Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การสืบพันธุ์ของพืชดอก

Posted By Plook Creator | 09 มี.ค. 61
162,049 Views

  Favorite

ในบรรดาพืชที่มีอยู่บนโลกนี้ทั้งหมด พืชชนิดที่เกี่ยวข้องกับสัตว์โดยเฉพาะกับคนมากที่สุดคือ พืชดอก ไม่ใช่เพราะว่ามันมีดอกสวยงามและเราชอบมัน แต่เป็นเพราะขั้นตอนหลังจากการออกดอกนั้นจะทำให้เกิดผล และผลส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแหล่งอาหารอันอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และแหล่งพลังงานให้กับสัตว์ นอกจากนี้พืชดอกยังเรียกได้ว่า เป็นพืชที่มีวิวัฒนาการขั้นสูงเพราะมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ และนั่นทำให้มันสามารถวิวัฒน์ปรับตัวให้เข้ากับปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็วกว่าพืชไร้ดอก หรือพืชชนิดที่ขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ

 

ดอกของพืชแต่ละชนิดแตกต่างกันในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นสี รูปร่าง ขนาด และโครงสร้างของดอก บ้างก็มีกลีบหลายชั้น บางชนิดดอกแยกเกสรตัวผู้กับตัวเมียอย่างชัดเจนแต่ยังอยู่ในดอกเดียวกัน แต่บางชนิดอาจแยกกันอยู่คนละดอกคนละต้น หรือแม้แต่บานไม่พร้อมกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด โครงสร้างดอกของพืชนั้นก็ถูกออกแบบมาให้เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของพืช

 

การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของพืชมีการทำงานคล้ายกับสัตว์ กล่าวคือ ต้องมีการรวมตัวกันของเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียและเพศผู้ซึ่งเกิดขึ้นในดอก ดอกนั้นจึงจะพร้อมและเริ่มกระบวนการต่อไปเพื่อขยายพันธุ์ และแม้ว่าดอกไม้แต่ละสายพันธุ์จะมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกัน แต่โครงสร้างหลัก ๆ ของดอกมีอยู่ 4 ส่วนได้แก่

ภาพ : Shutterstock

 

1) กลีบเลี้ยง​​ (Sepals) มักเจริญมาจากใบ มีหน้าที่ป้องกันดอกจากอันตรายภายนอก ส่วนใหญ่มักมีสีเขียว แต่สำหรับพืชบางสายพันธุ์อาจมีการเปลี่ยนสีหรือรูปร่างที่แปลกตาออกไปเพื่อล่อแมลงให้มาผสมเกสร

 

2) กลีบดอก (Petals) เป็นกลีบของดอกไม้ที่แท้จริง โดยจะอยู่ถัดจากกลีบเลี้ยงเข้าไปด้านในของดอก มีสีสันสดใสสะดุดตา มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความโดดเด่นสะดุดตาแมลง และล่อให้แมลงมาช่วยในการผสมพันธุ์ให้ได้มากที่สุด

 

3) เกสรตัวผู้ (Stamen) ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ สำหรับพืชบางชนิดอาจจะวิวัฒนาการให้เกสรตัวผู้มีการผลิตน้ำหวานออกมาเพื่อช่วยล่อแมลงได้เช่นกัน เกสรตัวผู้มักมีหลายอันในหนึ่งดอก และในแต่ละอันก็จะมีโครงสร้างที่เรียกว่า ก้านเกสรตัวผู้ (Filament) อับเรณู (Anther) ซึ่งเป็นส่วนที่มีละอองเรณู (Pollen grain) อยู่ภายในเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มั่นใจว่าเซลล์สืบพันธุ์จะติดไปกับตัวแมลงให้ได้มากที่สุด

 

4) เกสรตัวเมีย (Pistil) มักจะอยู่ด้านในสุดของดอก ส่วนของยอดเกสรตัวเมีย (Stigma) มักมีสารเหนียวเพื่อใช้ดักจับละอองเรณู บริเวณแกนกลางของดอก หรือส่วนที่ต่ำที่สุดของเกสรตัวเมียจะมีโครงสร้างเป็นกระเปาะซึ่งเรียกว่า รังไข่ (Ovary) เป็นที่อยู่ของเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย โดยอาจจะมีเพียงเซลล์เดียว หรืออาจจะแบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ ย่อย ๆ โดยแต่ละห้องก็มีเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียอยู่


พืชที่มีโครงสร้างดอกครบทั้ง 4 ส่วนเรียกว่า ดอกสมบูรณ์ (Complete flower) หากมีไม่ครบ 4 ส่วนเรียกว่า ดอกไม่สมบูรณ์ (Incomplete flower) และหากพิจารณาที่โครงสร้างสืบพันธุ์ ในดอกที่มีครบทั้งสองเพศจะเรียกว่า ดอกสมบูรณ์เพศ (Perfect flower) และดอกที่มีเพียงเพศใดเพศหนึ่งจะเรียกว่า ดอกไม่สมบูรณ์เพศ​ (Imperfect flower)

 

การผสมพันธุ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อละอองเรณูปลิวตกจากยอดของเกสรตัวผู้ไปสัมผัสและติดเข้ากับยอดของเกสรตัวเมียของดอกชนิดเดียวกัน การถ่ายละอองเรณูอาจจะเกิดขึ้นในดอกเดียวกัน หรือดอกของต้นเดียวกัน ซึ่งกรณีนี้เรียกว่า Self Pollination สำหรับการผสมข้ามต้นโดยเกสรตัวผู้ของต้นหนึ่งปลิวหรือติดตัวแมลงไปสัมผัสและผสมกับเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียของอีกต้นหนึ่งจะเรียกว่า Cross Pollination


จุดสำคัญของการผสมกันระหว่างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียและเพศผู้คือ ในขั้นต้นจะมีการแบ่งนิวเคลียสของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้แบบไมโทซิส กล่าวคือจะได้สเปิร์มนิวเคลียส 2 ตัว ก่อนที่ตัวหนึ่งจะผสมเข้ากับเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย วิวัฒนาการเป็นไซโกต และเอมบริโอต่อไป ในขณะที่สเปิร์มนิวเคลียสอีกตัวจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโดยการเข้าผสมกับโพลาร์นิวคลีอาย (Polar Nuclei) เจริญเป็นเอนโดสเปิร์ม และเป็นอาหารให้กับเซลล์เอมบริโอต่อไป โดยการผสมแบบนี้เรียกว่า การปฏิสนธิซ้อน ครึ่งหนึ่งได้เมล็ด อีกครึ่งได้อาหารเพื่อเมล็ดที่งอกออกมา

 

เมื่อปฏิสนธิเสร็จเรียบร้อยส่วนต่าง ๆ โครงสร้างต่าง ๆ ของดอกก็จะพัฒนาต่อไปเพื่อให้พร้อมสำหรับเมล็ดพันธุ์ได้เจริญเติบโตกระจายออกไป รังไข่จะเจริญต่อกลายเป็นผล ผนังรังไข่ (Ovary Wall) เป็นกำแผงป้องกันอันตรายตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อครั้งยังเป็นดอกไม้ และมันจะค่อย ๆ เจริญไปเป็นเปลือกชั้นนอกสุดและเนื้อของผลไม้ ส่วนที่จะกลายเป็นเมล็ดสำหรับขยายพันธุ์ในภายหลังคือ ออวุล (Ovule) โดยจะมีไข่ซึ่งจะกลายเป็นต้นอ่อนอยู่ในเมล็ดอีกที ส่วนเยื่อหุ้มออวุลจะกลายเป็นเปลือกหุ้มเมล็ดต่อไป และส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ไม่สำคัญต่อผลก็จะแห้งเหี่ยวหลุดล่วงไปตามลำดับ

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow