Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไม้ล้มลุก

Posted By Plookpedia | 25 ธ.ค. 59
2,512 Views

  Favorite
ดอกมหาหงส์
ดอกพลับพลึงขาว

 

ไม้ล้มลุก

โดยทั่วๆ ไป ไม้ประดับที่มีดอกสวยงาม เด่น สะดุดตา เป็นที่นิยมปลูก ทั้งตามบ้านเรือน และสวนสาธารณะ มักเป็นไม้ล้มลุก เช่น บานชื่น หงอนไก่ ดาวกระจาย บานไม่รู้โรย ฯลฯ ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้จากต่างประเทศ แต่ไม่มีกลิ่น ส่วนไม้ท้องถิ่นมีค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะพวกที่ดอกหอม ชนิดที่นิยมปลูกกันแพร่หลาย เช่น มหาหงส์ และพลับพลึง เป็นต้น 

มหาหงส์ (Hedychium coronarium Roem.)

มหาหงส์เป็นพันธุ์ไม้พวกเดียวกัน ขิง ข่า และขมิ้น อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ หรือตามชายป่าใกล้ลำธาร พบขึ้นมากในภาคเหนือ มีชื่ออื่นๆ ได้แก่ หางหงส์ กระทายเหิน ตาห่าน เหินแก้ว และเหินดำ ขยายพันธุ์โดยใช้เหง้า ส่วนที่อยู่เหนือดิน เป็นลำตรง สูง ๑-๒ ม. ใบจากโคนมีขนาดเล็ก และเรียงห่างๆ กัน ใบถี่ตรงใกล้ยอด รูปขอบขนานปลายแหลม หรือมนเล็กน้อย ยาว ๒๐-๓๐ ซม. กว้าง ๗-๑๐ ซม. ดอกออกที่ยอดเป็นช่อสั้น มีใบประดับสีเขียว รูปคล้ายเรือเรียงเป็นกระจุก ดอกมันจะบานครั้งละ ๑-๓ ดอก ดอกสีขาวล้วน ขนาดประมาณ ๗ ซม. โคนเป็นหลอดเล็ก ยาว ดอกมีกลิ่นหอมเย็น ผลเป็นรูปรีขนาดประมาณปลายนิ้ว แตกเป็น ๓ พู ในธรรมชาติบานในช่วงฤดูฝน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ขึ้นได้ดีทั่วประเทศ เหง้าใช้เป็นสมุนไพรได้ 

พลับพลึง (Crinum asiaticum Linn.)

พันธุ์ไม้ที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า พลับพลึง นั้น มีหลายชนิด แต่มักจะมีคำต่อท้าย เช่น พลับพลึงแดง (Crinum amabile Donn.) พลับพลึงตีนเป็ด (C. littoralis Salisb.) ซึ่ง ๒ ชนิดหลังนี้ เป็นพันธุ์ไม้จากต่างประเทศ พลับพลึงที่เป็นของท้องถิ่นเอเชียชนิดนี้ ขึ้นเป็นกอสูง ๑-๑.๕ ม. มักจะเห็นแต่ใบที่กระจายเป็นพุ่ม ลำต้นอยู่ใต้ดิน ส่วนที่เห็นเป็นลำเหนือดินส่วนใหญ่เป็นกาบใบที่หุ้มซ้อนกัน ใบเป็นแถบยาวประมาณ ๑ ม. กว้าง ๑๐-๑๕ ซม. กลางใบด้านหลังเป็นสัน ใบหนาแต่ไม่แข็งปลายแหลม ช่อดอกเกิดตรงซอกใบมีก้านช่อใหญ่และอวบ ดอกเป็นกระจุกที่ปลายช่อมีจำนวนมาก ดอกรอบนอกบานก่อนดอกตรงกลางช่อ ขนาดดอกประมาณ ๑๕ ซม. ส่วนโคนกลีบเชื่อมเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑๒ ซม. ปลายแยกเป็นแถบแคบๆ ๖ แฉก สีขาวล้วน เกสรเพศผู้เรียงสลับกับกลีบเป็นเส้นสีม่วงแดง ดอกหอม ออกดอกทยอยแต่ละต้นในกอไปเรื่อยๆ พลับพลึงเป็นพันธุ์ไม้ที่นิยมปลูกกันมากอีกชนิดหนึ่ง ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ ปลูกเลี้ยงได้ง่าย และยังนำใบ กาบใบ มาใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow