Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อโหสิกรรม คืออะไร? ทำอย่างไร? พร้อมบทสวดอโหสิกรรม ให้อภัย สร้างพลังบวก ๆ ในชีวิต

Posted By มหัทธโน | 16 ม.ค. 61
101,408 Views

  Favorite


ในชีวิตของคนเราเวลาที่มีความทุกข์ พบกับอุปสรรคต่าง ๆ หลาย ๆ ท่าน ใช้วิธีการสวดมนต์บทต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ ให้มีความคิดดี คิดบวก พร้อมสู้อุปสรรค ซึ่งได้ผลกับหลาย ๆ คน  
 

ในชีวิตของคนเราเวลาที่มีความสุข ได้โชคลาภ เชื่อกันว่า เป็นผลมาจากที่ผลบุญที่ทำมานั้นได้ส่งผล แต่เวลาพบกับความทุกข์ พบกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่ฉุดรั้งชีวิตให้ตกต่ำลงเรื่อย ๆ มีแต่อุปสรรค ก็มีความเชื่อกันว่า อาจจะเป็นวิบากกรรมที่ได้เคยทำไว้แต่ชาติปางก่อนส่งผล  ซึ่งหลาย ๆ ท่าน ใช้วิธีการสวดมนต์บทต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ ให้มีความคิดดี คิดบวก และมีสติ มีสมาธิ พร้อมต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ 

 

หลายคนเชื่อกันว่า การสวดมนต์เจริญภาวนา ช่วยเพิ่มสติ ทำให้จิตมีสมาธิ เมื่อมีสติสัมปชัญญะ จึงเกิดปัญญาทำให้สามารถมีมุมมองแก้ไขปัญหาชีวิต ที่มักเรียกกันว่า แก้ไขเคราะห์กรรม ตัดเวรตัดกรรมได้อย่างถูกวิธี ยิ่งหลังสวดมนต์เจริญภาวนาแล้ว ต่อด้วยการสวดบทอธิษฐานขออโหสิกรรมกับสัตว์โลกทั้งหลายจะช่วยให้จิตใจมีความสบายใจ มีกำลังใจเพิ่มขึ้น พร้อมสู้กับทุกปัญหาที่ต้องเผชิญในชีวิต


บางท่านถึงกับมีความเชื่อว่า เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย ก่อนที่จะกินยาทุกครั้งให้สวดบทอธิษฐานจิต อโหสิกรรมทุกครั้ง จะหายจากโรคภัยอย่างไม่น่าเชื่อ นับว่า เป็นกุศโลบายการให้กำลังใจคนป่วยได้วิธีหนึ่ง 

 

ภาพ : Shutter Stock

 

การขออโหสิกรรมคืออะไร  

อโหสิกรรม คือ กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก ได้แก่ กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ที่เลิกให้ผล เหมือนพืชที่หมดยาง เพาะปลูกไม่ขึ้นอีก
 

คำว่า อโหสิกรรม มาจากคำ ๒ คำ คือ 
- อโหสิ เป็นคำภาษาบาลีแปลว่า “ได้มีแล้ว” หมายความว่า ได้ให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว 
- กรฺม ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า การกระทำ หมายถึง การกระทำที่มีเจตนา 
แปลรวมกันว่า กรรมที่ไม่ส่งผลแก่ผู้กระทำกรรมอีกต่อไป 

 

ในภาษาไทยคำว่า อโหสิกรรม มีความหมายว่า การเลิกแล้วต่อกัน การไม่เอาโทษกัน การเลิกจองเวรกัน 
 

ด้านดีของการอโหสิกรรม

ตามหลักพระพุทธศาสนา เชื่อว่า  

1) กรรมเบาบาง อยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น สำเร็จในชีวิตนี้ และส่งผลชีวิตหน้า 

บุคคลที่ทำกรรมดีหรือกรรมชั่วโดยมีเจตนาในการทำกรรมนั้น จะต้องได้รับผลกรรมตามสมควรแก่การกระทำของตน คนที่ทำร้ายผู้อื่นคนที่คดโกงหรือฉ้อราษฎร์บังหลวงก็จะได้รับผลกรรมนั้น หรือแม้ไม่ได้รับกรรมในชาตินี้ กรรมก็จะติดตามไปส่งผลในชาติหน้า 

แต่กรรมที่ทำไว้นั้นถ้าเป็นกรรมเบาอาจจะไม่ส่งผลก็ได้ หากทำให้กรรมนั้นเป็นอโหสิกรรม 
นั่นคือ ในฐานะที่ชาวพุทธ เมื่อได้ประพฤติล่วงเกินผู้อื่น ก็ควรขอให้ผู้นั้นยกโทษให้ และในทำนองเดียวกันหากมีผู้มาขออโหสิกรรมจากเรา ก็ควรยกโทษให้ ไม่อาฆาต พยาบาท จองเวรกัน เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดความรักใคร่กัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

 

2) อานิสงส์สูง เพราะละการยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ยกระดับก้าวสู่มรรคผลนิพพาน

อโหสิกรรมหรืออภัยทาน-สามารถทำได้จากความเมตตาที่มีอยู่เพียงพอในจิตใจ จึงมีอานิสงส์ใกล้เคียงกับธรรมทาน ที่ถือว่ามีอานิสงส์สูง เพราะเป็นการให้ปัญญา-แสงสว่างเพื่อพัฒนาจิตใจของผู้อื่นให้ก้าวหน้าไปสู่มรรค-ผล-นิพพานในที่สุดต่อไปตามวาสนาบารมีแห่งตน


ที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการตัดอัตตา-ตัวตน การยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความทุกข์กับคนทุกคน ถ้าเรายกโทษ ไม่เอาโทษให้ผู้อื่นได้ เท่ากับเราได้สละตัวตนเราออกไปแล้ว เป็นการเสียสละอันยิ่งใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้เราและผู้อื่นที่เรายกโทษให้เขา ได้ก้าวขึ้นไปสู่อริยมรรค-อริยผล-และพระนิพพานในอนาคตได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น

 

วิธีการขออโหสิกรรม 

1) ด้วยการอโหสิร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างเอ่ยให้อีกฝ่ายรับรู้ด้วยใจ 

ยิ่งทั้งสองฝ่าย มีความหนักแน่น จิตใจคิดอโหสิอย่างบริสุทธิ์ใจเท่าไหร่ ก็ยิ่งขาดจากเวรได้เด็ดขาดเท่านั้น  

มักไม่ใช่จู่ ๆ เดินเข้ามาออกปากอภัยกันดื้อ ๆ ส่วนใหญ่ต้องร่วมสถานการณ์เลวร้ายกันมาระยะหนึ่ง แล้วมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสำนึกได้ จึงชักชวนกันทำดีแก่กัน เช่นพูดจาญาติดีกัน มีใจเห็นภัยของพยาบาทร่วมกัน แล้วจึงปลงใจคิดอโหสิแก่กัน  และต่อมาไม่มีเวรทางกาย วาจา ใจร่วมกันอีกตลอดชีวิต  (เชื่อว่า หากทำได้ระยะยาว นั่นคือ กำลังของเวรจากอดีตชาติพ่ายแพ้ต่อกำลังอโหสิในชาติปัจจุบัน) 
ถ้าเจอกันใหม่ ก็คงเจอด้วยความรู้สึกด้านดี

 

๒) ด้วยการอาศัยสัจจวาจาในการทำบุญร่วมกัน 

คือ เมื่อทำบุญใหญ่ร่วมกันแล้วอ้างบุญใหญ่ที่ทำร่วมกันว่า ทำด้วยใจมีไมตรีต่อกัน ขอให้อานิสงส์ จงช่วยล้างเวรภัยระหว่างกัน หากกำลังบุญนั้นถึงพร้อม (เช่น ถวายสังฆทานกับพระอริยสงฆ์) ก็จะทำให้เกิดความอบอุ่น เบิกบานใจร่วมกัน โดยผ่านพ้นแรงอาฆาตเก่า ๆ ได้ จะรู้สึกกันเดี๋ยวนั้นว่า หมดภัยหมดเวรต่อกันแล้ว

 

๓) ด้วยขอโทษ และมีการยกโทษให้จากใจจริง

เมื่อเกิดการประพฤติล่วงเกินผู้อื่นด้วยกาย วาจา หรือใจ แล้วไปขอให้ผู้ที่เราประพฤติล่วงเกินยกโทษให้ เมื่อท่านยกโทษให้แล้วก็ถือว่ากรรมนั้นเป็นอโหสิกรรม ไม่ให้ผลอีกต่อไปทั้งในชาตินี้และชาติหน้า 

 

ความจริงใจในการอโหสิกรรม

ความสำคัญของความสมัครใจ / ความจริงใจที่จะอโหสิกรรมให้กันนั้น อยู่ที่ความคิดขออภัย ให้อภัย ไม่จองเวรซึ่งกันและกัน ซึ่งพึงระวัง เนื่องจากว่า โดยมากนั้น มักจะเป็นการขออโหสิแบบมีมานะ หรือเจือด้วยโทสะแฝงในใจลึก ๆ 
 
บางท่านเจตนาขออภัย/ขออโหสิจริง ๆ แต่แล้วในวันหนึ่ง เกิดคิดเล็กคิดน้อยขึ้นมาอีกแบบอดไม่ได้ตามประสาปุถุชน จึงมีผลให้การอโหสิกรรมนั้นให้ผลไม่เต็มที่

สามารถขออโหสิกรรมจากได้จากทุกคน  

 

ถ้าขออโหสิกรรม แล้วเค้าไม่อโหสิให้ จะทำอย่างไร ?

ถ้าเราเป็นฝ่ายยกโทษให้หมดอย่างไม่มีเงื่อนไข ให้อภัยจากใจบริสุทธิ์แล้ว หากเขายังมีจิตพยาบาท คิดอาฆาตต่อก็จะเหมือนกับเขาจองเวรกับความว่างเปล่า เพราะขั้วที่จะทำให้วงจรจองเวรขาดไป

ยกตัวอย่างจากชาดก

มีชาติหนึ่ง ที่พระโพธิสัตว์ถูกพระเทวทัตในอดีตจับไปขึงพืด พาพรรคพวกข่มขืนภรรยาต่อหน้า แล้วตัดแขนตัดขาท่านทีละชิ้น ท่านไม่มีใจคิดร้ายตอบเลย แผ่เมตตาให้พวกคนร้ายกระทั่งขาดใจ 
จิตมีกำลังเมตตาถึงฌาน ก็ไปเกิดเป็นพรหม 

เรียกว่าใช้คู่เวรเป็นบันไดสวรรค์ของตนได้

แต่ต่อมาพระเทวทัตก็ยังจองเวรไม่เลิก แต่แม้เริ่มจองเวรกัน พระเทวทัตก็เป็นฝ่ายเริ่มฝ่ายเดียวเท่านั้นด้วย 

ท่านถึงว่าอยู่ในสังสารวัฏแล้วจะหลีกเลี่ยงสิ่งไม่น่าพึงใจนั้น ไม่มีทางเลย


 

ถ้าเราอโหสิกรรมให้เขา โดยที่เขาไม่ทราบ จะสามารถหยุดการผูกเวรต่อกันได้ไหม ?  

 ไม่สามารถหยุดผูกเวรกรรมต่อกันได้ และต่อให้เขาทราบ แต่ถ้าใจไม่ยินดีไปด้วย เวรก็ไม่อาจระงับอยู่ดี ดังกรณีพระพุทธเจ้าและพระเทวทัตที่กล่าวข้างต้น 

 

แต่แง่ดีของการอโหสิให้เขานั้น คือใจคุณเองจะต่างไป ไม่ผูกพันอยู่กับเขาเพื่อความสูญเปล่าอีก   

ภพภูมิที่เหมาะกับผู้ให้อภัย คือภูมิของสัตบุรุษ ส่วนภูมิที่เหมาะกับผู้ไม่สำนึกผิด คือภูมิของอสัตบุรุษ 
ฉะนั้นโอกาสที่สัตบุรุษกับอสัตบุรุษจะโคจรมาพบกันก็ยากขึ้น โอกาสได้รับความเดือดร้อนจากเขาก็น้อยลง

เวรนั้น แม้ไม่สิ้นก็ทำให้เบาบางลงได้ เมื่อให้อภัยเขาอย่างไร้เงื่อนไขได้ชาติหนึ่ง ชาติต่อ ๆ ไปก็จะทำได้อีก และมีแนวโน้มที่จะง่ายขึ้นเรื่อย ๆ และห่างชั้นจากเขาไปเรื่อย ๆ 

 

ภาพ : Shutter Stock


 

บทอธิษฐานขออโหสิกรรม และ การอธิษฐานจิต

(เชื่อว่า มาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี))

จุดประสงค์การสวด เพื่อให้จิตใจมีสติ มีสมาธิตั้งมั่น สบายใจขึ้น และมีกำลังใจเข้มแข็ง นำมาซึ่งปัญญาในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ที่ค้างคาใจ ขอแนะนำให้สวด และขอขมาลาโทษกับเจ้ากรรมนายเวร คนที่สัญญากับคน ๆ นั้นไว้ จะได้หลุดจากบ่วงพรรณการณ์ที่ค้างคา และเดินหน้าต่อไปอย่างราบรื่น มั่นคงและมั่นใจ

 

บทอธิษฐานขออโหสิกรรม บทแรก


"กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง สัญจิจจะกัมมัง
อะสัญจิจะกัมมัง ขะมันตุ เม อะโหสิกัมมัง ภะวะตุ เม."

กรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่ข้าพเจ้าได้ทำล่วงเกินแก่ผู้ใด ทั้งโดยตั้งใจก็ดี ไม่ได้ตั้งใจก็ดี ในภพชาติใดก็ตาม ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงโปรดยกโทษให้เป็นอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้า อย่าได้จองเวรจองกรรมต่อกันอีกเลย


แม้แต่กรรมใดที่ใคร ๆ ทำแก่ข้าพเจ้าก็ตาม ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมให้ทั้งสิ้น ยกถวายพระพุทธเจ้าเป็นอภัยทาน ขอจงดลใจให้เขาเหล่านั้นกลับมีเมตตาจิต คิดเป็นมิตรกับข้าพเจ้า เพื่อจะได้ไม่มีเวรกรรมต่อกันตลอดไป

 

ด้วยอานิสงส์แห่งอภัยทานนี้

ขอให้ข้าพเจ้าพร้อมทั้ง ครอบครัว ตลอดจนวงศาคณาญาติ ผู้มีอุปการคุณของข้าพเจ้า พ้นจากความทุกข์ยากลำบากเข็ญใจความทุกข์อย่าได้ใกล้ ความเจ็บไข้อย่าได้มี ขอได้มีความสุขสวัสดีมีชัย เสนียดจัญไรและอุปัทวันตรายทั้งหลาย จงเสื่อมสิ้นหายไป นึกคิดปรารถนาสิ่งใดที่เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยธรรมแล้ว ขอให้สิ่งนั้นจงพลันสำเร็จ ลงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จเทอญ

 

คำอธิษฐานอโหสิกรรม บทสอง

 

ข้าพเจ้า.....(บอกชื่อ)... ขออโหสิกรรม กรรมใดที่ทำแก่ผู้ใด ในชาติใด ๆ ก็ตาม  ขอให้เจ้ากรรมและนายเวร จงอโหสิกรรมให้กับข้าพเจ้า อย่าได้จองเวรจองกรรมต่อไปเลย  แม้แต่กรรมที่ใคร ๆ ได้ทำกับข้าพเจ้าก็ตาม ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมให้ทั้งสิ้น  และขอยกถวายพระพุทธเจ้าเป็นอภัยทาน เพื่อจะได้ไม่มีเวรกรรมต่อไป 

 

ด้วยอานิสงส์แห่งอภัยทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าและครอบครัว บุตรหลาน ตลอดจนวงศาคณาญาติ  และผู้มีอุปการคุณของข้าพเจ้า จงมีความสุข ความเจริญ ปฏิบัติแต่สิ่งที่ดี และสิ่งที่ชอบด้วยเทอญ.

 

คำขอขมาโทษ (กรรมชั่ว)

กรรมชั่วอันใดที่ข้าพเจ้า.....(บอกชื่อ)... ทำไว้ ด้วยกาย วาจา ใจ ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  คุณบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ เพราะความไม่รู้ เพราะความหลง เพราะความงมงาย  เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอจงโปรดยกโทษ ให้ข้าพเจ้าพ้นจากความทุกข์ยาก ลำบากเข็ญใจ อันตรายทั้งหลาย จงเสื่อมสูญสิ้นไป ข้าพเจ้าปรารถนาสิ่งใดที่ดี ขอให้สมปรารถนา

นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ.    (อธิษฐานตามที่ปรารถนา)

 

 

คำขอขมาและอธิษฐานจิต

(สำหรับอธิษฐานหน้าพระพุทธรูป หรือสวดก่อนนอน)

 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ) 
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง  
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต

 

หากข้าพเจ้า จงใจหรือประมาทพลาดพลั้ง ล่วงเกินบิดา-มารดา ครูบาอาจารย์ พระพุทธ พระธรรม พระอรหันต์ทุกพระองค์ พระอริยสงฆ์เจ้า ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมถึงผู้มีพระคุณ และท่านเจ้ากรรมนายเวร จะด้วยกาย วาจา ใจ  

 

ขอได้โปรดอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าด้วย หากข้าพเจ้ามีเจ้าของในตัวติดตามมา  (ข้าพเจ้าขออนุญาตมีคู่ มีครอบครัวได้เหมือนคนปกติทั่วไป) ขอถอนคำอธิษฐาน คำสาบานที่จะติดตามคู่ในอดีต ขอให้ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระ ข้าพเจ้าจะประพฤติตนในทางที่ถูก ที่ชอบ ที่ควร

 

ขอบุญบารมีในอดีตกาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน  จงส่งผลให้ข้าพเจ้าและครอบครัว ตลอดจนบริวารที่เกี่ยวข้อง จงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ลาภ ยศ สรรเสริญ สติปัญญา ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ อุปสรรคใด ๆ โรคภัยใด ๆ ขอให้มลายสิ้นไป ขอให้ข้าพเจ้ามีความสว่างทั้งทางโลกและทางธรรม ตั้งแต่บัดนี้จนตราบเข้าสู่นิพพานเทอญ

 

ข้าพเจ้าขอถอนคำสัญญา คำสาบาน คำอธิษฐาน ที่ผูกมัดตัวเองและผู้อื่น ขอให้ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระจากสัญญาทั้งปวง (หากข้าพเจ้าหมดอายุแล้ว ข้าพเจ้าขออยู่ต่อเพื่อสร้างบารมี) หากมีผู้ใดเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับข้าพเจ้า ไม่ว่าจะชาติใดภพใดก็ตาม ข้าพเจ้ายินดีอโหสิกรรมให้ ขอถอนความอาฆาต ความพยาบาท และคำสาปแช่งในทุกชาติ ทุกภพ ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากคำสาปแช่งของปวงชนของเจ้ากรรม ขอให้พ้นจากนรกภูมิ และพบแสงสว่างทั้งทางโลกและทางธรรม

 

 

 

 

 

 

แหล่งข้อมูล
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่..“ตัดเวร ตัดกรรม”!! ด้วยบทอธิษฐานขออโหสิกรรม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)ื ทีนิวส์ เรียบเรียงโดย ภัคพิชาณัฐ เหง้าแก้ว สืบค้นจาก http://www.tnews.co.th/contents/345946 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 61
บทอธิษฐานขออโหสิกรรม สืบค้นจาก http://www.watpamahachai.net/mahachai47.htm เมื่อวันที่ 16 มกราคม 61
มหากุศลแรงกล้า!! สวดบทอธิฐานขออโหสิกรรมก่อนนอนทุกคืน “ลดกรรม” ทำให้ “รวย” …ยิ่งสวดยิ่งดี เห็นผลทันตา สืบค้นจาก https://roongee.com/2017/07/28/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A8%E0%B8%A5%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2/ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 61
หนังสือ โพชฌังคปริตร พุทธฤทธิ์ พิชิตโรค
อโหสิกรรม-อภัยทาน สืบค้่นจาก http://www.buddha-dhamma.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&No=273957 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 61
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow