Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เปลี่ยนการให้สัญญา มาสอนให้ลูกมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 07 มี.ค. 61
5,034 Views

  Favorite

แม่แหม่มเชื่อว่า คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่าน คงเคยให้ “คำสัญญา” กับลูก เพื่อเป็นทางออก หรือเป็นการยื่นข้อเสนอเพื่อให้ลูกหยุดการกระทำ/พฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสมใช่ไหมคะ

 

ซึ่งในบางครั้ง การที่คูณพ่อคุณแม่ได้ตกลงให้คำสัญญากับลูก ไม่ว่าจะเป็น การสัญญาว่าจะพาไปเที่ยว การสัญญาว่าจะซื้อของให้ คุณพ่อคุณแม่ต้องตระหนักถึงการทำตามสัญญา หรือรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับลูกด้วย อย่าสัญญาในสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะลูกอาจเกิดความสงสัยและไม่เชื่อใจในคำพูดของพ่อแม่ ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมต่อต้าน หรือไม่เชื่อฟังคำพูดของพ่อแม่อีกต่อไป

 

บางครั้งการให้คำสัญญาของพ่อแม่ อาจเกิดจากการพูดขึ้นโดยที่พ่อแม่เองก็ไม่รู้ตัวว่าได้ให้คำสัญญากับลูกไปแล้ว เช่น ตั้งใจเรียนนะลูก เดี๋ยวพ่อแม่พาไปเที่ยว หรือกินข้าวนะลูก เดี๋ยวพ่อแม่ให้ดูการ์ตูน พ่อแม่บางคน ชอบให้คำสัญญาง่าย ๆ กับลูก คือสัญญาแบบส่ง ๆ ไปก่อน เพื่อให้ลูกทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่ลืมคิดไปว่า ลูกได้คาดหวังในสื่งนั้น ๆ ไปแล้ว หากคุณรู้ว่าคุณไม่สามารถทำในสิ่งที่ได้สัญญากับลูกไว้ อย่าสัญญากับลูกเด็ดขาด !!! ดังนั้นวันนี้เราลองมาเปลี่ยนวิธี จากการให้สัญญามาใช้วิธีอื่น ๆ กันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. สร้างแรงจูงใจด้วยเหตุผล

ในบางครั้งการที่ลูก “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” ในสิ่งที่พ่อแม่บอกนั้น ไม่ใช่เพราะลูกดื้อ หรืออยากขัดคำสั่งของพ่อแม่ แต่เป็นเพราะเขายังไม่เห็นถึงเหตุผลหรือความสำคัญว่า ทำไมเขาจะต้องทำสิ่ง ๆ นั้น และทำแล้วมันเกิดผลดีอย่างไรกับเขา ดังนั้น เมื่อทำอะไรก็ตาม พ่อแม่ควรบอกถึงเหตุผลที่จะช่วยจูงใจให้ลูกอยากทำในสิ่งนั้นด้วย เช่น กินข้าวนะลูก หนูจะได้มีแรงไปว่ายน้ำกับคุณพ่อไง หรือหนูตั้งใจอ่านหนังสือสอบนะจ๊ะ ถ้าหนูสอบได้ หนูจะได้เข้าโรงเรียนใหม่ที่มีสนามเด็กเล่นใหญ่กว่าโรงเรียนเก่าอีกนะลูก จะเห็นได้ว่าเป็นเหตุผลง่าย ๆ ที่ลูกเข้าใจและสร้างแรงจูงใจให้กับลูกได้ ที่สำคัญการที่ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจและตั้งใจ ย่อมเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าแน่นอน

2. เปลี่ยนจากการให้สัญญา เป็นการสร้างกติการ่วมกัน

พ่อแม่อาจให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการสร้างกฎกติกาภายในบ้านด้วยตนเอง เช่น ลูกจะมีเวลาในการเล่น 10 นาที ถ้าสามารถทำการบ้านได้เสร็จภายในเวลา หรือลูกจะสามารถกินขนมได้ ถ้าทานข้าวให้หมดจาน การสร้างกฎกติการ่วมกันนี้ เท่ากับเป็นการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้กับลูกอย่างสร้างสรรค์ และสร้างความสุขให้กับทุกคนในบ้าน เพราะการสร้างวินัยไม่ใช่แค่การใช้วิธีขู่ ดุ หรือลงโทษ แต่เป็นการสร้างการเรียนรู้ และฝึกฝนตนเองร่วมกันระหว่างลูกกับพ่อแม่มากกว่า

3. เป็นแบบอย่างในสิ่งที่อยากให้ลูกทำ

บางครั้งพ่อแม่อาจจะลืมคิดไปว่าพฤติกรรมบางอย่างที่ลูกทำนั้น เกิดจากการเลียนแบบที่ลูกเห็นจากพ่อแม่ เช่น ลูกอยากเล่นมือถือ เพราะเห็นพ่อแม่เล่นแต่มือถือทั้งวัน หรือลูกไม่อยากกินผัก เพราะพ่อแม่ไม่กินผัก ดังนั้น ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกทำสิ่งใด วิธีง่าย ๆ คือ การทำเป็นแบบอย่าง และสร้างแรงจูงใจให้กับลูก เพราะพ่อแม่คือแรงบันดาลใจสำคัญของลูก

 

เพราะการให้คำสัญญา คือการสร้างความคาดหวังให้ลูกอย่างหนึ่ง การที่พ่อแม่บอกกับลูกว่า ถ้าทำแบบนี้จะได้แบบนั้น หรือถ้าไม่ทำแบบนั้น ก็จะไม่ได้สิ่งนี้ อาจส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กที่เรียกร้อง และคาดหวังสิ่งแลกเปลี่ยนตลอดเวลา ดังนั้น คงจะดีไม่น้อยหากพ่อแม่เปลี่ยนจากการสัญญา เป็นการสร้างคุณค่าให้ลูกได้มองเห็นในสิ่งที่เขาทำ และทำออกมาด้วยใจมากกว่าการทำเพื่อหวังสิ่งอื่นใดตอบแทน

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow