Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เครื่องมือชนิดใหม่สำหรับการวินิจฉัยผู้ป่วยโรคหัวใจ

Posted By thaiscience | 03 มิ.ย. 61
4,670 Views

  Favorite

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation หรือ AF หรือ A-Fib) คือ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมีการกระตุ้นของหัวใจห้องบนแบบกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบทำให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนเสียไป ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ โดยพบได้ร้อยละ 2 ของประชากรทั้งหมดในยุโรปและเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง หัวใจวาย และเสียชีวิต ซึ่งภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วนั้นมีแนวโน้มที่จะสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการสร้างแรงกดดันให้แก่งานบริการสาธารณสุขในยุโรปในการจัดการกับปัญหานี้

 

โครงการ EUTRAF ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ได้คิดค้นหาวิธีในการพัฒนาวิธีใหม่ ๆ เพื่อสามารถตรวจหาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิผลมากขึ้น นอกจากนี้โครงการ EUTRAF ยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการกับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้อีกด้วย

 

จากการทดลองของโครงการทำให้พบข้อมูลสำคัญคือ การให้ยาลดไขมันกลุ่ม statin เพื่อใช้ลดไขมันในกระแสเลือดทุกวันเป็นจำนวนไม่กี่วันก่อนและหลังการผ่าตัดหัวใจ ไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความเสียหายของไต โดยผลการวิจัยของการทดลองครั้งนี้ได้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการทางการแพทย์ New England Journal of Medicine (NEJM) เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2016

ภาพ : Shutterstock

 

ศาสตราจารย์ Barbara Casadei นักวิจัย ณ มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ได้กล่าวว่า “เป็นที่รู้กันดีว่ายา statin เป็นยาที่มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบและต้านสารอนุมูลอิสระ แม้ว่าในแนวปฏิบัติจะแนะนำให้ใช้ยา statin เมื่อมีการผ่าตัดหัวใจเพื่อลดอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนแต่หลักฐานที่ใช้สนับสนุนหลักปฏิบัติอันนี้ก็ยังมีไม่มากพอ” ซึ่งผลการวิจัยจากโครงการ EUTRAF ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการใช้ยา statin ก่อนและหลังการผ่าตัดหัวใจไม่ได้ช่วยลดการเกิดโรคแทรกซ้อนแต่กลับส่งผลทำให้ไตของผู้ป่วยทำงานหนักขึ้นมากกว่าปกติ 

 

การค้นพบครั้งนี้อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวทางการปฏิบัติระดับนานาชาติ เพื่อป้องกันภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนหลังจากได้รับการผ่าตัดหัวใจ แต่ผลของงานวิจัยครั้งนี้ก็ไม่ได้ยืนยันว่าการใช้ยา statin ในระยะยาวจะไม่สามารถลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวายและภาวะการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองได้เช่นกัน 

 

 

 

โครงการ EUTRAF ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเป็นจำนวนเกือบ 12 ล้านยูโร ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี ค.ศ. 2010 โดยมีจุดมุ่งหมายในการศึกษาสาเหตุการพัฒนาของโรคและการรักษาของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โดยในโครงการนี้มีการค้นพบและระบุตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) และตัวขนส่งสารชนิดใหม่ ๆ เพื่อใช้พัฒนาการรักษาในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการศึกษาและทดลองในสัตว์เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการการควบคุมการไหลของเลือดในหัวใจห้องบนและปัจจัยทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ดีมากยิ่งขึ้น 

 

จากงานวิจัยเบื้องต้นในครั้งนี้ก็ได้นำไปสู่การพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์แบบอัตโนมัติต่อการสั่นพลิ้วของหัวใจ รวมไปถึงวิธีการรักษาแบบใหม่ ๆ และเครื่องมือการวินิจฉัยโรคที่ไม่ก่อให้เกิดการเจ็บตัวแก่ผู้ป่วย นอกจากนี้โครงการนี้ยังได้ริเริ่มการพัฒนาแอพพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยในการติดตามอาการของโรค โดยถือว่าโครงการ EUTRAF เป็นรายแรกที่ประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการทำนายและป้องกันผลข้างเคียงที่จะเกิดจากภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เช่น การอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองและภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด

 

ที่มา: http://cordis.europa.eu/news/rcn/125364

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • thaiscience
  • 2 Followers
  • Follow