Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ตะคริวเกิดขึ้นได้อย่างไร

Posted By Plook Creator | 03 ม.ค. 61
8,679 Views

  Favorite

พี่ตูนวิ่งจากเบตงไปแม่สาย นอกจากการซ้อมที่ดีและเป็นระบบเพื่อตระเตรียมร่างกายแล้ว สารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอกับพลังงานที่ต้องใช้ในแต่ละวัน ข้อควรระวังที่เหล่านักกีฬา ผู้ใช้แรงงาน รวมถึงพี่ตูนและทีมงานที่ต้องวิ่งเป็นระยะทางไกลกว่า 2191 กิโลเมตรต้องเฝ้าระวังคือ อาการตะคริว (Muscle Cramp) หรืออาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อจับตัวเป็นก้อนแข็ง มีอาการปวด โดยเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน

ภาพ : Shutterstock

 

โดยปกติแล้วตะคริวจะเกิดขึ้นเอง และหายไปเองเมื่อกล้ามเนื้อหรือร่างกายได้พัก ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลายมัดก็ได้ และมักเกิดกับการทำกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อเป็นเวลานานอย่างการเดิน วิ่ง เล่นกีฬา หรือแม้แต่นั่งพักหรือนอนเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้


ร่างกายของเรามีกล้ามเนื้ออยู่ 3 ประเภท ได้แก่
1. กล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeletal muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ อยู่ติดกับเอ็นและกระดูก โดยสมองสามารถบังคับให้ขยับหรือเคลื่อนไหวได้ตามใจ ยกตัวอย่างเช่น กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา และด้วยลักษณะที่เป็นลาย เราจึงเรียกว่ากล้ามเนื้อชนิดนี้ว่า กล้ามเนื้อลาย (Striated muscle) ได้ด้วย
2. กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ ร่างกายของเราบังคับให้มันทำงานอย่างเป็นระบบด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่แล้วคือกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในร่างกาย ที่คอยควบคุมการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น หลอดอาหาร หลอดเลือด การขยับของกระเพาะและลำไส้ การเปิดปิดของหูรูดระหว่างลำไส้และกระเพาะ
3. กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจเช่นกัน แต่มีความสามารถในการเคลื่อนที่หรือกระตุกอย่างเป็นจังหวะและทำให้หัวใจเต้น

ภาพ : Shutterstock

 

การเกิดตะคริวจะเกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อลาย โดยตะคริวแบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามสาเหตุการเกิด คือ ประเภทที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic cramp) และแบบที่ทราบสาเหตุ (Secondary cramp) ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดตะคริว แต่การศึกษาพบว่าอาจเกิดจากกล้ามเนื้อที่อ่อนล้าจากการใช้งานหนัก เช่น พี่ตูนที่ต้องวิ่งเป็นระยะทางยาว 50-60 กิโลเมตรในแต่ละวัน อย่างต่อเนื่องทั้งวัน และหลายวันติดต่อกัน รวมถึงการที่กล้ามเนื้อขาดการยืด (Stretching) อย่างพอเพียง และนั่นแปลว่า สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรงพอ กล้ามเนื้อถูกใช้งานมากเกินกว่าขีดจำกัดที่เคยใช้ เช่น หากคุณไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอและเป็นประจำ และจำเป็นต้องไปวิ่งกับพี่ตูนเป็นระยะทางกว่า 60 กิโลเมตรในวันรุ่งขึ้น กล้ามเนื้อของคุณก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นตะคริว

 

การสูญเสียสมดุลของเกลือแร่ที่ใช้ในการทำงานของกล้ามเนื้อก็เช่นกัน จะทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการหดตัวอย่างไม่สมดุล และเกิดตะคริวได้ในที่สุด และนี่ก็เป็นสาเหตุที่เราจำเป็นต้องได้รับเกลือแร่ทดแทนระหว่างออกกำลังกายอย่างหนัก เพื่อชดเชยโพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียม ที่เราเสียไปพร้อมกับเหงื่อระหว่างออกกำลังกาย หรือการสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรงจากอากาศร้อนหรือท้องร่วงเอง ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนของร่างกายเกิดตะคริวได้เช่นกัน

ภาพ : Shutterstock


แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วตะคริวจะสามารถหายไปได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสามารถหาสาเหตุได้ เช่น การขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ หรือการใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก เราก็จะสามารถแก้ปัญหาได้โดยการดื่มน้ำผสมเกลือแร่หรือพักผ่อน ก็จะทำให้อาการหายไปได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นตะคริวชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ ตะคริวเกิดขึ้นเมื่อนอนพักหรือนั่งพักเป็นเวลานาน จำเป็นต้องได้รับการตรวจและรักษา โดยแพทย์จะตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง รวมถึงอาจให้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการตะคริวและรักษาได้อย่างตรงจุดต่อไป

 

 

ภาพ : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow