Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมลายนิ้วมือของคนเราไม่เหมือนกัน

Posted By sanomaru | 03 มี.ค. 61
32,264 Views

  Favorite

เชื่อหรือไม่ว่า ลายนิ้วมือของคนเรานั้น ไม่มีใครที่เหมือนกันเลย แม้แต่ฝาแฝดก็ตาม

 

ลายนิ้วมือคืออะไร

ลายนิ้วมือคือ ส่วนของเส้นนูนบนนิ้วมือที่มีรูปแบบและลักษณะเฉพาะในแต่ละคน ในตอนแรกนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า  ลายนิ้วมือพัฒนาขึ้นมาเพื่อความสามารถในการหยิบจับวัตถุสิ่งของ โดยน่าจะช่วยให้เกิดแรงเสียดทานระหว่างผิวสัมผัสของวัตถุกับผิวหนังบนนิ้วมือมากขึ้น แต่ภายหลังนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์กลับพบว่า แท้จริงแล้วลายนิ้วมือของเรากลับเป็นตัวลดความสามารถในการหยิบจับสิ่งของเสียมากกว่า เนื่องจากมันลดผิวสัมผัสระหว่างผิวหนังของเรากับวัตถุสิ่งของลงไป ท้ายที่สุดปริศนาที่ว่า ทำไมเราจึงต้องมีลายนิ้วมือจึงยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด มีเพียงทฤษฎีที่คาดว่า ลายนิ้วมืออาจจะช่วยให้เราหยิบจับสิ่งของที่มีผิวขรุขระหรือเปียกลื่น และเพิ่มความรู้สึกของสัมผัสก็เป็นได้

ภาพ : Shutterstock

 

รูปแบบของเส้นนูนที่อยู่บนลายนิ้วมือ เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเป็นทารกอยู่ในครรภ์ของมารดา และจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในเดือนที่ 7 ซึ่งการที่เรามีลายนิ้วมือเป็นเอกลักษณ์เเฉพาะตัวนั้นส่วนหนึ่งมาจากยีนที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบของเส้นนูนบนนิ้วมือ ฝ่ามือ นิ้วเท้า และฝ่าเท้า แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะฝาแฝดที่มีดีเอ็นเอเหมือนกันก็ยังมีรูปแบบเส้นนูนที่แตกต่างกันด้วย เนื่องจากมีปัจจัยอื่นที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบของลายนิ้วมือด้วย เช่น ตำแหน่งของตัวอ่อนในครรภ์ การไหลเวียนของน้ำคร่ำ หรือแม้แต่ความยาวของสายสะดือ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ลักษณะของลายนิ้วมือในแต่ละคนมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป โอกาสที่เราจะมีลายนิ้วมือเหมือนกับใครอีกคนนั้นมีเพียง 1 ใน 64 พันล้านเท่านั้น

 

ที่มาของความแตกต่างของลายนิ้วมือ

รูปแบบเหล่านี้เกิดขึ้นบริเวณชั้นผิวหนังที่เรียกว่า Basal Layer ซึ่งมีเซลล์เรียงตัวเป็นแถวเดียว อยู่ระหว่างชั้นล่างสุดของชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) กับชั้นบนสุดของชั้นหนังแท้ (Dermis) ที่ Basal Layer นี้ มี Basal Cells ซึ่งจะแบ่งตัวเพื่อสร้างเซลล์ผิวหนังขึ้นใหม่ทดแทนเซลล์ผิวหนังเก่าที่ตายและดันให้มันหลุดลอกออกไป แต่สำหรับในตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์นั้น Basal Layer จะเติบโตได้เร็วกว่าชั้นล่างสุดของชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ที่ขนาบอยู่ จึงทำให้เกิดการพับไปมาของ Basal Layer กลายเป็นรูปแบบที่หลากหลายของลายนิ้วมือนั่นเอง เมื่อรูปแบบของลายนิ้วมือเกิดใน Basal Layer ความเสียหายที่ผิวหนังชั้นตื้นที่เกิดจากการขูดขีดเพียงเล็กน้อยหรือแม้แต่การถูกไฟไหม้ จึงไม่สามารถทำให้รูปแบบของลายนิ้วมือเปลี่ยนแปลงไปได้ ผิวหนังที่สร้างขึ้นใหม่จะมีรูปแบบเดิม เว้นเสียแต่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นในชั้นที่ลึกลงไป

ภาพ : Shutterstock

 

รูปแบบของลายนิ้วมือ

เส้นนูนที่นำมาซึ่งลายนิ้วมือรูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นเมื่อตอนที่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ นักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกรูปแบบของลายนิ้วมือออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามลักษณะของมัน ซึ่งมีดังนี้

1. แบบเส้นโค้ง (Arches) ลายนิ้วมือแบบโค้งพบได้ประมาณ 5% ของรูปแบบลายนิ้วมือทั้งหมด เส้นนูนของลายนิ้วมือรูปแบบนี้จะเริ่มจากฝั่งหนึ่งลากไปยังอีกฝั่งหนึ่ง โดยไม่มีการย้อนกลับไปทางเดิม โดยปกติจะไม่มีเนินสูง ไม่มีมุมแหลมที่เห็นได้เด่นชัด เกิดขึ้นในตอนที่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ ซึ่งหากแผ่นหนาที่จะสร้างเป็นมือและนิ้วมือไม่ปรากฏเส้นนูนให้เห็นมากนัก ก็จะเกิดเป็นลายนิ้วมือแบบเส้นโค้ง

2. แบบมัดหวาย (Loops) ลายนิ้วมือแบบมัดหวาย พบได้ประมาณ 60-70% ของรูปแบบลายนิ้วมือทั้งหมด มีเส้นนูน 1 เส้นหรือมากกว่านั้นที่เป็นเส้นโค้งที่เป็นเนินสูงและเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เกิดขึ้นในตอนที่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ ซึ่งหากแผ่นหนาที่จะสร้างเป็นมือและนิ้วมือปรากฏเส้นนูนในลักษณะเอียง ไม่สมมาตรกัน จะเกิดเป็นลายนิ้วมือแบบมัดหวายนั่นเอง

3. แบบก้นหอย (Whorls) ลายนิ้วมือแบบก้นหอย พบได้ประมาณ 25-35% ของรูปแบบลายนิ้วมือทั้งหมด โดยของรูปแบบลายนิ้วมือทั้งหมด และเส้นนูนจะมีลักษณะวนเป็นวงกลมคล้ายกับลายบนก้นหอย เกิดขึ้นในตอนที่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ ซึ่งหากแผ่นหนาที่จะสร้างเป็นมือและนิ้วมือปรากฏเป็นลักษณะแบน ไม่ลาดเอียง มีความสมมาตร ส่วนใหญ่จะเกิดเป็นลายนิ้วมือแบบก้นหอย

ภาพ : Shutterstock

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow