Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไม้พุ่มและไม้รอเลื้อย

Posted By Plookpedia | 25 ธ.ค. 59
3,717 Views

  Favorite

 

ดอกแก้ว
ดอกลำเจียก
ต้นโมก


ไม้พุ่มและไม้รอเลื้อย

ไม้พุ่มและไม้รอเลื้อยที่มีดอกหอมที่นิยมปลูกกัน มีทั้งพันธุ์ไม้จากถิ่นอื่น เช่น พุดซ้อน พุดจีบ พุทธชาดสามสี ยี่หุบ จำปีแขก และพันธุ์ไม้ของท้องถิ่นซึ่งมีไม่มากชนิดนัก ล้วนแต่มีกลิ่นหอม และหามาปลูกเลี้ยงได้ไม่ยากนัก เช่น 

แก้ว (Murraya paniculata Jack)

แก้วเป็นไม้ดอกหอมที่รู้จักกันดีทั่วประเทศ มีชื่ออื่นๆ ได้แก่ แก้วขาว แก้วขี้ไก่ แก้วพริก ตะไหลแก้ว แก้วลาย และจ๊าพริก อยู่ในวงศ์ Rutaceae พวกเดียวกับมะนาว และส้มต่างๆ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วประเทศ ต้นเป็นพุ่มหรือเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ต้นและกิ่งก้านแข็งเหนียว แตกเป็นร่องยาวสีขาว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๗-๙ ใบ ใบย่อยแบบรูปไข่กลับ หรือคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ยาว ๒.๕-๓ ซม. กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ใบมัน ดอกเป็นช่อสั้นตามปลายกิ่ง ขนาดดอกประมาณ ๑.๕ ซม. สีขาว มี ๕ กลีบ ดอกบานวันเดียว ดอกในช่อมักบานพร้อมกันเกือบหมด เห็นเป็นสีขาวพราวไปทั้งต้นตัดกับสีใบเขียวเข้ม กลิ่นหอมแรง ออกดอกปีละหลายครั้ง หรือเกือบตลอดปี ผลสุกสีแดงสวย (ภายในมีน้ำเหนียวๆ คล้ายยาทาเล็บ เด็กๆ นิยมเอามาทาเล็บเล่น) แก้วเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่ายและทนทาน ตัดแต่งพุ่ม เป็นทรงต่างๆ ได้ง่าย จึงเป็นไม้ประดับที่นิยมกันมาก พบเห็นได้ทั่วไป

ประยงค์ (Aglaia adorata Lour.)

ประยงค์ หรือหอมไกล ขะยง ขะยม พะยงค์ ยอม และดอกไข่ปลา เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Meliaceae วงศ์เดียวกับพันธุ์ไม้ที่รู้จักกันทั่วไปคือ สะเดา และยังมีประยงค์ป่า (A. odoratissima Bl.) กับประยงค์ ใบใหญ่ (A. chaudocensis Pierre) อีก ๒ ชนิด ซึ่งคล้ายประยงค์มาก ต่างกันที่ใบและรายละเอียดของดอก ประยงค์เป็นไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งผอม และเหนียว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ มีใบย่อย ๕ ใบ รูปไข่หรือรูปไข่กลับสีเขียวเป็นมัน ยาว ๒-๒.๕ ซม. กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ทรงต้นและใบคล้ายต้นแก้วมาก แต่ใบประยงค์มักจะมันกว่าและขอบเรียบ ส่วนใบแก้วขอบอาจจะหยักโค้งเล็กน้อย ช่อดอกโปร่งออกตามซอกใบและต้น ช่อยาว ๖-๘ ซม. ช่อแยกสาขาดอกกลมเล็ก ขนาด ๑.๕-๒ มม. สีเหลือง คล้ายไข่ปลา กลีบดอกมี ๕ กลีบ โค้งจรดกันเป็นทรงกลม กลิ่นหอมเย็นและโชยไปไกล 

ประยงค์เป็นไม้พุ่มที่สวยงาม ออกดอกปีละหลายครั้ง และนิยมปลูกประดับกันมาก ถ้าปลูกกลางแจ้งจะให้ดอกดกดีกว่าปลูกในที่ร่ม ขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งตอน 

สายหยุด (Desmos chinensis Lour.)

สายหยุดเป็นไม้พุ่ม หรือไม้รอเลื้อย ที่รู้จักกันดีอีกชนิดหนึ่ง วงศ์เดียวกับนมแมว และลำดวน 

สายหยุดมีกลิ่นหอมในเวลากลางคืนไปจนถึงเช้า พอสายก็หมดกลิ่น เป็นที่มาของชื่อพันธุ์ไม้ชนิดนี้ ซึ่งยังมีชื่ออื่นๆ อีกได้แก่ สาวหยุด เครือเขาแกลบ เสลาเพชร และกล้วยเครือ พันธุ์ไม้ชนิดนี้ พบขึ้นทั่วประเทศ ถ้าขึ้นกลางแจ้งไกลไม้ใหญ่ มีลักษณะเป็นพุ่ม แต่ถ้าอยู่ใกล้เสาหรือไม้ใหญ่ จะทอดกิ่งพาดพิงไปกับสิ่งที่อยู่ใกล้ ใบเป็นใบเดี่ยว ค่อนข้างดก เรียงสลับ รูปใบรี หรือรูปรี แกมใบหอก ปลายแหลม ใบบางเหนียว ผิวใบด้านบนเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวปนนวล แผ่นใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบยาว ๗-๑๒ ซม. กว้าง ๒.๕-๓.๕ ซม. ดอกออกตามซอกใบ และห้อยลง มี ๖ กลีบ แต่ละกลีบเป็นแถบโค้งเข้ายาว ๕-๗ ซม. ขอบกลีบเป็นคลื่นและบิดเล็กน้อย ดอกบานใหม่สีเหลืองอมเขียว วันต่อมาเป็นสีเหลืองทองจนถึงเหลืองอมน้ำตาล ผลยาวเป็นปมๆ เกิดเป็นกระจุกขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือจากกิ่งตอน ปลูกเลี้ยงค่อนข้างง่าย และมีดอกตลอดปีเป็นไม้ประดับที่นิยมปลูกกันทั่วไป 

นมแมว (Rauwenhoffia siamensis scheff.) 

นมแมวเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือไม้รอเลี้อย พบขึ้นตามชายป่าชื้น และป่าเบญจพรรณในภาคกลาง และภาคใต้ มีการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับบ้าง แต่ไม่แพร่หลาย ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันน้อย และหาชมได้ค่อนข้างยาก ทั้งๆ ที่ เป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกเลี้ยงได้ง่าย ดอกมีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ คนไทยจึงเรียกน้ำหอมปรุงกลิ่นขนมว่า น้ำนมแมว พันธุ์ไม้ชนิดนี้มีขนละเอียดนุ่มตามกิ่งอ่อนซึ่งมีสีเขียวปนน้ำตาล กิ่งมักจะหักคดไปมาเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว และดกเรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปรี ยาว ๑๐-๑๒ ซม. กว้าง ๓-๔ ซม. ปลายมนสีใบด้านล่างอ่อนกว่าด้านบน ดอกมักจะออกเดี่ยวๆ จากซอกใบ และห้อยลงขนาดประมาณ ๑.๕ ซม. สีเหลืองอ่อน หรือเหลืองอมน้ำตาล กลีบวงนอกและวงในวงละ ๓ กลีบ รูปไข่ ขอบกลีบจรดกัน ปลายตรง เกสรตรงกลางสีเหลืองอมส้ม มักจะมีน้ำหวานเหนียวๆ แทรกอยู่ ดอกหอมตอนเย็นไปจนถึงกลางคืนผลเล็กขนาดปลายนิ้ว ติดกันเป็นพวง ผลสุกสีเหลืองอมส้ม รับประทานได้ 

ถึงแม้ว่านมแมวจะไม่มีดอกเด่นสะดุดตา แต่มีกลิ่นหอมชวนดม จึงเป็นที่นิยมและกล่าวถึงกันมานาน 

ลำเจียก (Pandanus odoratissimus Linn.)

ลำเจียกเป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกันกับเตย ซึ่งเป็นต้นที่ให้ดอกเพศเมีย ส่วนลำเจียกเป็นต้นที่ให้ดอกเพศผู้ พบขึ้นเป็นกอตามชายน้ำ หรือที่ชื้นแฉะ ต้นกลม มีรอยติดของโคนใบเป็นวงตลอดต้น โคนต้นมีรากค้ำยัน ใบเดี่ยว เป็นแถบยาวค่อนข้างแข็งและเหนียว ยาว ๑-๑.๕ ซม. กว้าง ๘-๑๒ ซม. ขอบใบจักเป็นหนาม ใบเรียงสลับ เวียนเป็นเกลียวถี่ ดอกออกตรงยอด มีกาบสีนวลเหมือนสีงาช้างคลุมช่อดอก ทั้งช่อยาว ๒๐-๓๐ ซม. ดอกในช่อแน่น ขนาดเล็ก สีนวล ดอกบานตอนเย็นมีกลิ่นหอมแรง พันธุ์ไม้สกุลเดียวกับลำเจียกหรือเตยมีหลายชนิด สังเกตได้ง่ายจากลักษณะของต้นซึ่งคล้ายปาล์ม แต่ใบเป็นแถบยาวและแข็งและมักจะมีรากค้ำยัน อยู่ในวงศ์ Pandanaceae ชื่ออื่นๆ ของลำเจียก ได้แก่ เตยทะเล การะเกด และปาแนะ ใบของพืชพวกเตยนำมาใช้ทำเครื่องจักสานได้สวยงามและทนทาน ที่มีชื่อเสียงคือ เสื่อใบเตย (ในการจัดจำแนกตามลักษณะวิสัย ในที่นี้อนุโลมไว้ในกลุ่มไม้พุ่ม) 

โมก (Wrightia religiosa Benth.) 

โมก หรือโมกบ้าน หลักป่า หรือปิดจงวา เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ และอาจทอดกิ่งยาวไปพาดพิงกับไม้ต้น ที่อยู่ใกล้เคียงได้ อยู่ในวงศ์ Apocynaceae พวกเดียวกับลั่นทม ยี่โถ และชำมะนาด ต้นสีน้ำตาลผิวแตกปริเป็นลายรูปรีเล็กๆ กิ่งย่อยมักจะมีมาก ขนาดเล็ก และเรียงตัวเกือบจะอยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้เห็นกิ่งใหญ่ทั้งกิ่งมีลักษณะเป็นแผง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ รูปไข่แกมรูปรี ยาว ๒-๕ ซม. กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ปลายใบแหลม ใบบาง บางครั้งผลัดใบหมดทั้งต้น ดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามซอกใบ และห้อยลง ก้านดอกผอม ยาว ๑.๕-๒ ซม. ดอกสีขาว ขนาด ๑-๑.๒ ซม. มีทั้งชนิดกลีบซ้อนและไม่ซ้อน ดอกทยอยบานเป็นเวลานาน หรือออกดอกเกือบตลอดปี ถ้าจะดูดอกโมกให้สวยต้องดูจากใต้กิ่งขึ้นไป จะเห็นดอกขาวพราวไปทั้งต้น เป็นไม้พุ่มที่สวยงาม ตัดแต่งหรือทำไม้ดัดได้ดี ปลูกเลี้ยงได้ง่ายในดินทุกสภาพ ขยายพันธุ์โดยการปักชำหรือตอนกิ่งหรือเพาะจากเมล็ดก็ได้ แต่เมล็ดมีขนาดเล็ก และมักปลิวไป เมื่อฝักแตก โมกเป็นพันธุ์ไม้ที่นิยมปลูกกันมาก มีกลิ่นหอม

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow