Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (A Lifelong Learner)

Posted By Plook Teacher | 21 ก.พ. 61
40,477 Views

  Favorite

 

          การเรียนรู้คือการพัฒนาตนเองที่สำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิต การทำงาน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข การเรียนรู้ คือ กระบวนการภายในตัวบุคคลในการได้มาซึ่งความรู้ ทักษะ และเจตคติ ซึ่งบุคคลสามารถเรียนรู้ได้จากการได้ยิน การสัมผัส การอ่าน การถาม ประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยี และ/หรือจากการศึกษาค้นคว้า จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้คือชีวิต เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต ช่วยทำให้บุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิด ทัศนคติ และการกระทำได้ 
 
ภาพ : shutterstock.com

 

          ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต หมายถึง บุคคลที่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาและเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง ครอบครัว องค์กรและชุมชน เห็นคุณค่าตนเองและผู้อื่น นำตนเองในการเรียนรู้ได้ เป็นผู้ใฝ่รู้ รักการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีทัศนคติที่ดี เปิดกว้าง รับฟัง พร้อมเรียนรู้เรื่องราวที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ เป็นผู้รอบรู้และเท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคม สามารถคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง มีอิสระในการคิด รู้วิธีการแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ สามารถละทิ้งและไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา ใช้ความรู้ได้ มีจิตสาธารณะ สนใจเข้าร่วมและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายในสังคม แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ สามารถนำความรู้มาปรับใช้อย่างสอดคล้อง ถูกต้องและเหมาะสมก่อเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นคุณลักษณะของบุคคลที่พึงประสงค์และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ยั่งยืน
 
          ขั้นตอนการพัฒนาไปสู่การเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วย
ขั้นที่ 1 ตระหนักรู้ในปัญหา ความต้องการ และความสนใจของตนเอง
ขั้นที่ 2 กำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง
ขั้นที่ 3 ลงมือปฏิบัติ โดยนำตนเองในการเรียนรู้ มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม รู้และแสวงความรู้ตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
ขั้นที่ 4 ทบทวนตนเอง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต
ขั้นที่ 5 พัฒนาคุณค่าการเรียนรู้ ด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นผ่านช่องทางที่หลากหลายอย่างสม่ำเสมอ
 
          เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน การขยายผลและต่อยอดการเรียนรู้ที่ดีงามต่อไป ทั้งนี้ ในการแสวงหาความรู้ หรือการเรียนรู้นั้น บุคคลสามารถกระทำได้หลายวิธี ได้แก่ การเรียนรู้จากประสบการณ์ การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่กำหนดขึ้นด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ด้วยความตั้งใจ การลงมือปฏิบัติ การเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน จากประสบการณ์การดำเนินชีวิตประจำวัน การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเรียนรู้จากสื่อเทคโนโลยี หนังสือ โทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์ และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ รวมทั้งการเรียนรู้จากสถาบันการศึกษา องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการเรียนรู้จากการตีความ เกิดจากกระบวนการคิดวิเคราะห์จากประสบการณ์เดิมของบุคคล เป็นต้น
 
          การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตครูผู้สอนอาจถ่ายทอดประเด็นดังกล่าวนี้ โดยเริ่มจากการให้ผู้เรียนประเมินตนเอง จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้อธิบายวิธีการในการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายในห้องเรียน และนอกห้องเรียน โดยอาจเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งที่เป็นทางการในเนื้อหาหลักสูตร และ/หรือกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่เป็นทางการตามความต้องการ ปัญหา ความสนใจ และศักยภาพของผู้เรียน การส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยให้ผู้เรียนได้เห็นวิถีชีวิต ตัวอย่างบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จัก และการปฏิบัติจริง วิเคราะห์และประเมินปัจจัยส่งเสริมความสำเร็จของการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการตั้งคำถามชวนคิดให้กับผู้เรียนเพื่อให้เกิดการทำตาม จนผู้เรียนเกิดการยอมรับและพัฒนาตนเอง เกิดเป็นพฤติกรรมและอุปนิสัย และมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้สอนและผู้เรียนมีการสื่อสาร สะท้อนผลการปฏิบัติเป็นระยะๆ มีระบบการกำกับ ติดตาม วัดและประเมินผลการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทั้งนี้ การจะพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตนั่น ครูผู้สอนควรต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย นั่นคือ มีความรู้ รู้จักแสวงหาความรู้ และเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต
 
 
ภาพ : facebook.com/groups/ArtisticalImage

 

 
ตัวอย่างผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช (บรมนาถบพิตร) รัชกาลที่ 9 
          ตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช (บรมนาถบพิตร) รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “ครูแห่งแผ่นดิน” "Teacher of the Land" ที่ถ่ายทอดทั้งความรู้ในเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติ และทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของการเป็นผู้นำตนเองในการเรียนรู้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช (บรมนาถบพิตร) ทรงเป็นกษัตริย์ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง
 
พระราชกรณียกิจ คำสอน และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะการประกอบอาชีพเพื่อความอยู่ดีกินดี และยังทรงให้ความสนพระทัยกับเรื่องครูผู้สอน สาระการเรียนรู้ วิธีการจัดการเรียนการสอน และศักยภาพของผู้เรียน คุณภาพของการจัดการศึกษาตลอดชีวิตโดยรวม ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
ตัวอย่าง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญๆ ที่สะท้อนความเป็นผุ้เรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่
 
          - โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงาน เพื่อศึกษา ทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆ ซึ่งผลการศึกษาสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างในการนำไปปฏิบัติตาม ลักษณะของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1) โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจ เป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร และ 2)  โครงการกึ่งธุรกิจ เป็นโครงการทดลองแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเกษตร มีการจัดผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายในราคาย่อมเยาในรูปแบบที่ไม่หวังผลกำไร แต่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศไทย โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาเป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ ทั้งยังมอบคุณประโยชน์มากมายให้กับพสกนิกรชาวไทย
 
          - โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ เป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตรรวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี จัดเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชผักต่าง ๆ โดยเน้นที่พืชท้องถิ่น มีแปลงสาธิตปลูกข้าวทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว ปลูกยางพารา ซึ่งทั้งหมดนี้จะเน้นไม่ให้มีการใช้สารเคมี หรือหากต้องใช้ก็ต้องมีในปริมาณที่น้อยที่สุด เรื่องของการปศุสัตว์ ก็มีการทดลองทำฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และมีการใช้พลังงานจากทุ่งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโครงการ พร้อมทั้งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นศูนย์การเรียนด้านการปลูกพืชเกษตรในพื้นที่แห้งแล้งอีกด้วย
 
          - ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เน้นเรื่องการแก้ปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม และให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำแก่ราษฎรทั่วไป การทดลองปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพดินการฝึกอบรม การใช้น้ำอย่างประหยัด โดยมีการติดตามผลการนำความรู้ไปใช้ของผู้ผ่านการอบรมอย่างสม่ำเสมอ จัดเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการ และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง และมีการจัดเป็นสถานศึกษาเปิดเพื่อให้บริการแก่ราษฎรที่มีความสนใจเข้าชมและศึกษาด้วยตนเอง 
 
          - โครงการพระดาบสเพื่อสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ยังไม่มีอาชีพ และความรู้พื้นฐานเพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาขั้นสูง เน้นการฝึกวิชาชีพ และฝึกอบรมคุณธรรมศีลธรรมโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เขาเหล่านั้น ออกไปประกอบสัมมาอาชีวะ สร้างตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว และประเทศชาติ เป็นโครงการที่สร้างคนสู่การทำงานอันเป็นผลมาจากการได้รับความรู้ ทักษะ หรือประสบการณ์จากการศึกษา หรือจากกิจกรรมในวิถีชีวิตที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
 
และนอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการศึกษาและเรียนรู้  อาทิ  โครงการจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม โครงการศาลารวมใจ ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยให้ทำหน้าที่เสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้า ทดลองวิจัยและแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้นๆ จะเห็นได้ว่า พระองค์เข้าใจหลักการศึกษาตลอดชีวิตเป็นอย่างดี การจัดการศึกษาตลอดชีวิตมุ่งให้ประชาชน มีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตที่เหมาะสมกับบุคคล อายุ พื้นฐานการศึกษา อาชีพ ความสนใจ และสภาพแวดล้อมของผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้และพัฒนาสังคม ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
 
สรุป การพัฒนาเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นเรื่องจำเป็นและเป็นประโยชน์สำหรับคนทุกวัย เพราะนอกจากจะเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ช่วยประเทืองปัญญา ทำให้มองปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้งและดำเนินชีวิตในสังคมอย่างเท่าทัน ส่งผลให้บุคคลมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว การพัฒนาพลเมืองให้เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนในยุคปัจจุบัน สังคมที่มีผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตจำนวนมากจะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมนั้นๆ ได้อย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ช่วยใหสังคมมีความมั่นคงและยั่งยืน อันนำมาซึ่งความสุขสงบของผู้คนและสังคมโดยรวม
 
รายการอ้างอิง
สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล. (2557). การพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่
ยั่งยืน. ใน สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล (บรรณาธิการ), การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต. หน้า 251-285. กรุงเทพมหานคร : ศูนย์ตำราและเอกสารทางวิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557.
 
ประวัติผู้เขียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล 
สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow