Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เซลล์ร่างกายกับการส่งสัญญาณไฟฟ้า

Posted By Plook Creator | 04 เม.ย. 61
14,653 Views

  Favorite

เซลล์ (Cell) เป็นหน่วยเล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิต หากเป็นเซลล์สัตว์ก็อาจจะมีรูปร่างที่หลากหลาย เยื่อหุ้มเซลล์ไม่ได้มีโครงสร้างแข็งเท่าในพืช และหน่วยที่เล็กที่สุดนี้ก็อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุดได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สัตว์เซลล์เดียว

 

อย่างไรก็ตามโครงสร้างของเซลล์ในสิ่งมีชีวิตมักมีส่วนประกอบหลักที่คล้ายคลึงกัน แต่อาจจะมีบางส่วนที่เพิ่มหรือลด เพื่อทำหน้าที่ที่แตกต่างออกไปตามที่มันควรจะเป็น รวมถึงทำให้เซลล์นั้น ๆ มีความแตกต่าง และบ้างก็เป็นคุณสมบัติที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยต่างอยากได้และพยายามนำมาใช้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น เซลล์ที่มีเม็ดสีซึ่งสามารถเปลี่ยนสีไปตามสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของสัตว์จำพวกที่สามารถเปลี่ยนสีผิวหนังได้ อย่างในสัตว์เลื้อยคลานบางจำพวก หรือแม้แต่เปลี่ยนสีตามอารมณ์หรือสัญญาณสมองอย่างในหมึกยักษ์

 

ส่วนประกอบของเซลล์เริ่มต้นจากชั้นนอกสุดคือ เยื่อหุ้มเซลล์ (Cell Membrane) และผนังเซลล์ (Cell Wall) ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอาจจะแตกต่างกันตามชนิดของสิ่งมีชีวิต เช่น พืช มีผนังเซลล์ซึ่งประกอบด้วยเซลลูโลส (Cellulose) และ เพกติน (Pectin) ทำให้มันมีโครงสร้างแข็งแรง ส่วนเยื่อหุ้มเซลล์นั้นมักประกอบด้วยหน่วยไขมันและโปรตีน ซึ่งทำให้สารและส่วนประกอบอื่น ๆ ในเซลล์สามารถคงตัวอยู่ได้ และยังทำหน้าที่ควบคุมการเข้าและออกของสารต่าง ๆ สู่เซลล์ เช่น สารอาหาร ของเสีย รวมถึงน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็น โดยมีคุณสมบัติเป็นเยื่อเลือกผ่าน (Semipermeable membrane) กล่าวคือ เลือกได้ว่าจะให้อะไรผ่านในทิศทางใด และในปริมาณเท่าใด

ภาพ : เพจ plook science

 

ส่วนของที่มีลักษณะเหลวที่อยู่ภายในเซลล์เรียกว่า ไซโตพลาสซึม (Cytoplasm) ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบชิ้นเล็ก ๆ อีกมากมายที่สำคัญได้แก่ นิวเคลียส (Nucleus) ทำหน้าที่เสมือนห้องสั่งการหลักของเซลล์ ไมโทคอนเดรีย (Mytochondria) ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตพลังงานสำหรับเซลล์ ไลโซโซม (Lysosome) ทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เซลล์ไม่ต้องการ กอลจิบอดี (Golgi body) ทำหน้าที่สะสมโปรตีนก่อนส่งออกนอกเซลล์ เป็นต้น


นักวิทยาศาสตร์พบว่า โดยปกติแล้วเซลล์สื่อสารกันผ่านสัญญาณไฟฟ้า นั่นแปลว่า หากมีกล้องหรือมีเครื่องตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าอย่างละเอียดมาตรวจวัด จะพบว่ามีการไหลของกระแสไฟฟ้าระหว่างเซลล์ ระหว่างอวัยวะ รวมถึงทุกส่วนของร่างกาย เป็นการสื่อสารกันระหว่างหน่วยสั่งการอย่างสมองไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะสมองที่มีการส่งสัญญาณไฟฟ้ามากที่สุด และอวัยวะสำคัญอื่น ๆ อย่างหัวใจก็มีกระแสไฟฟ้าเช่นกัน และนั่นทำให้มีการใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อการรักษาหลาย ๆ โรค รวมถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย

 

ตัวอย่างของการรักษาด้วยการใช้กระแสไฟฟ้า เช่น การช็อตไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นหัวใจที่หยุดเต้นให้กลับมาเต้นใหม่ หรือแม้แต่เพื่อกระตุ้นให้หัวใจที่เต้นผิดจังหวะกลับมาเต้นเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าร่างกายของเราสามารถรองรับไฟฟ้าได้ เพราะร่างกายของเราก็สามารถถูกไฟฟ้าช็อตเสียชีวิตได้ ไม่นับฟ้าผ่าซึ่งเป็นการรับเอากระแสไฟฟ้าความแรงสูงจากธรรมชาติเข้าสู่ร่างกายซึ่งมักจะทำให้เสียชีวิตในทันที

ภาพ : Shutterstock

 

แม้ไฟฟ้าจะทั้งมีประโยชน์และเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่มีสัตว์บางชนิดสามารถอยู่กับไฟฟ้าแรงสูงได้ พวกมันสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าแรงสูงและใช้เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตของมันได้ ปลาไหลไฟฟ้ามีเซลล์ชนิดพิเศษที่ทำให้เกิดความต่างศักย์ไฟฟ้าสูงเมื่อเทียบระหว่างหัวกับหาง โดยสามารถสร้างความต่างศักย์ได้ถึง 500 โวลต์ และมีรายงานว่าบางครั้งสูงถึง 800 โวลต์ โดยมันมีอวัยวะที่มีเซลล์เรียกว่า Electrolocation ทำให้สร้างความต่างศักย์ต่อเซลล์ได้ 0.15 โวลต์ โดยปกติมันจะใช้พลังเพียงเล็กน้อยในการค้นหาเหยื่อ ใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อกระตุ้นไล่ศัตรู หรือทำให้เหยื่อสลบ แต่ก็มีบางครั้งเพื่อสังหารเหยื่อและศัตรูที่เข้าทำร้ายมัน

 

มีรายงานและมีการถ่ายวิดีโอถึงการต่อสู้ของปลาไหลไฟฟ้าอเมซอนกับจระเข้ที่เข้าโจมตีมัน รายงานกล่าวว่ามันสามารถสังหารจระเข้ได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น อันที่จริงการช็อตไฟฟ้าเพียงชั่วครู่ก็ทำให้จระเข้ต้องหยุดหรือถอยหนีได้แล้ว แต่หากยังตอแยมันไม่เลิก มันก็จะปล่อยพลังงานไฟฟ้าออกมาเพื่อสังหาร

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow