Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมเราถึงขนลุก

Posted By sanomaru | 11 เม.ย. 61
31,612 Views

  Favorite

จริง ๆ แล้วอาการขนลุกไม่ได้เป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์มากนัก มันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษของมนุษย์ (animal ancestors) ในตอนที่ร่างกายยังมีขนยาวและหนาปกคลุมอยู่ ในตอนนั้นอาการขนลุกมีประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิ (ความร้อน) ภายในร่างกาย ทำให้สามารถต่อสู้กับอากาศที่หนาวเย็นได้

 

นอกจากนี้เมื่อเผชิญหน้ากับศัตรู อาการขนลุกก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน มันช่วยทำให้ร่างกายดูมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และสามารถข่มขู่ศัตรูให้หนีไปได้ สังเกตจากแมวหรือสุนัขที่จะพองขนให้ฟูขึ้นเมื่อรู้สึกหวาดกลัว ถูกคุกคาม หรือเผชิญหน้ากับอันตราย แต่สำหรับมนุษย์ปัจจุบัน ปฏิกิริยาขนลุกนี้ไม่ได้มีประโยชน์นัก เพราะว่าเราไม่ได้มีขนยาวและหนาปกคลุมอีกต่อไป

 

ทางการแพทย์เรียกอาการขนลุกนี้ว่า Cutis Anserina โดยทั่วไปเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า arrector pili ซึ่งอยู่ติดกับต่อมรากขน (hair follicle) ในชั้นผิวหนัง และการหดตัวแต่ละครั้งของกล้ามเนื้อนี้ จะทำให้ผิวหนังยกตัวเป็นตุ่มขึ้นมา เราจึงเห็นผิวของเรามีลักษณะเหมือนตูดไก่เวลาขนลุก นี่เป็นรีเฟล็กซ์ (การตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นที่อยู่นอกการควบคุมของอำนาจจิตใจ) อย่างหนึ่งที่เรียกว่า Pilomotor Reflex

ภาพ : Shutterstock

 

สถานการณ์หรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการขนลุก อาจมาจากอากาศที่หนาวเย็นเกินไป ร่างกายมีไข้หรือป่วย เกิดอารมณ์บางอย่างที่รุนแรง เช่น หวาดกลัว เศร้า สนุก ประทับใจ หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกาย เช่น ในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณไขกระดูกสันหลัง เรียกว่า ภาวะรีเฟล็กซ์ประสาทอัตโนมัติผิดปกติ (Autonomic Dysreflexia, AD) ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ซิมพาเทติก (Sympathetic Symtem) และพาราซิมพาเทติก

 

การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ จนทำให้เกิดอาการขนลุก เริ่มมาจากการที่เซลล์ประสาทต้องการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น จึงส่งสัญญาณให้ระบบซิมพาเทติกทำงาน และหลั่งสารสื่อประสาทชื่อว่าอะดรีนาลีน (Adrenalin) หรืออีพิเนฟริน (Epinephrine) ที่สร้างมาจากต่อมหมวกไตที่อยู่บริเวณส่วนยอดของไต ไปจับกับตัวรับชื่อว่า Alpha adrenergic receptors ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ (อยู่นอกการควบคุมของอำนาจจิตใจ) กล้ามเนื้อหูรูดของอวัยวะต่าง ๆ เช่น หูรูดหลอดอาหาร หูรูดทวารหนัก รวมถึงกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ในชั้นผิวหนังด้วย และนั่นทำให้เราขนลุกขึ้นมา ซึ่งการทำงานนี้ก็ยังสัมพันธ์กับอาการขนลุกที่เกิดขึ้นเป็นบางครั้งในตอนที่เรารู้สึกปวดท้องและต้องการถ่ายหนักด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow