Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กรดอะมิโน หน่วยย่อยของโปรตีน

Posted By Plook Creator | 20 มี.ค. 61
32,815 Views

  Favorite

โปรตีน (Protein) คืออะไร

โปรตีนคือ สารอาหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และแน่นอนว่ามันเป็นส่วนประกอบหลักของร่างกายเราด้วย เราจำเป็นต้องกินโปรตีน และหลาย ๆ คนก็ชอบมัน ไม่ว่าจะเป็นเมนูสารพัดไข่ เนื้อย่าง หมูทอด ไก่นึ่งซีอิ๊ว ถั่วต้ม เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วเกลือ มีเมนูมากมายที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลัก หน้าที่ของมันอย่างย่อ ๆ คือ ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และพัฒนาร่างกายให้เติบโต แต่ไม่ได้แปลว่า ถ้าเราอยู่เฉย ๆ ไม่ได้บาดเจ็บ ป่วย หรือมีแผล แล้วเราจะไม่ต้องการโปรตีน เพราะว่าในทุก ๆ ขณะที่เราใช้ชีวิตอยู่ ร่างกายของเราต้องการโปรตีนไปเพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อ เซลล์ต่าง ๆ ที่ทรุดโทรมและตายไปอยู่ตลอดเวลา ช่วยให้เราเคลื่อนไหวได้ ช่วยนำพาออกซิเจนไปทั่วร่างกาย และยังเป็นระบบภูมิคุ้มกัน นั่นทำให้โปรตีนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง


"กรดอะมิโน" หน่วยย่อยของโปรตีน

ในทางเคมีแล้วหน่วยย่อยของโปรตีนคือ กรดอะมิโน (Amino Acid) ซึ่งประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และออกซิเจน อาจจะมีธาตุอื่นอย่างซัลเฟอร์ ฟอสฟอรัส สังกะสี เหล็ก ร่วมด้วยก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของกรดอะมิโน เมื่อคุณกินอาหารที่มีโปรตีนเข้าสู่ร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ไก่ย่าง ไก่ย่างจะถูกย่อยขั้นแรกในปาก มันจะถูกฟันบดเคี้ยวให้กลายเป็นชิ้นเล็กลง และเมื่อเดินทางผ่านหลอดอาหารเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร กระบวนการทางเคมีเพื่อย่อยก็จะเกิดขึ้น ระบบย่อยอาหารจะปล่อยน้ำย่อยออกมา ทำให้โปรตีนกลายเป็นหน่วยทางเคมีที่เล็กลง ซึ่งก็คือ กรดอะมิโน

 

ร่างกายของเราสามารถแปลงกรดอะมิโนให้กลายเป็นโปรตีน และเปลี่ยนโปรตีนให้กลายเป็นกรดอะมิโนเมื่อไรก็ได้ตามความจำเป็นและความต้องการ บางครั้งโปรตีนถูกเรียกว่า เป็นเหมือนสายสร้อยพันธะเคมีที่ยาวออกไป โดยสายสร้อยนี้ประกอบด้วยลูกปัดขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกัน และมีสีแตกต่างกัน ตามแต่กรดอะมิโนที่มาจับตัวร้อยเรียงกันเป็นพันธะเพปไทด์ (Peptide Bond) การจับตัวของกรดอะมิโนในรูปแบบและลำดับการเรียงตัวที่ต่างกัน ทำให้เกิดชนิดของโปรตีนแตกต่างกัน

ภาพ : Shutterstock

 

พันธะเพปไทด์เป็นพันธะที่เกิดขึ้นจากการจับตัวกันระหว่างกรดอะมิโนสองโมเลกุล การจับตัวกันนี้เกิดขึ้นระหว่างอะตอมคาร์บอนของกรดอะมิโนโมเลกุลหนึ่ง เข้าคู่กับอะตอมไนโตรเจนซึ่งอยู่ในกรดอะมิโนอีกโมเลกุลหนึ่ง โปรตีนแต่ละชนิดจึงเสมือนกับสายสร้อยซึ่งมีความสั้นยาวแตกต่างกัน ลำดับสีแตกต่างกัน แต่ล้วนมีมวลโมเลกุลสูงเนื่องจากเกิดจากกรดอะมิโนที่หลากหลาย และการจับตัวกันด้วยพันธะเพปไทด์ของกรดอะมิโนนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า โพลิเมอร์ ( Polymer) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเราก็ได้ใช้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างและจับตัวกันของกรดอะมิโนนี้มาพัฒนาโพลิเมอร์สังเคราะห์อย่างพลาสติกอีกด้วย

 

โพลิเมอร์ คือ สารที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ เกิดจากการเชื่อมกันของโมเลกุลขนาดเล็ก เรียกว่า โมโนเมอร์ (Monomer) ที่อาจจะเป็นโมเลกุลที่เหมือนหรือต่างกันก็ได้และเชื่อมกันด้วยพันธะโควาเลนต์ ในกรณีนี้โปรตีนเป็นโพลิเมอร์ กรดอะมิโนชนิดต่าง ๆ เป็นโมโนเมอร์ และมีพันธะเพปไทด์ซึ่งเป็นพันธะโควาเลนต์ ที่เกิดจากการจับตัวกันของอะตอม 2 อะตอมซึ่งใช้อิเล็กตรอนร่วมกันหนึ่งคู่หรือมากกว่านั้น ในกรณีนี้คืออะตอมคาร์บอนและไนโตรเจน

จะเห็นได้ว่า โปรตีนมีความสำคัญและซับซ้อนมากกว่าที่เราคิด มันอยู่ในทุกสิ่งที่อย่างที่เป็นตัวของเรา ทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับมันมากขึ้น เพื่อให้ได้สารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน แต่ใช่ว่าเราสามารถกินโปรตีนได้อย่างไม่จำกัด เนื่องจากโปรตีนส่วนเกินที่ร่างกายเราได้รับจะถูกเปลี่ยนสภาพและกลายสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจนอวบอ้วนนั่นเอง เพราะสิ่งที่มากเกินหรือน้อยเกินไปล้วนไม่เกิดประโยชน์ ความรู้และการทำความเข้าใจเพื่อจัดสรรการกินและได้รับสารอาหารหมวดหมู่ต่าง ๆ อย่างพอดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow