Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมเด็กแรกเกิดถึงไม่ยิ้มหรือหัวเราะ

Posted By sanomaru | 10 ก.พ. 61
12,485 Views

  Favorite

เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมเด็กแรกเกิดหรือแม้แต่เด็กที่เกิดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว จึงไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะกับคนในบ้าน พวกเขาเอาแต่อ้อแอ้ ร้องไห้ ทำหน้ายับยู่ เวลาที่ไม่สบอารมณ์ เช่น หิวนม ผ้าอ้อมเปียกชื้น หนาวเกินไป หรือร้อนเกินไป นั่นเพราะพวกเขาเป็นเสือยิ้มยาก ไม่ก็ต้องการประกาศความเป็นใหญ่ภายในบ้านให้เราทุกคนเอาใจ ก่อนที่จะยิ้มออกมาให้เห็นอย่างนั้นหรือ

 

ไม่เลย ทารกไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น นอกจากนี้กล้ามเนื้อใบหน้าของพวกเขาก็ยังแข็งแรงและทำงานได้ดีอยู่ รวมถึงไม่ได้มีอาการของพัฒนาการช้าหรือออทิสติกแต่อย่างใดด้วย (เว้นแต่ว่าหลัง 4 เดือนไปแล้ว เด็ก ๆ จะยังคงไม่ยิ้ม ไม่ตอบสนองต่อการพูดคุย ไม่สบตา และไม่ออกเสียง) แต่การที่เด็กแรกเกิดจนถึงประมาณ 4 สัปดาห์ เอาแต่ร้องไห้และแสดงออกถึงอารมณ์อย่างอื่น โดยไม่ยิ้มเพื่อแสดงความสุขเลย นั่นอาจมาจากการทำงานประสานกันของสมองในส่วนความทรงจำ

 

นักประสาทวิทยาตั้งข้อสังเกตว่า โดยธรรมชาติของความสุขแล้วมันสามารถถูกเรียกออกมาจากแแหล่งเก็บความทรงจำ และเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างที่กระตุ้นเตือนให้เรานึกถึงความสุขใจที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เราก็จะรู้สึกมีความสุขและยิ้มออกมา ซึ่งบางทีแล้วเด็กแรกเกิดหรือทารกอาจจะขาดความทรงจำเกี่ยวกับความสุข

 

ทั้งนี้ในงานวิจัยที่มีชื่อเสียงของ Katherine Akers จากมหาวิทยาลัยโทรอนโท พบว่า ในการสร้างหน่วยความจำขึ้นมานั้น เซลล์ประสาทจำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อกันอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งความทรงจำบางประเภทก็อยู่ภายในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) และสำหรับเด็กแรกเกิดหรือทารก กระบวนการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ใน (neurogenesis) สมองส่วนนี้เกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว เมื่อเทียบกับสมองของผู้ใหญ่ที่การสร้างใหม่เป็นไปอย่างช้า ๆ ดังนั้น โครงสร้างของเครือข่ายเซลล์ประสาทของผู้ใหญ่จึงมีเสถียรภาพมากกว่า

 

เพื่อไขข้อสงสัย Akers ได้ทดลองโดยการกระตุ้นกระบวนการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในหนูทดลองที่โตเต็มวัย และพบว่าการกระตุ้นให้สร้างเซลล์ประสาทใหม่อย่างรวดเร็วนั้น ทำให้หนูทดลองที่โตเต็มวัยมีอาการหลงลืมมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ากระบวนการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ที่เร็วเกินไปกระตุ้นให้เกิดอาการหลงลืมในทารก (infantile amnesia) ได้

 

นอกจากนี้ความสุขยังต้องประกอบด้วย ความนึกคิดที่เกี่ยวข้องกับตนเอง รู้ว่าตนเองมีความสุขหรือไม่มีความสุข แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้ว ความรู้สึกส่วนใหญ่ของพวกเขาเป็นเพียงความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น หิว รู้สึกไม่สบายตัว ไม่ใช่การนั่งจิบกาแฟในบรรยากาศดี ๆ หรือการได้รับคำชื่นชม เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ส่วนการสะท้อนความรู้สึกและความปรารถนาออกมาจะเกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อของพื้นที่ในสมองส่วนที่เรียกว่า Default Mode Network (DMN) ซึ่งจะยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ในตอนที่ทารกเกิดมา แต่มันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเด็กเติบโตขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งของการเลี้ยงดูที่ช่วยให้เด็กยิ้มได้ คือ การสัมผัส การกอด การเล่นและพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ มีงานวิจัยจำนวนมากสนับสนุนว่าทารกที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครองของพวกเขา มีการพัฒนาของสมองได้เร็ว มีขนาดสมองที่ใหญ่กว่า และสามารถสื่อสารได้ดีกว่าอีกด้วย ถึงตรงนี้ พ่อแม่และผู้ปกครองจึงควรตระหนักถึงการดูแลเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิดและถูกต้องเหมาะสมกับวัย เพื่อพัฒนาการที่ดีของพวกเขาแล้วละ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow