Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความหมายและที่มาของบทสวด นมัสการพระพุทธเจ้า บทนะโม ตัสสะฯ

Posted By มหัทธโน | 26 ก.พ. 61
95,630 Views

  Favorite

 

เคยสังเกตไหมว่า เวลาสวดมนต์บทอะไรก็ตาม มักจะมีการสวดขึ้นต้นว่า นะโมตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ  3 รอบ  แล้วบทสวดนี้คืออะไร มีที่มาอย่างไร

 

บทสวดนมัสการพระพุทธเจ้า 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต 
"ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น"

อะระหะโต 
"ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส"

สัมมาสัมพุทธัสสะ 
"ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง"

(3 รอบ)

 

ความเป็นมาและความสำคัญ ของบทสวดนมัสการพระพุทธเจ้า 

ในการสวดมนต์บทนมัสการพระพุทธเจ้า หรือบท​นะโมตัสสะ มักจะถูกยกขึ้นเป็นปฐมพจน์ของการสวดมนต์ เรียกว่า เป็นคำแรกที่เราจะกล่าวถึงพระพุทธเจ้าก่อนคำใด ๆ 

โดยมีการอ้างถึงหลากหลายที่มา ดังนี้ 


ที่มาแรก

ในหนังสือฎีกานะโม

อ้างว่า เทพเจ้า ๕ องค์ คือ สาตาคิรียักษ์ อสุรินทร์ราหู ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ท้าวสักกะ ท้าวมหาพรหม เป็นผู้กล่าว นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ เป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา  โดย

- สาตาคิรียักษ์ เป็นผู้กล่าวคำว่า นะโม
- อสุรินทร์ราหู เป็นผู้กล่าวคำว่า ตัสส
- ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ เป็นผู้กล่าวคำว่า ภะคะวะโต (กล่าวพร้อมกันทั้ง ๔ องค์)
- ท้าวสักกะจอมเทพ คือ พระอินทร์เป็นผู้กล่าวคำว่า อะระหะโต
- ท้าวมหาพรหม ผู้เป็นใหญ่ในพรหมโลกเป็นผู้กล่าวคำว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ

เหตุที่กล่าวก็เพื่อแสดงความนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

ที่มาที่สอง 

พระเทพวิสุทธิเวที วัดมหาพฤฒาราม ให้ข้อสังเกตในหนังสือนโมเทศนาและชัยมงคลเทศนาว่า ตามที่ฎีกานะโม ระบุว่าเทพ ๕ องค์เป็นผู้กล่าวนะโมเป็นคนแรกนั้น ไม่ได้ระบุหลักฐานว่านำมาจากคัมภีร์หรือพระสูตรอะไร และกล่าวที่ไหน เมื่อไร จึงเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือ และสันนิษฐานว่า


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า น่าจะเป็นผู้ทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง โดยทรงบัญญัติบทว่า นะโม นี้ พร้อมกับบท ไตรสรณคมน์ (พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ฯเปฯ) ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ในคราวทรงอนุญาตให้พระอรหันต์สาวกเป็นอุปัชฌาย์ในครั้งแรก เพื่อให้ทำการบวชกุลบุตรเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ ด้วยอุปสมบทวิธี คือ ติสรณคมนูปสัมปทา ในคราวเริ่มประกาศพระพุทธศาสนาครั้งแรก

 

ที่มาที่สาม 

หนังสือธรรมะในพระพุทธมนต์ โดย พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) พระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย 


มีเหตุการณ์การใช้คำว่า นะโม ดังนี้ 

- พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กล่าวธรรมเจติยปริยาย แสดงความเลื่อมใสแล้วเปล่งอุทานว่า นะโม 

- พรหมายุพราหมณ์อยู่ ณ เมืองตักศิลา ฟังคำสรรเสริญพระพุทธคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ส่งอุตตรมาณพศิษย์ผู้ใหญ่ให้ไปสืบดูให้รู้ว่า พระพุทธเจ้าทรงคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงดังคำร่ำลือหรือไม่ เมื่ออุตตรมาณพสืบได้ความจริง แล้วกลับมาเล่าให้ฟัง พรหมยุพราหมณ์ก็เกิดความเลื่อมใส ทันใดนั้นลุกจากอาสนะทำผ้าห่มเฉวียงบ่าประนมมือหันไปสู่ทิศที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่เปล่งวาจาว่า นะโม
- นางธนัญชานีพราหมณ์ผู้เป็นโสดาบัน ในวันที่เลี้ยงพราหมณ์ พราหมณ์ผู้สามีขอให้งดกล่าวคำว่า นะโม นั้นเสีย นางยกภาชนะใส่ข้าวก้าวเท้าพลาดล้มลงและตกใจอุท่านว่า นะโม 

 

ภาพ : Shutter Stock


อานิสงส์การสวดบทนมัสการพระพุทธเจ้า 

1. น้อมใจจนให้เกิดความกตัญญูกตเวที รู้อุปการคุณที่พระพุทธเจ้ามีต่อตน ให้รู้สึกว่าตนได้ดิบได้ดี อยู่เย็นเป็นสุข ไกลทุกข์เดือดร้อน ก็เพราะมีพระพุทธเจ้าสอนไว้ ให้มีใจปฏิบัติตาม
2. ให้รู้สึกว่าได้คบหาสมาคมกับพระพุทธเจ้าด้วยใจ มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของใจ นึกถึงพระพุทธเจ้าครั้งใด พระพุทธเจ้าก็ปรากฏที่ใจทุกครั้ง
3. ให้การปฏิบัตินั้นสำเร็จเป็นปฏิบัติตามพระพุทธองค์ ย่อมได้เป็นผู้เบิกบาน หายงมงาย ชนเหล่าใดระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นสาวกของพระโคดมบรมศาสดา ตื่นอยู่ด้วยดีในกาลทุกเมื่อ
 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow