้าแม้กระทั่งเรื่องนี้คุณยังไม่กล้าลอง ระวังเทคโนโลยีอื่น ๆ จะก้าวทับจนเปลี่ยนคนทันสมัยอย่างคุณให้กลายเป็นคนล้าสมัยในอนาคตได้

 ผู้เขียน ขนิษฐา สาสะกุล iPrice

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Lailababa
  • 0 Followers
  • Follow