Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมมือเหี่ยวเมื่อแช่น้ำนาน

Posted By sanomaru | 14 มี.ค. 61
35,515 Views

  Favorite

เวลาที่ว่ายน้ำในสระนาน ๆ แช่น้ำอุ่นในอ่าง หรือต้องเดินลุยน้ำที่รอการระบายเป็นระยะทางไกล ๆ เคยสังเกตหรือไม่ว่า บริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าของเรา มักจะมีลักษณะ "เหี่ยว" เกิดขึ้น มันเป็นเหมือนลูกคลื่นสูง ๆ ต่ำ ๆ ซึ่งจะค่อย ๆ หายก็ต่อเมื่อมือและเท้าของเราไม่ต้องแช่อยู่ในน้ำอีกต่อไป ลักษณะมือเหี่ยวนี้เกิดมาจากอะไรกันแน่

 

สมมติฐานดั้งเดิมที่กล่าวถึงสาเหตุของการเกิด "มือเหี่ยว" หลังจากการแช่น้ำนาน ๆ กล่าวว่า การที่ผิวหนังปลายนิ้วของเราเหี่ยวย่นเมื่อแช่น้ำนาน ๆ เพราะว่าชั้นนอกของผิวหนังดูดซับน้ำเอาไว้ คล้ายกับ "กระบวนการออสโมซิส" ทำให้มีลักษณะเหมือนการบวมน้ำเกิดขึ้น แต่สมมติฐานนี้ก็ไม่สามารถตอบคำถามที่ว่า ทำไมอาการเหี่ยวหลังการแช่น้ำนาน ๆ จึงเกิดขึ้นที่นิ้วมือ ฝ่ามือ นิ้วเท้า และฝ่าเท้าเท่านั้น โดยที่ไม่เกิดที่ผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายเลย

 

ต่อมาในช่วงปี 1930-1939 ศัลยแพทย์พบว่า ลักษณะของมือเหี่ยวจะไม่เกิดขึ้นหากเส้นประสาทบนนิ้วมือนั้นเกิดการเสียหาย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบนนิ้วมือถูกควบคุมจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System, ANS) ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ควบคุมการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และการไหลของเหงื่อ โดยหลอดเลือดฝอยที่นิ้วมือจะตีบลง เนื้อเยื่อบริเวณนั้นหดตัว ทำให้ผิวหนังเหี่ยวลงด้วย ดังนั้น สมมติฐานเดิมจึงเป็นอันตกไป

ภาพ : Shutterstock

 

ส่วน Laurence Meyer แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง แห่งมหาวิทยาลัยยูทาห์ ได้กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการอธิบายโครงสร้างหรือองค์ประกอบของชั้นผิวหนังว่า การที่นิ้วมือและนิ้วเท้าเหี่ยวเพราะที่บริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้ามีผิวหนังชั้นนอก (Epidermis) หนากว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ชั้นผิวหนังจึงไม่ได้ดูดซึมน้ำอย่างเท่ากันและสม่ำเสมอทั้งหมด

 

ผิวหนังชั้นนอกสุด (Epidermis) ประกอบด้วยเซลล์ที่เรียกว่า คีราติโนไซต์ (Keratinocytes) ซึ่งเต็มไปด้วยโปรตีนคีราติน (Keratin) เมื่อเซลล์มีการแบ่งตัวที่ด้านล่างของผิวหนังชั้นนอก ก็จะดันเซลล์เก่าขึ้นมาด้านบนสุด จากนั้นเซลล์เก่าจะเริ่มตาย และเกิดเป็นชั้นสตราตุม คอร์เนียม (Stratum Corneum) หรือชั้นของขี้ไคล กระบวนการทั้งหมดนี้ทำให้เกิดเป็นบริเวณที่หนาแน่นไปด้วยโปรตีนคีราตินสลับกับไขมัน เมื่อผิวหนังแช่ในน้ำ ชั้นของคีราตินจะดูดซับน้ำและบวมขึ้น ขณะที่ชั้นที่มีไขมันจะขับน้ำออก จึงเกิดเป็นเหมือนรอยย่นขึ้นมา แต่นิ้วที่เหี่ยวย่นในลักษณะนี้จะแตกต่างจากความเหี่ยวย่นที่เป็นผลมาจากการลดลงของคอลลาเจนและอิลาสตินเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนผมและเล็บประกอบไปด้วยคีราตินคนละชนิดกับผิวหนัง แต่ก็มีการดูดซับน้ำเช่นกัน จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผมและเล็บของเราจึงเปราะและนิ่มขึ้นหลังจากแช่น้ำ

 

ทางด้านนักประสาทชีววิทยา Mark Changizi และเพื่อนร่วมงานของเขา มีแนวคิดซึ่งขัดกับสมมติฐานเดิมที่เชื่อว่าผิวหนังบริเวณนิ้วมือมีการดูดซับน้ำ เขาคิดว่าอาการมือเหี่ยวนั้น เป็นการปรับตัวให้สามารถหยิบจับสิ่งของที่เปียกหรือลื่นได้ดีขึ้น คล้ายกับดอกยางของล้อรถที่วิ่งบนพื้นถนนเปียก ๆ ซึ่งช่วยให้จับพื้นถนนได้ดีกว่า Changizi แสดงให้เห็นว่ารอยย่นที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นเฉพาะมือและเท้าเท่านั้น โดยเฉพาะบริเวณปลายนิ้วซึ่งเป็นส่วนแรกที่สัมผัสกับสิ่งของ

 

มีการทดลองในห้องทดลอง โดยผู้เข้าร่วมวิจัยได้ทดลองหยิบจับวัตถุทั้งเปียกและแห้ง ด้วยนิ้วมือที่ไม่มีรอยเหี่ยวย่นและนิ้วมือที่มีรอยเหี่ยวย่น ซึ่งยืนยันได้ว่า นิ้วมือที่มีรอยย่นนั้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการหยิบจับสิ่งของที่เปียกและลื่นได้ดีกว่าจริง ในขณะที่รอยเหี่ยวย่นดังกล่าวไม่ได้มีผลที่แตกต่างกรณีเคลื่อนย้ายวัตถุผิวแห้ง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกหลาย ๆ งานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงผลการวิจัยไปในทิศททางเดียวกัน

 

การที่มนุษย์เรามีการปรับตัวในลักษณะของนิ้วมือนิ้วเท้าที่เหี่ยวย่น อาจมาจากการที่บรรพบุรุษซึ่งมีรอยย่นบนนิ้วมือ ทำให้สามารถหยิบจับอาหาร เช่น อาหารจากลำธารหรือชายหาดได้ดีกว่า ส่วนรอยย่นที่เท้าก็ทำให้เดินด้วยเท้าเปล่าบนโขดหินที่เปียกลื่นได้ดีกว่า ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจึงน้อยลง แต่การที่นิ้วมือของเราไม่ได้เหี่ยวย่นตลอดเวลาก็เป็นเพราะมันมีประโยชน์ต่อการหยิบจับวัตถุที่เปียกลื่นเท่านั้น แต่ไม่ได้มีผลอะไรกับการหยิบจับวัตถุที่แห้ง อีกทั้งการที่ผิวหนังบริเวณปลายนิ้วเหี่ยวย่นยังมีความเป็นไปได้ว่า จะทำให้ความรู้สึกไวต่อสัมผัสบนผิวหนังลดลงด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow