Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เราแพ้แดดได้ด้วยหรือ

Posted By Plook Creator | 16 ก.พ. 61
7,564 Views

  Favorite

อาการแพ้ที่เกิดขึ้นในคนเราไม่ได้เหมือนในเกมการแข่งขัน กีฬา หรือเกมอะไร แต่มันคือการที่ร่างกายของเราทำงานผิดปกติ ซึ่งมาจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากเกินไป จริง ๆ แล้วมันเป็นกลไกทางธรรมชาติที่สร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องทุก ๆ คน ในการหลีกหนีจากสิ่งที่เป็นอันตรายต่าง ๆ โดยการแสดงออกถึงสัญญาณเตือนก่อนที่จะสัมผัสกับสิ่งที่เป็นอันตราย ๆ จริง ๆ

 

ยกตัวอย่างเช่น ร่างกายของเราอาจจะส่งสัญญาณเตือนเมื่อสัมผัสกับต้นไม้บางชนิดซึ่งมีพิษ อาจทำให้เกิดอาการผิวหนังแดง เป็นผื่นคัน ซึ่งเป็นการเตือนเราว่าไม่ควรเข้าใกล้หรือสัมผัสอีก เพราะมันอาจจะมีพิษที่ร้ายแรงกว่านั้นได้หากเราอยู่ใกล้ สัมผัส หรือกินมัน เรื่องเหล่านี้ฟังดูสมเหตุสมผลหากสิ่งเร้าที่ทำให้เราเกิดอาการเป็นภัยต่อเราจริง ๆ แต่ความผิดปกติที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเกิดอาการแพ้ กลับเป็นสิ่งเร้าที่ธรรมดาสามัญ ยกตัวอย่างเช่น ผัก ผลไม้บางชนิด เมล็ดพืช หรือเกสรดอกไม้ ซึ่งล้วนไม่ใช่สารเคมีหรือแร่กัมมันตรังสีที่น่ากลัวแต่อย่างใด


สิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวแต่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ก็คือแสงแดด เราได้รับการบอกเล่าถึงอันตรายจากแสงแดด และประโยชน์ที่จะได้จากการรับแสงแดด แต่มันก็ยังดูก้ำกึ่งสำหรับประเทศเมืองร้อนอย่างประเทศไทย ซึ่งแดดมีความร้อนแรงและทำให้แสบผิว มันอาจจะตะขิดตะขวงใจอยู่บ้างเมื่อมีคนบอกว่าให้ออกไปโดนแดดบ้างเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

 

รายละเอียดที่มากกว่าการโดนแดดบ้างเพื่อความแข็งแรงคือ มันมีช่วงเวลาที่แดดและรังสียูวี (UV) หรืออัลตร้าไวโอเลต (Ultraviolet) ที่ส่งมาจากดวงอาทิตย์จะไม่แรงมาก และร่างกายของคุณสามารถรับเอาแสงไปเพื่อเป็นปัจจัยในการสังเคราะห์วิตามินได้ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมก็คือ ช่วงย่ำรุ่งและย่ำค่ำ ซึ่งแสงให้ความสว่างแต่ไม่แสบตา ไม่แสบผิว และไม่ร้อนจนเกินไป อาการแสบตา แสบผิวเป็นเหมือนสัญญาณเตือนอย่างง่าย ๆ ว่าอะไรปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย แต่แม้ว่าแดดจะทำให้คุณมีความเสี่ยงต่อการผิวคล้ำขึ้น เกิดสิว ฝ้า และกระ ซึ่งหลายคนไม่ชอบ และหากร้ายแรงกว่านั้นคือเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งผิวหนังเนื่องจากรังสียูวีเข้าไปทำให้เกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติในระดับ DNA ได้ และนั่นก็เป็นเหตุผลที่มีผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันรังสียูวีและแสงแดดในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่โลชั่น ครีม แป้ง หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่มีความสามารถในการสะท้อนและป้องกัน

 

SPF ย่อมาจาก Sun Protection Factor ปรากฏอยู่ข้างบรรจุภัณฑ์กันแดด โดยเป็นตัวบ่งบอกถึงความสามารถในการป้องกันแสงแดดและรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมีการแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ กันไป ตัวเลขที่ระบุคือจำนวนเท่าของเวลาที่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีส่วนช่วยให้ผิวสามารถทนต่อรังสีได้หลังการใช้ เทียบจากระยะเวลาที่ผิวของเราสามารถรับมือกับแดดได้โดยไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ดังนั้น หากโดยเฉลี่ยแล้วผิวเราสามารถทนแดดได้ 20 นาที และใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF30 นั่นจะทำให้หลังใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด ผิวหนังเราจะสามารถทนแดดได้เพิ่มอีก 30 เท่าจากปกติ รวมเป็น 600 นาที หรือ 10 ชั่วโมงนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่การคำนวณทางทฤษฎี เพราะความแรงของแสงแดดในแต่ละสถานที่แตกต่างกัน ความร้อนและอุณหภูมิโดยรอบก็มีส่วนทำให้ความสามารถในการรับมือกับแดดเปลี่ยนไป ยังไม่รวมมลภาวะ ชนิดของกิจกรรม การเสียดสี ขัดถู น้ำ และเหงื่อ ที่อาจจะทำให้ครีมหรือโลชั่นซึ่งทาเอาไว้หลุดลอกออกไปอีก จึงมีข้อแนะนำว่าควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง

 

แม้ว่าแสงแดดจะสามารถป้องกันได้โดยใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด แต่สำหรับบางคนแล้ว แสงแดดเป็นเหมือนของแสลง หากพวกเขาโดนเข้ากับแสงแดดจะเกิดอาการผื่น แดง คัน บริเวณผิวที่โดนในทันที และผลิตภัณฑ์กันแดดอย่างครีมหรือโลชั่นต่าง ๆ ก็ไม่สามารถช่วยป้องกันหรือบรรเทาได้ เพราะพวกเขาแพ้แดด

 

Solar Urticaria คืออาการลมพิษแดด ความรุนแรงขึ้นอยู่กับความเข้มของแสงแดดที่ผิวหนังโดนกระทบ ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังจากเริ่มโดนแดด และจนถึงตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถเข้าใจที่มาที่ไป รวมถึงสาเหตุที่อาการของโรคนี้เกิดขึ้นได้ ทำได้แค่เพียงเทียบเคียงว่าอาการลมพิษแดดน่าจะเหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย หากคุณแพ้ถั่วลิสงหรือมีอาการแพ้อาหาร หรือเกสรดอกไม้ แม้ว่ามันจะดูเหมือนกัน แต่อาการแพ้อาหารบางชนิดหรือเกสรจะเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายตรวจพบว่าโมเลกุลบางอย่างที่เข้าสู่ร่างกายนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม แต่สำหรับแดดมันไม่มีโมเลกุลใด ๆ เข้าบุกรุกร่างกาย มันจึงยังเป็นปริศนา บ้างก็ว่าโมเลกุลในเซลล์ภายในร่างกายบางเซลล์เปลี่ยนแปลงรูปร่าง คุณสมบัติ หรือสถานะของมันไปเมื่อโดนแดด และร่างกายต่อต้านโมเลกุลเหล่านั้นจึงเกิดเป็นอาการแพ้


แม้ว่าอาการแพ้แดดจะพบได้น้อยมาก แต่สำหรับคนที่เป็น มีตัวเลือกน้อยมากที่จะทำให้พวกเขาปลอดภัยจากแสงแดด หากไม่สวมเสื้อผ้าหนา ๆ เพื่อป้องกันแดด ก็ต้องอยู่แต่ในที่ร่มภายในอาคาร ซึ่งนั่นไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเลย สำหรับอาการ Solar Urticaria แล้ว พบว่ามีเพียง 0.5% ของประชากรที่มีอาการแพ้เท่านั้นที่เกิดจากแสงแดด นั่นจึงเป็นสัดส่วนที่น้อยมากและก็หวังว่ามันจะยังน้อยต่อไปภายใต้สภาพภูมิอากาศของโลกที่ร้อนขึ้นในทุก ๆ วันแบบนี้

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- ทำไมสัตว์ไม่ต้องทำครีมกันแดด

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow