Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคในเด็กที่มาพร้อมกับหน้าร้อน

Posted By Plook Parenting | 13 มี.ค. 61
9,083 Views

  Favorite

ฤดูร้อน เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาว สภาพอากาศจึงมีความแปรปรวนค่อนข้างมาก มีฝนตกบ้างเป็นบางคราว ในเด็กเล็กยังมีภูมิต้านทานน้อย จึงมีโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

 

อากาศร้อน มักเป็นแหล่งเพาะของเชื้อโรคบางชนิดได้เป็นอย่างดี เมื่อเปลี่ยนผ่านฤดูกาลจากหนาวมาสู่ร้อนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมรับมือกับทั้งสภาพอากาศและโรคภัยที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะหากปล่อยให้ลูกน้อยเผชิญกับโรคภัยเหล่านั้นแล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายจนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจได้

 

ภาพ : infographic.thailand

 

โรคในเด็กที่มาพร้อมกับหน้าร้อน

1. โรคทางเดินอาหาร

โรคทางเดินอาหาร ได้แก่ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค ลำไส้อักเสบ และไข้ไทฟอยด์ มักพบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

สาเหตุ

เกิดจากการได้รับสารพิษปนเปื้อน มีแบคทีเรียตกค้างอยู่ในอาหาร กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด

อาการ

ถ่ายเหลวเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งใน 1 วัน หากไม่รีบรักษา อาจเกิดอาการไข้และช็อก เพราะร่างกายขาดน้ำได้

วิธีการรักษา

1. ให้ลูกน้อยดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป

2. หากลูกไม่หยุดถ่าย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

วิธีการป้องกัน

1. ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ควรให้ลูกกินอาหารร้อน ๆ ปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่ควรให้กินอาหารที่ทำไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง เพราะอาจเชื้อโรคเริ่มเจริญเติบโต รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะเชื้อโรคอาจยังแฝงตัวอยู่ในอาหาร สำหรับอาหารสำเร็จรูป หากไม่กินทันทีควรเก็บใส่ไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกินเสมอ

2. ก่อนกินข้าว และหลังเข้าห้องน้ำเสร็จเรียบร้อยควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง เพื่อยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคและแบคทีเรียต่าง ๆ ที่อาจปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้ยังควรรักษาความสะอาดอุปกรณ์สำหรับทำอาหาร กินอาหาร และของใช้อื่น ๆ ภายในบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วย

3. บางครั้งเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ อาจแฝงตัวมากับน้ำดื่ม ควรเลือกดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำที่บรรจุขวดที่ได้มาตรฐานในการบริโภคทุกครั้ง

โรคทางเดินอาหารเพิ่มเติม >>>

โนโรไวรัส โรคติดเชื้อที่ทำให้ลูกท้องเสียรุนเเรง

ไวรัสโรต้า ... ต้นเหตุอาการท้องเสียของทารก

 

2. โรคผิวหนัง

โรคผิวหนังที่มักพบในหน้าร้อน ได้แก่ ผด ผื่น กลากเกลื้อน หรือโรคผิวหนังจากเชื้อรา

สาเหตุ

เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังที่เปียกชื้น โดยเหงื่อและขี้ไคลไปอุดตันที่ผิวหนังจนผิวเกิดการอักเสบ โรคอาจติดโรคผิวหนังจากเชื้อราได้

อาการ

เป็นผื่นแดงหรือผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ ตรงกลางมีตุ่มใส ๆ หรืออาจเป็นหนองได้

วิธีการรักษา

1. ทาคาลาไมน์ เพื่อบรรเทาอาการผื่นคัน

2. เลือกใช้สบู่และผลิตภัณฑ์ซักผ้าสำหรับเด็กที่มีฤทธิ์เป็นกลาง เพื่อลดการระคายเคืองผิว

3. ถ้าลูกมีตุ่มน้ำพองหรือเป็นหนอง ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

วิธีการป้องกัน

1. อาบน้ำ หรือเช็ดตัวให้ลูกบ่อย ๆ

2. หลีกเลี่ยงอากาศร้อนอบอ้าว สวมเสื้อผ้าบาง ๆ ตัดผมลูกให้สั้น

3. เปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งที่มีการขับถ่าย

4. หากลูกไม่สบายตัวอาจจะใช้คาลาไมน์ทาบริเวณที่เป็นผื่น

5. สังเกตผื่นก่อนว่ามาจากสาเหตุอะไร เช่น แพ้อาหารเสริม แมลงกัดต่อย ไข้ หรือหัด อีสุกอีใส

6. เมื่อจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ให้ลูกน้อยใส่เสื้อแขนยาว ใส่หมวกปีกกว้าง และทาครีมกันแดดสำหรับเด็ก

 

3. โรคระบบทางเดินหายใจ

เนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมา และการที่ลูกอยู่ในพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกระทันหัน อาจส่งผลให้ลูกเป็นโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ปวดหัว ตัวร้อน และไอจาม ได้ง่ายขึ้น

สาเหตุ

เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น ภายในบ้านเย็นเพราะเปิดแอร์ แต่เมื่อออกมานอกบ้านพบกับอากาศที่ร้อนจัด

อาการ

มีไข้ ปวดหัว ตัวร้อน เจ็บคอ อ่อนเพลีย ไอจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล และเบื่ออาหาร

วิธีการรักษา

1. ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ และกินอาหารอุ่น ๆ

2. เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น

3. กินยาลดไข้ และพักผ่อนให้เพียงพอ

4. ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดตัวให้ลูกน้อยเพื่อระบายความร้อนออก

5. หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์

วิธีการป้องกัน

1. พักผ่อนให้เพียงพอ

2. ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่

3. อยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก

4. หลีกเลี่ยงการพาลูกน้อยไปอยู่ในที่ร้อนจัด หรือมีผู้คนแออัด

โรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มเติม >>>

ไข้หวัดใหญ่ ... ภัยร้ายใกล้ตัว

 

4. โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้ามักระบายในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแทบทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าร้อนที่เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้โรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียาที่ช่วยให้รักษาให้หายขาดได้โดยตรง

สาเหตุ

เกิดจากลูกน้อยโดนสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์จรจัด กัด หรือข่วนลูกน้อยจนมีบาดแผล หรือโดนเลียบริเวณที่มีแผล

อาการ

เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว มีไข้ คันหรือปวดบริเวณที่ถูกกัด ต่อมาจะรู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย ตื่นเต้น ไวต่อสิ่งเร้ารอยกาย ไม่ชอบแสง น้ำลายไหล และกลัวน้ำ

วิธีการรักษา

1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด

2. ฟอกด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วทาแผลด้วยน้ำยาพิวิดีน (เบตาดีน) หรือแอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ ไอโอดีน แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที

3. ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ ถ้าหากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ 10 วัน ขณะเดียวกันให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภายใน 48 ชั่วโมงหลังถูกกัด

4. ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ เช่น เป็นสัตว์ป่า สัตว์จรจัด สัตว์ที่กัดแล้วหนีไป หรือจำสัตว์ที่กัดไม่ได้ จำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีนโดยทันที

วิธีการป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงสุนัขหรือสัตว์ที่มีท่าทีไม่น่าไว้ใจ

2. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้าก่อนได้รับเชื้อ

3. ถ้าที่บ้านมีสัตว์เลี้ยง ควรนำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ >>>

โรคพิษสุนัขบ้า โรคติดต่อร้ายเเรงที่ป้องกันได้

 

5. โรคร้อนใน

โรคร้อนในเป็นโรคที่พบบ่อยในทุกช่วงวัย และมาจากหลากหลายสาเหตุ ส่วนมากมักพบในช่วงหน้าร้อน

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัส กินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนมากเกินไป ลูกกัดปากตัวเอง ขาดสารอาหารหรือวิตามินบางตัว หรือภูมิต้านทานร่างกายของลูกอ่อนแอ เช่น ไม่สบายในช่วงอากาศร้อนจัด มีไข้ต่ำ ๆ ปาก ลิ้น และเหงือกมีสีแดงเข้ม และกินข้าวน้อยลง

อาการ

มีแผลหรือตุ่มน้ำขาว ๆ ภายในช่องปาก เช่น ที่ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ลิ้น หรือแม้กระทั่งเหงือก หากมีแผลมากกว่า 1 แผล อาจมีอาการไข้ร่วมด้วย

วิธีการรักษา

1. ใช้ยาป้ายแผลในปากในปริมาณน้อยมาก ๆ

2. ให้ลูกจิบน้ำบ่อยๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ

3. ถ้าลูกร้องไห้งอแง อาจใช้น้ำแข็งประคบที่ปากลูก บรรเทาอาการปวดแสบ

4. ถ้าผ่านไป 2 วันอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์

วิธีการป้องกัน

1. ล้างมือให้สะอาด

2. ทำความสะอาดช่องปากของลูกน้อยเป็นประจำ

3. ไม่กินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนมากเกินไป

 

6. โรคลมแดด

วัยเด็กเป็นวัยที่มีอัตราการเผาผลาญพลังงานสูงกว่าวัยอื่น ๆ แต่อวัยวะระบายความร้อนยังมีขาดเล็ก ถ้าหากเด็กอยู่ในพื้นที่ที่ร้อนจัด หรือได้รับความร้อนมากเกินไป อาจส่งผลให้เป็นลมแดดได้ ซึ่งลมแดดนี้อาจมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังระบบการเต้นของหัวใจ และระบบหลอดเลือดตามมาด้วย

สาเหตุ

เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส

อาการ

เป็นผื่นแดงตามร่างกาย ตัวร้อนจัด ชีพจรเต้นแรง หายใจถี่ อ่อนเพลีย หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

วิธีการรักษา

1. รีบพาลูกเข้าไปในที่ร่มที่อากาศถ่ายเทสะดวก แต่ไม่ควรพาเข้าไปในห้องแอร์หรือที่ที่อุณหภูมิต่างกันมาก เพราะอาจทำให้ร่างกายช็อกได้

2. ถอดเสื้อออกเพื่อให้ร่างกายระบายความร้อนได้สะดวกขึ้น

3. ให้ลูกนอนหงาย ขายกสูงเพื่อให้ระบบการไหลเวียนของเลือดคล่องตัวมากขึ้น

4. นำผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำมาประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ และหน้าผาก

5. ใช้พัดลมหรือพัดช่วยระบายความร้อน

6. หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบพาส่งแพทย์โดยด่วน

วิธีการป้องกัน

1. ดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ

2. ให้ลูกน้อยสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน และระบายอากาศได้ดี

3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แดดจัดหรือมีอากาศร้อนเป็นเวลานาน

4. ใส่หมวก หรือกางร่มก่อนออกแดด

5. ในวันที่มีแดดจัด ควรจำกัดเวลาเล่นกลางแจ้งของลูกน้อย เพื่อให้เขาเข้ามาพักในที่ร่ม ระบายความร้อนให้ออกจากร่างกายบ้าง

 

7. เลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดาไหล มักพบบ่อยในเด็กที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เพราะจมูกมีปัญหาเรื่องการปรับตัวของเยื่อบุจมูก จึงไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ แต่หากเด็กมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหลแล้วชอบขยี้จมูก ก็มีโอกาสเลือดกำเดาไหลได้เช่นกัน

สาเหตุ

เกิดจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก เนื่องจากอากาศแห้ง ร้อนจัด หนาวจัด หรือเกิดจากมีสิ่งมากระทบกระเทือนบริเวณจมูก เช่น ถูกเพื่อนวิ่งชน หกล้ม เด็กแคะ แกะ เกา หรือชอบขยี้จมูก เป็นต้น รวมไปถึงร่างกายอาจขาดวิตามินซี หรือมีภาวะโรคเลือดต่าง ๆ ร่วมด้วย

อาการ

มีเลือดออกมาจากรูจมูก โพรงจมูก หรือหลังโพรงจมูก และอาจมีอาการคันตา แสบตา น้ำมูกไหล คันหู และหูอื้อร่วมด้วย

วิธีการรักษา

1. ให้ลูกก้มหน้าลง ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลา 5–10 นาที ระหว่างนี้ให้หายใจทางปากแทน

2. หลังเลือดกำเดาไหล 24-48 ชั่วโมงแรก ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรง ๆ การแคะจมูก การออกแรงมาก ๆ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณจมูก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้

3. เมื่อเลือดหยุดแล้วควรนอนพัก ยกศีรษะสูง นำน้ำแข็งหรือ Coldpack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ ประมาณ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ 10 นาที แล้วค่อยประคบใหม่เป็นเวลา10 นาที ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ

4. ไม่ควรให้ลูกเอนหลังแหงนหน้า เพราะอาจทำให้ลูกขย้อน สำลัก หรืออาเจียนได้

5. ถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที

วิธีการป้องกัน

1. ไม่ควรให้เด็กไปวิ่งเล่นกลางแจ้งนาน ๆ โดยเฉพาะเวลาอากาศร้อนจัด

2. ห้ามแคะจมูก หรือให้จมูกได้รับการกระทบกระเทือน

3. ให้ลูกน้อยออกกำลังกายสม่ำเสมอ และกินอาหารให้ครบ 5 หมู่

4. สร้างภูมิต้านทาน เสริมวิตามินซีจากผักหรือผลไม้ เช่น ส้ม ฝรั่ง

5. ตัดเล็บลูกให้สั้น และสอนไม่ให้ลูกแคะ แกะ หรือขยี้จมูกแรง ๆ

 

การเตรียมพร้อมรับมือโรคภัยที่มาตามฤดูกาล เป็นอีกสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ เพราะการเติบโตของลูกน้อยนั้น นอกจากจะมีพัฒนาการทางร่างกายที่สมวัยแล้ว ควรมีสุขภาพกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัย และมีสุขภาพจิตที่ดีควบคู่กันไปด้วย

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow