Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไรต้องไปห้องน้ำ

Posted By Plook Creator | 06 ม.ค. 61
16,199 Views

  Favorite

หากคุณยุ่งกับธุระปะปังทั้งวัน การเสียเวลาที่มีค่าของคุณโดยผละจากงานตรงหน้าไปทำอย่างอื่น เช่น ดื่มน้ำหรือกินข้าว คงไม่ใช่เรื่องที่น่าทำนัก รวมถึงการเข้าห้องน้ำซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มักถูกละเลย ถ้าไม่สุดจริง ๆ คุณคงไม่ยอมลุกไปเข้าห้องน้ำ  แต่การอั้นปัสสาวะนั้นส่งผลเสียมากกว่าเพียงแค่ความรู้สึกไม่สบายตัวของคุณ และเมื่อคุณอั้นจนถึงที่สุด คุณก็ต้องรีบวิ่งเข้าห้องน้ำและเสียเวลาเพื่อปลดปล่อยอยู่ดี แล้วทำไมต้องรอ?

 

หากปริมาณน้ำโดยเฉลี่ยที่แต่ละคนต้องดื่มเข้าไปในแต่ละวันคือ 7 แก้ว คนส่วนใหญ่ก็ต้องปัสสาวะอย่างน้อย 4-6 ครั้งต่อวัน แน่นอนว่ามันขึ้นอยู่กับกิจกรรมของแต่ละคนที่ทำในแต่ละวันด้วย หากต้องทำงานอยู่กลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อน ๆ หรือมีการออกกำลังกายเป็นประจำ นั่นล้วนเป็นเรื่องที่ทำให้คุณต้องดื่มน้ำมากขึ้น และน้ำที่ต้องปลดปล่อยออกมาในรูปปัสสาวะก็อาจจะน้อยลงตามอัตราส่วนของความชื้นที่สูญเสียออกจากร่างกายในรูปแบบของเหงื่อ

 

ปัสสาวะหรือฉี่ถูกเก็บเอาไว้ในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder) มันเป็นอวัยวะภายในร่างกายที่อยู่บริเวณท้องน้อย มีลักษณะเป็นวงกลมรี โดยเชื่อมต่อกับอวัยวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายและปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นไต ท่อปัสสาวะ กล้ามเนื้อหูรูด แล้วปัสสาวะคืออะไร มันคือของเหลวที่ไตหรือโรงงานกรองของเสียจากระบบของร่างกายกรองออกมา และรวมตัวกับน้ำเพื่อให้ขับออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น

 

ไตซึ่งมีหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกายนั้น ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงในแต่ละวัน เช่นเดียวกับอวัยวะหลัก ๆ อย่างหัวใจ ตับ ปอด และสมองของเรา โดยปกติแล้วปัสสาวะที่ออกมาจะมีปริมาณหนึ่งลิตรครึ่ง ส่วนประกอบหลักของปัสสาวะคือน้ำ และของเสียหลัก ๆ ที่เราขจัดออกคือ สารประกอบจำพวกยูเรีย ซึ่งเป็นผลผลิตสุดท้ายจากการย่อยโปรตีน แน่นอนว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่กินเนื้อเข้าไปก็ต้องย่อยโปรตีนและปล่อยยูเรียออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ในสัตว์ที่ได้รับน้ำน้อย ไม่ค่อยได้ดื่มน้ำ มักจะขับของเสียหรือฉี่ในรูปแบบที่เป็นก้อนแข็ง เช่น สัตว์ปีกหรือสัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์บางจำพวกก็ขับออกมาในรูปของเหลวที่มีความเข้มข้นสูง เช่น ปัสสาวะของแมวหรือ ของหนูซึ่งมีสีเหลืองเข้มและกลิ่นแรง

ภาพ : Shutterstock

 

ระหว่างที่ไตค่อย ๆ ผลิตหรือกรองเอาปัสสาวะออกมาและส่งต่อไปเก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะไม่ใช่ที่เก็บของเหลวธรรมดา ๆ แต่ล้อมรอบไปด้วยกล้ามเนื้อพิเศษที่เรียกว่า Detruser Muscle เมื่อของเหลวถูกเติมเข้ามาเรื่อย ๆ กล้ามเนื้อดังกล่าวจะคลายตัวออก ทำให้มันสามารถพองได้เรื่อย ๆ หากคุณกลั้นฉี่ไว้นาน ๆ จะรู้สึกได้ว่าท้องน้อยของคุณพองออกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมันจะเต็มไปด้วยน้ำ เมื่อกระเพาะปัสสาวะเต็มหรือเกือบเต็ม และเมื่อนั้นเซลล์ประสาทที่อยู่รอบ ๆ กระเพาะปัสสาวะก็จะส่งสัญญาณไปยังไขสันหลัง ไขสันหลังจะส่งคำสั่งกลับมาที่กระเพาะปัสสาวะให้กล้ามเนื้อ Detrusor บีบตัว และนี่คือเวลาที่คุณต้องหยุดทำงานตรงหน้าและพุ่งตัวไปห้องน้ำได้แล้ว หรือไม่คุณก็ต้องบังคับกล้ามเนื้อหูรูด (External Urethral Sphincter) ซึ่งเป็นปราการด่านสุดท้ายให้หดตัวและปิดกั้นปัสสาวะเอาไว้ และมันก็คือการกลั้นปัสสาวะนั่นเอง
 

แล้วคุณจะกลั้นปัสสาวะไว้ได้มากหรือนานแค่ไหน
 

โดยปกติแล้วความจุของกระเพาะปัสสาวะแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่โดยเฉลี่ยแล้ว หากมีปัสสาวะปริมาณราว 400-500 มิลลิลิตร คุณจะเริ่มรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว และคุณอาจจะกลั้นต่อไว้ได้อีกประมาณหนึ่ง กระทั่งถึงระดับ 1000 มิลลิลิตรหรือ 1 ลิตร ร่างกายจะบอกให้คุณพุ่งตัวไปห้องน้ำในทันที เพราะกระเพาะปัสสาวะไม่อาจจะทนต่อแรงดันจากปริมาณของเหลวที่มีมากเกินไปได้ แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่สูญเสียความรู้สึกปวดปัสสาวะ ปัสสาวะอาจถูกเก็บในกระเพาะปัสสาวะจนมากเกินไปโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว และเกิดการปริหรือแตกออกของกระเพาะปัสสาวะ

ภาพ : Shutterstock

 

อีกครั้งที่ทางสายกลางคือ สิ่งที่ดีที่สุด คุณจำเป็นต้องดื่มน้ำในแต่ละวันให้พอดี เพื่อนำน้ำเข้าสู่ร่างกายให้มากเพียงพอที่จะทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติ ในขณะเดียวกันก็ต้องหมั่นระบายเอาของเสียออกจากร่างกายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ระบบและอวัยวะของคุณทำงานได้อย่างเป็นปกติ ไม่อย่างนั้นโรคต่าง ๆ อาจจะถามหา และมันร้ายแรงกว่าที่คิด มันอาจทำให้คุณเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีการติดเชื้อ เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow