Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน

Posted By Plookpedia | 26 ธ.ค. 59
1,499 Views

  Favorite
ปะการังเขากวาง ภาพโดย นิพนธ์ พงศ์สุวรรณ
ปะการังรังผึ้ง ภาพโดย นิพนธ์ พงศ์สุวรรณ
การเคลื่อนที่ของหอยแครงบนพื้นเลน
ปูก้ามดาบขณะโผล่จากรูเพื่อหาอาหาร
ปลิงทะเลที่กินอินทรียสารบนพื้นท้องทะเลภาพโดย นิพนธ์ พงศ์สุวรรณ

ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน 

ลักษณะพื้นท้องทะเลที่เป็นพื้นดินเลนที่อ่อนนุ่ม หรือพื้นหินแข็ง เป็นแนวปะการัง และขนาดของดินตะกอน จัดเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ยิ่งสำหรับสัตว์ทะเลหน้าดิน โดยเฉพาะความสำคัญในแง่ปริมาณอาหาร ปริมาณออกซิเจน และการซึมของน้ำในดิน พบว่าปริมาณอินทรียสารจะ สูงในบริเวณที่เป็นดินโคลนและทรายละเอียด สัตว์ทะเลแต่ละชนิดจะเลือกอยู่ในบริเวณที่มีขนาดของดินตะกอนที่พอเหมาะ เช่น บริเวณหาดทรายนั้น สัตว์มักจะเลือกอยู่บริเวณทรายละเอียด ประมาณ ๐.๑๕-๐.๒๖ มิลลิเมตร และเป็นทรายที่มีขนาดเม็ดทรายใกล้เคียงกัน ความร่วนซุยของดินทราย ก็มีความสำคัญ สำหรับสัตว์ทะเลหน้าดิน ถ้าดินทรายละเอียดเกินไป จะจับตัวกันแน่นมาก ยากแก่การฝังตัวของสัตว์ทะเลหน้าดิน

หอยนางรม เพรียงหิน ปะการัง และหอยแมลงภู่ จัดเป็นพวกสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่เกาะติดกับที่ โดยที่สัตว์สามชนิดแรกมีส่วนที่ช่วยยึดตัวมันติดกับพื้น เป็นสารพวกหินปูน ส่วนหอยแมลงภู่ อาศัยเส้นใยเหนียวที่เรียกว่า เกสรหอย ช่วยยึดตัวมันกับพื้น หอยฝาชี หรือหอยหมวกเจ๊กที่พบอยู่ตอนบนของหาดหิน ก็สามารถยึดตัวมันเองให้แน่นกับก้อนหิน โดยใช้ส่วนเท้าที่มีขนาดใหญ่ และแข็งแรงของมัน นอกจากนี้มันยังปล่อยเมือกเหนียว ออกมาช่วยยึดตัวมันเองด้วย ลิ่นทะเล และหอยเป๋าฮื้อ ก็เช่นเดียวกัน ที่ใช้ส่วนเท้าที่แข็งแรง ยึดตัวมันเองกับพื้นหิน สัตว์ทะเลหน้าดินหลายชนิด จะยึดเกาะกับพื้นบางช่วงขณะ และจะคืบคลานหากินไปตามพื้น เช่น พวกหอยหมวกเจ๊ก ลิ่นทะเล และหอยเป๋าฮื้อ นอกจากนี้พวกดอกไม้ทะเล ก็จะมีส่วนปลายสุดของลำตัวที่แผ่ออกใช้ยึดเกาะกับพื้น มันสามารถขยับตัวเคลื่อนย้ายไปมาได้ เช่นเดียวกับ ดาวขนนก ความแรงของกระแสน้ำและคลื่น จะเป็นตัวกำหนดรูปร่างของสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่เกาะอยู่ตามพื้น ในบริเวณที่มีคลื่นแรงจะมีพวกสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่มีเปลือกหนาแข็งแรงอยู่ได้ เช่น ลิ่นทะเล และเพรียงหิน เป็นต้น ในบริเวณที่คลื่นสงบ มักจะเป็นที่อยู่ของพวกที่ค่อนข้างเปราะบาง เราจะเห็นได้ชัดเจน ในพวกปะการัง พวกที่มีกิ่งก้านมักจะอยู่ในบริเวณที่คลื่นสงบ ส่วนพวกที่เป็นก้อนกลุ่มใหญ่ จะขึ้นได้ดีบริเวณที่รับคลื่นหรือกระแสน้ำ สัตว์ทะเลหน้าดิน ที่ไม่มีส่วนยึดเกาะ มักจะหลบซ่อนอยู่ตามซอกหิน หรือรอยแยกในหิน เช่น พวกหอยเม่น หอยเม่นบางชนิด จะใช้หนามแหลมของมัน กัดกร่อนพื้นหิน ให้เป็นแอ่ง เพื่อตัวมันจะลงไปอยู่ในแอ่งดังกล่าว เป็นการป้องกันตัวมันไม่ให้ถูกคลื่นซัดพาไป 

ปูก้ามดาบ ปูลม หอยเสียบ และไส้เดือนทะเล จัดเป็นพวกสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่ขุดรูฝังตัว อยู่ในพื้นท้องทะเล เวลาที่หอยเสียบ จะฝังตัวเองลงในพื้นทราย มันจะทำการสำรวจพื้นทรายก่อน แล้วจึงใช้ส่วนเท้าแทรกลงดิน ลักษณะฝาหอยเสียบ จะตั้งขึ้น ทำให้มีน้ำหนักกดลงบนส่วนเท้า ที่แทรกลงดิน ส่วนเท้าจะขยายใหญ่ และแผ่ออก ในดิน ดึงส่วนฝาและตัว ให้ลึกลงไปในดิน ปูก้ามดาบ และปูลม จะขุดรูฝังตัวเองในดิน รูของมันมีลักษณะเฉพาะ อาจมีทางออกได้หลายทาง ปูก้ามดาบ จะเอาก้อนดินอุดปากรูของมันแน่น ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไป ในขณะที่น้ำขึ้น รูปูมักจะขุดลึกลงไป ถึงระดับน้ำใต้ดิน ทั้งนี้เพื่อให้ปูวิ่งลงไปแช่ตัว ให้ชุ่มชื้นได้ ยามที่น้ำลง และอากาศร้อนจัด ไส้เดือนทะเลหลายชนิด จะขุดรูแบบถาวร เป็นรูปตัวอักษรตัวยู และฝังตัวอยู่ภายใน บางชนิดจะใช้กรวดทราย ตลอดจนเศษใบไม้ตกแต่งรูของมัน

สัตว์ทะเลหน้าดินบางชนิด จะอาศัยอยู่ภายในก้อนหิน แนวปะการัง หรือเนื้อไม้ โดยการเจาะไชเข้าไปอยู่ภายใน การเจาะไชของสัตว์กลุ่มนี้ อาศัยการกัดกร่อนพื้นผิว และสารเคมี ที่มันปล่อยออกมา จะช่วยในการละลายพื้นผิว ที่มันเจาะไชเข้าไปอยู่อาศัย ฟองน้ำ หอยเจาะ ในแนวปะการัง และหนอนถั่ว เป็นตัวอย่างของสัตว์ทะเลกลุ่มนี้ การเจาะไชอาจไม่ใช่ เพื่อการเข้าไปอยู่อาศัยอย่างเดียว อาจจะเนื่องมาจากการล่าเหยื่อด้วย เช่น ในกรณีของหอยกระแจะ หรือหอยมะระ ที่ชอบกินหอยนางรม และเพรียงหิน สัตว์ทะเลหน้าดินบางชนิด จะอาศัยอยู่ในตัวของสัตว์อื่น เช่น ไส้เดือนทะเลบางชนิด ที่อาศัยอยู่กับปูเสฉวน โดยอาศัยอยู่ภายในเปลือกเดียวกัน ไส้เดือนทะเล จะเคลื่อนที่ไปยังบริเวณต่างๆ ตามปูเสฉวน นอกจากนี้ยังได้เศษอาหารที่เหลือจากปูอีกด้วย การอยู่ร่วมกันในลักษณะดังกล่าว พบมากในทะเล สืบเนื่องมาจาก การหาที่อยู่อาศัย และการป้องกันตัวมันเองจากศัตรู 

เราได้เห็นแล้วว่าพื้นท้องทะเลมีความสำคัญอย่างไรต่อสัตว์ทะเลหน้าดิน แต่ถ้าเรามองย้อนในมุมกลับบ้าง เราก็จะเห็นว่า สัตว์ทะเลหน้าดินนั้น มีความสำคัญ คือ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น บริเวณพื้นท้องทะเล การรบกวน หรือการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในลักษณะที่ทำให้เกิดการกวนผสมกันของดินตะกอน ขนาดต่างๆ หรือทำให้เกิดการแยกขนาดของดินตะกอนออกมา โดยกิจกรรมของสัตว์ทะเล เราเรียกว่า ไบโอเทอร์เบชัน (Bioturbation) กิจกรรมของสัตว์ทะเล ที่เป็นตัวการสำคัญ ในการทำให้เกิดการรบกวนพื้นท้องทะเล ได้แก่ การขุดรูฝังตัว และการกินอาหาร หรือล่าเหยื่อ ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของพื้นท้องทะเล ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่พบเสมอ ได้แก่ การที่ดินบริเวณนั้น มีการจับตัวกันแน่นขึ้น เนื่องจากมีการยึดดินตะกอนขนาดต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยการที่สัตว์ทะเลปล่อยสารเหนียวบางอย่างมาช่วยยึดอนุภาคของดินตะกอนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นรูที่อยู่อาศัย หรือสร้างปลอกหุ้มตัว นอกจากนี้จะมีพวกของเสีย หรืออุจจาระที่ขับถ่ายออกมา เป็นก้อนเล็กๆ รวมตัวกันอีก การเจาะไชของสัตว์ทะเลหน้าดินในแนวปะการัง หรือบริเวณหาดหิน ทำให้เกิดการสึกกร่อนของหินเร็วขึ้น การขูดขีด เพื่อหาอาหารบริเวณผิวของหาดหิน และการฝังตัวในหิน ทำให้หินแตกหักหรือกร่อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะบริเวณที่น้ำท่วมถึง หรือได้รับอิทธิพลของคลื่นลม กิจกรรมการขุดรูของสัตว์ทะเลหน้าดิน ทำให้ปริมาณออกซิเจนและน้ำ จากบริเวณผิวหน้าดิน สามารถซึมไหลเวียนลงไปสู่ดินชั้นที่ลึกลงไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow