Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ชนิดของสัตว์ทะเลหน้าดิน

Posted By Plookpedia | 26 ธ.ค. 59
2,670 Views

  Favorite
ทัศนียภาพบริเวณทะเลสาบสงขลา
หญ้าชะเงาเต่า ภาพโดย สมบัติ ภู่วชิรานนท์
หอยกะพงที่รวมกลุ่มบริเวณหาดเลน
สัตว์ทะเลหน้าดินกลุ่มแมคโครฟัวนา : ปลาดาวในแนวปะการัง ภาพโดย นิพนธ์ พงศ์สุวรรณ
หอยเม่นหัวใจในแนวปะการัง ภาพโดย ASHLEY BOYD
แมลงสาบทะเลตอนบนของหาด

ชนิดของสัตว์ทะเลหน้าดิน

เราพบสัตว์ทะเลหน้าดินกระจายอยู่ทั่วไป ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งที่เป็นหาดหิน หาดทราย และหาดโคลน ไปจนถึงเขตเอสทูรี ซึ่งเป็นเขตน้ำกร่อยลงไปจนถึงเขตทะเลลึก ในแต่ละเขต เราจะพบกลุ่มสัตว์ทะเลหน้าดินที่มีลักษณะการปรับตัว เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งจัดเป็นลักษณะเฉพาะในแต่ละเขต การแบ่งชนิดของสัตว์ทะเลหน้าดิน นิยมแบ่งได้ตามที่อยู่อาศัย ตามขนาด และตามลักษณะการกินอาหาร 

การแบ่งกลุ่มของสัตว์ทะเลหน้าดินตามที่อยู่อาศัยนั้น เราอาจแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ 

๑. กลุ่มสัตว์ทะเลหน้าดินที่อาศัยอยู่บนพื้นท้องทะเล (Epifauna) ซึ่งพื้นท้องทะเลดังกล่าว อาจเป็นพื้นหาดหิน หาดทราย หาดโคลน ป่าชายเลน ระบบนิเวศหญ้าทะเล หรือแนวปะการัง สัตว์ทะเลหน้าดินกลุ่มนี้ มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก พบตัวแทนเกือบทุกไฟลัม นับตั้งแต่โปรโตซัว ไปจนถึงพวกที่มีกระดูกสันหลัง เช่น ปลาหน้าดิน ที่อาศัยหากินตามพื้นท้องทะเลด้วย 

๒. กลุ่มสัตว์ทะเลหน้าดินที่อาศัยฝังตัว หรือขุดรูอยู่ภายใต้พื้นทรายและโคลน (Infauna) เช่น พวกไส้เดือนทะเล พวกปู และพวกหอยสองฝาบางชนิด เช่น หอยแครง และหอยลาย เป็นต้น 

นอกจากเราจะแบ่งสัตว์ทะเลหน้าดินออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ข้างต้นแล้ว เรานิยมแบ่งออกตามลักษณะระบบนิเวศ ที่พบสัตว์ทะเลหน้าดินเหล่านี้ เช่นบริเวณเขตน้ำขึ้นน้ำลง (Intertidal zone) เขตนี้จะเป็นเขตที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง และคลื่นลมอย่างชัดเจน บริเวณดังกล่าว จะโผล่พ้นน้ำบางช่วง ในขณะน้ำลง และจะจมอยู่ใต้น้ำ ในขณะน้ำขึ้น ดังนั้นทุกช่วงเวลาในแต่ละวัน ที่มีน้ำขึ้น และน้ำลง บริเวณนี้จะจมอยู่ใต้น้ำ และโผล่พ้นน้ำเป็นช่วงๆ สัตว์ทะเลหน้าดินในบริเวณนี้ จะต้องมีการปรับตัวให้ดำรงชีพอยู่ได้ในสภาวะดังกล่าว ในขณะที่น้ำขึ้นนั้น สัตว์ทะเลจะต้องปรับตัวกับความแรงของคลื่นที่เข้ามากระแทก และสภาพที่จมอยู่ใต้น้ำ ในยามที่น้ำลง มันจะต้องเผชิญกับสภาพอุณหภูมิสูง แสงแดดแผดเผา และปริมาณน้ำจืด ที่ไหลลงบริเวณนี้ สัตว์ทะเลหน้าดิน ที่อาศัยอยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลงนี้ มักมีการปรับตัวในช่วงกว้าง สามารถทนทานได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูม ิและความเค็มของน้ำ สัตว์ทะเลหน้าดิน ที่พบอยู่บริเวณหาดหิน มักจะต้องทนได้ดี ต่อแรงกระแทกของคลื่นลม ตลอดจนแรงเสียดสีของกรวดทรายต่างๆ ที่น้ำพัดพามา นอกจากนี้ บางช่วงมันจะต้องอยู่ในสภาพที่โผล่พ้นน้ำ สัมผัสกับอากาศโดยตรง เช่น พวกหอยแมลงภู่ หรือหอยกะพง ที่เราพบเกาะตามก้อนหินอยู่เสมอ พวกนี้มักเกาะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ มันมีเส้นใยเป็นกลุ่ม ช่วยยึดตัวมันเองกับก้อนหิน ป้องกันไม่ให้ตัวมันถูกพัด โดยคลื่นและกระแสน้ำ เส้นใยนี้อยู่ใกล้กับเท้า ที่ยื่นออกมาของหอย ชาวบ้านมักเรียกว่า "เกสรหอย" นอกจากนี้ ทั้งหอยแมลงภู่ และหอยกะพง มีเปลือกหนา สามารถปิดฝาเปลือกได้แน่น ในขณะที่น้ำลง ทำให้มันสามารถรักษาความชื้น ภายในตัวได้นาน จนกว่าน้ำจะขึ้นท่วมตัวอีกครั้งหนึ่ง ในเวลาน้ำขึ้น มันจะจมอยู่ใต้น้ำ และสามารถหากิน และหายใจได้อย่างอิสระ หอยสองฝาพวกนี้ ใช้อวัยวะส่วนเหงือก ในการกรองอาหารของแพลงก์ตอนพืชจากมวลน้ำ มันใช้เหงือกในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนด้วย กลุ่มของหอยแมลงภู่ และหอยกะพง ยังเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์เล็กๆ อื่นๆ ด้วย เช่น พวกปูหิน หรือไส้เดือนทะเล บริเวณหาดทรายก็เช่นกัน จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคลื่น สัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ จะต้องปรับตัวให้อยู่ภายใต้สภาวะคลื่น ที่ซัดไปมา และบริเวณพื้นทราย ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พวกที่สามารถปรับตัวอยู่ได้ดี เช่น หอยเสียบ หรือจักจั่นทะเลนั้น จะใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนที่ของคลื่น และการเคลื่อนตัวของทราย โดยลอยตัวไปยังที่ต่างๆ ด้วยคลื่นและกระแสน้ำ พวกนี้สามารถฝังตัวลงในพื้นทรายได้อย่างรวดเร็ว เพื่อหลบหลีกสภาวะที่ไม่เหมาะสม บริเวณหาดทรายนั้น จะมีสัตว์ทะเลหน้าดินน้อยชนิด ที่สามารถปรับตัวได้ดี และอาศัยอยู่ได้ อย่างไรก็ตามคลื่นกระแสน้ำในบริเวณนี้ ได้นำพาซากอินทรียสาร ตลอดจนสาหร่าย และซากสัตว์น้ำต่างๆ มาตกสะสม เพื่อเป็นอาหาร ที่โอชะ สำหรับสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้

การแบ่งชนิดของสัตว์ทะเลหน้าดินอาจ แบ่งตามขนาด ซึ่งมีการแบ่งได้หลายแบบ แล้วแต่ผู้ที่ทำการศึกษาเป็นผู้กำหนด ช่วงขนาดที่นิยมมาก เป็นระบบอเมริกัน ดังต่อไปนี้ 

๑. กลุ่มแมคโครฟัวนา (Macrofauna) 

หมายถึง พวกที่มีขนาดตั้งแต่ ๒ มิลลิเมตรขึ้นไป สัตว์ทะเลหน้าดิน โดยทั่วไป เช่น หอย กุ้ง ปู และไส้เดือนทะเล จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีการศึกษามากที่สุด เพราะมีขนาดใหญ่พอสมควร สามารถสุ่มวัดได้ง่าย 

๒. กลุ่มไมโครฟัวนา (Microfauna) 

หมายถึง พวกที่มีขนาดตั้งแต่ ๐.๕-๑.๒ มิลลิเมตร มักมีการศึกษากันน้อย เช่น ไส้เดือนทะเล และหนอนตัวกลม เป็นต้น ต้องมีวิธีการเก็บตัวอย่าง และวิธีการศึกษาโดยเฉพาะ 

๓. กลุ่มไมโอฟัวนา (Meiofauna) 

หมายถึง พวกที่มีขนาดเล็กกว่า ๐.๕ มิลลิเมตร จนถึง ๖๓ ไมครอน กลุ่มนี้ก็มีการศึกษาน้อยด้วย สาเหตุเดียวกับกลุ่มไมโครฟัวนา แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า สัตว์ทะเลหน้าดินที่มีขนาดเล็กทั้งสองกลุ่มนี้ จะมีบทบาทในระบบนิเวศทางทะเลน้อยกว่าสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่มีขนาดใหญ่ สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็กเหล่านี้ เราพบว่า มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกับ จุลชีพ ในการย่อยสลายของอินทรียสาร ในทะเล เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับสัตว์ทะเล นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการเร่งให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหาร ในทะเลได้เร็วขึ้น สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็กเหล่านี้ เป็นอาหารที่สำคัญ สำหรับสัตว์น้ำและปลาชนิดต่างๆ ในทะเล หนอนสายพาน หรือหนอนตัวกลมบางชนิด ถึงแม้ตัวมันมีขนาดเล็ก แต่มันสามารถกัดกินเหยื่อในทะเลได้อีกด้วย 

เราอาจแบ่งกลุ่มของสัตว์ทะเลหน้าดินออก ตามลักษณะการกินอาหารของมัน ซึ่งจะสัมพันธ์กับลักษณะพื้นท้องทะเลที่มันอาศัยอยู่ด้วย 

๑. พวกที่กินพืชเป็นอาหาร (Herbivores) 

ตัวแทนที่สำคัญ ได้แก่ พวกหอยฝาเดียว และพวกหอยเม่น พวกนี้จะมีฟัน สำหรับแทะสาหร่าย หรือพืชขนาดเล็กที่เกาะตามพื้นหิน 

๒. พวกที่กินสัตว์เป็นอาหาร (Carnivores) 

ตัวแทนที่สำคัญ ได้แก่ หอยฝาเดียวบางชนิด เช่น หอยกระแจะ หรือหอยมะระ ที่ชอบเจาะไชกินหอยนางรมและเพรียงเป็นอาหาร ปลาดาวหลายชนิด ชอบกินหอยสองฝา และปูทะเล 

๓. พวกที่กรองอาหารจากมวลน้ำ (Filter feeders) 

พวกนี้มีอวัยวะสำหรับกรองพวกแพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์ จากมวลน้ำ อวัยวะที่ใช้กรองอาหาร อาจเป็นหนวด รยางค์ส่วนปาก หรือส่วนเหงือก ตัวอย่างสัตว์กลุ่มนี้ ได้แก่ หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยกะพง และจักจั่นทะเล 

๔. พวกที่กินอินทรียสารเป็นอาหาร 

พวกนี้แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้อีก คือ พวกที่ดำรงชีพ โดยการกินซากพืชซากสัตว์ (Scavengers) เท่านั้น เช่น พวกแมลงสาบทะเล พวกปูก้ามดาบ เป็นพวกที่กัดกินซากพืชซากสัตว์ หรือกินพวกบัคเตรี และจุลชีพบนอินทรียสาร (Detritus feeders) พวกปลิงทะเล จะกินอินทรียสาร ที่อยู่ในดินเป็นอาหาร (Deposit feeders) โดยอาจกินกรวดทรายเข้าไปในตัว และมีกระบวนการย่อย และดูดซึมเฉพาะ อินทรียสารไว้ และถ่ายกรวดทรายออกมาในรูปของอุจจาระ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow