Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคหนอนพยาธิ

Posted By Plookpedia | 16 ธ.ค. 59
4,111 Views

  Favorite

โรคหนอนพยาธิ

เกิดจากเชื้อปรสิตในกลุ่มที่เรียกว่า เฮลมินท์ (helminth) ซึ่งมีรูปร่างคล้ายหนอน เชื้อปรสิตในกลุ่มนี้แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ พยาธิตัวกลม พยาธิใบไม้ และพยาธิตัวตืด

พยาธิตัวกลม 

เป็นพยาธิ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายไส้เดือน ที่เราพบตามพื้นดินทั่วๆ ไป ต่างกันที่พยาธิตัวกลมไม่มีลำตัวแบ่งเป็นปล้องๆ มีทางเดินอาหารชนิดสมบูรณ์แบบ และมีเพศผู้แยกจากเพศเมีย โดยที่ตัวผู้มักเล็กกว่าตัวเมีย พยาธิตัวกลมที่ก่อให้เกิดโรคในคนได้แก่ พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือนกลม พยาธิเส้นด้าย พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวจี๊ด พยาธิทริคิแนลลา Trichinella) พยาธิฟิลาเรีย (Filaria) พยาธิแองจิโอสตรองกิลุส (Angiostrongylus) และพยาธิสตรอกีลอยด์ (Strongyloides)

 

พยาธิชนิดต่างๆ : พยาธิไส้เดือน

สำหรับประเทศไทย โรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลม ที่สำคัญซึ่งสมควรกล่าวให้ทราบ คือ
โรคพยาธิปากขอ 

เป็นโรคเกิดจากพยาธิปากขอ 3 ชนิดที่มีชื่อว่า เนคาเทอร์ อเมริกานุส (Necator americanus) แองไคโลสโตมา ดูโอดีนาเล (Ancylostoma duodenale) และ แองไคโลสโตมา ซิลอนุคุม (Ancylostoma ceylonicum)
พยาธิปากขอมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร พยาธิตัวแก่อาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก โดยใช้ปากซึ่ง มีฟันหรือที่เกาะฝังเข้าไปในผนังของลำไส้เล็ก แล้วดูดเลือด จากเส้นเลือดฝอย เป็นอาหาร ตัวเมียจะออกไข่ ปนออกมากับอุจจาระ เมื่อตกถึงพื้นดิน ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนเจริญเติบโตลอกคราบอยู่ประมาณ ๗ วัน ก็กลาย เป็นระยะติดต่อ เมื่อคนเดินเท้าเปล่ามาเหยียบดิน ตัว อ่อนก็จะไชทะลุผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย ผ่านทางเดินน้ำ เหลืองและเส้นเลือดเข้าสู่หัวใจ ปอด และเข้าหลอดอาหาร เจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในลำไส้เล็กต่อไป ถ้าเรากินน้ำหรืออาหารที่มีระยะติดต่อ ของพยาธิปากขอเข้าไป ก็จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน    

พยาธิชนิดต่างๆ : พยาธิปากขอ


ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการซีด อ่อนเพลีย ง่วงนอน เหนื่อยง่าย มึนงง และเป็นลมบ่อยๆ เนื่องจากพยาธิปากขอจะดูดเลือด ทำให้เกิดการสูญเสียเลือดทางลำไส้ เกิดการซีดชนิดขาดเหล็ก ในรายที่ซีดมากๆ อาจเกิดอาการบวม และหัวใจวายได้ เด็กที่ซึม ง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา เรียนหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่อง ควรได้รับการตรวจอุจจาระ เพื่อหาไข่ของพยาธินี้

โรคนี้มีเป็นกันมากในประเทศไทย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้) เพราะเป็นประเทศกสิกรรมที่มีดินฟ้าอากาศเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพยาธิปากขอ และกสิกรชอบถ่ายอุจจาระตามพื้นดิน และสุมทุมพุ่มไม้ ไม่นิยมสวมรองเท้า ดังนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การถ่ายอุจจาระในส้วม หรือฝังให้ลึก เพื่อไม่ให้ไข่พยาธิฟักออกมาเป็นตัวอ่อนได้ สำหรับผู้ที่เป็นโรคควรกินยาถ่ายพยาธิ เพื่อจะได้ไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น 

โรคพยาธิไส้เดือนกลม

เป็นโรคเกิดจากหนอนพยาธิชนิดแอสคาริส ลุมบริคอยดีส (Ascaris lumbricoides) ซึ่งมีขนาดใหญ่มากกว่าพยาธิตัวกลมชนิดอื่น ตัวผู้ยาว ๑๕-๒๐ เซนติเมตร กว้าง ๒-๔ มิลลิเมตร ตัวเมียยาว ๒๐-๓๕ เซนติเมตร และกว้าง ๓-๖ มิลลิเมตร ตัวผู้มักจะมีหางงอเล็กน้อย ตัวแก่ของพยาธินี้อาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก โดยไม่เกาะอยู่กับผนังของลำไส้ แต่จะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระ เมื่อตกลงสู่พื้นดิน ได้รับความชื้น และอุณหภูมิพอเหมาะ ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตอยู่ในไข่ และกลายเป็นระยะติดต่อ ใน ๑๐-๑๔ วัน เมื่อคนกินไข่ที่มีตัวอ่อนนี้เข้าไป ตัวอ่อนก็จะออกมาในลำไส้เล็ก ไชทะลุผนังลำไส้เล็ก เข้าสู่วงจรเลือด ผ่านหัวใจ ปอด หลอดลม เข้าสู่หลอดอาหาร แล้วเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในลำไส้เล็กต่อไป 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคพยาธิชนิดนี้ มักมีอาการปวดท้อง จะปวดเป็นพักๆ ในบางรายจะอาเจียนเอาตัวพยาธิออกมา ผู้ป่วยบางรายเกิดดีซ่าน และตัวเหลือง เนื่องจากพยาธินี้เข้าไปอุดท่อน้ำดี หรือบางรายเกิดอาการอุดกั้นลำไส้เล็ก ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน และท้องอืดมาก โดยที่พยาธิชนิดนี้คอยแย่งอาหารในลำไส้ จึงทำให้ผู้ป่วยผอมลง น้ำหนักลด อ่อนเพลีย และซูบซีดได้

ยาถ่ายพยาธิ

    การป้องกันโรคนี้ก็คือ กำจัดอุจจาระให้ถูกวิธี ให้การศึกษาแก่เด็กๆ เรื่องการใช้ส้วม รักษาความสะอาดของร่างกาย และเสื้อผ้า ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ตัดเล็บให้สั้น และควรบริโภคผัก ที่ล้างให้สะอาดแล้ว ส่วนผู้ที่เป็นพยาธินี้ให้ใช้ยาถ่ายพยาธิ เพื่อไม่ให้ติดต่อไปยังคนอื่นๆ
โรคฟิลาเรียหรือโรคเท้าช้าง 

เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง ที่มีตัวแก่ของพยาธิฟิลาเรีย อาศัยอยู่ในหลอดน้ำเหลือง และให้ตัวอ่อน หรือเรียกว่า ไมโครฟิลาเรีย (microfilaria) ออกมาว่ายในกระแสเลือด โดยปกติแล้ว ไมโครฟิลาเรียมักจะซ่อนตัว ไม่ออกมาในกระแสเลือด ในเวลากลางวัน แต่จะออกมาในตอนกลางคืน เมื่อยุงมากัดคน ก็จะได้รับเชื้อไมโครฟิลาเรีย ซึ่งจะเจริญเติบโต และลอกคราบจนกลายเป็นระยะติดต่อในตัวยุง เมื่อยุงไปกัดคน ตัวอ่อนนี้จะเจริญเติบโตเป็นตัวแก่อาศัยอยู่หลอดน้ำเหลืองต่อไป

อาการผิวหนังหนา ขรุขระและขาโตขึ้น เนื่องจากโรคเท้าช้าง

 

   ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักมีอาการค่อยเป็นค่อยไป เริ่มด้วยอ่อนเพลีย เบื่ออาหารอยู่ ๒-๓ วัน แล้วเป็นไข้อย่างเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน ซึม เหงื่อออกมาก ไข้มักสูงอยู่หนึ่งหรือสองวันแล้วลดลง บางรายมี ไข้ต่ำๆ ไข้นี้จะเป็นๆ หายๆ ต่อมาต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาจะบวมแดง เมื่อเป็นนานๆ ผิวหนังจะหนาและขรุขระ ทำให้ขาโตขึ้นเป็นลำดับ เราจึงเรียกโรคนี้ว่า โรคเท้าช้าง
โรคเท้าช้างในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ 

๑. ชนิดขาโต เกิดจากพยาธิบรูเกีย มาลาไย (Brugia malayi) โดยอาศัยยุงจำพวก แมนโซเนีย (Mansonia) เป็นตัวนำ ยุงชนิดนี้จะวางไข่ตามแอ่งน้ำที่มีผักตบชวา จอก และวัชพืชอื่นๆ พบทางบริเวณทางใต้ ทำให้เกิดขาโต

๒. ชนิดอัณฑะโต เกิดจากพยาธิวูเชอเรอเรีย แบนครอฟไท (Wuchereria bancrofti) โดยอาศัยยุง เออีดีส ไนเวียส (Aedes niveus) เป็นตัวนำ นอกจากนี้ ยุงก้นปล่อง และยุงคิวเล็กซ์ (Culex) ก็เป็นพาหะที่นำโรคนี้ได้เช่นกัน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณอัณฑะ ต่อมาอัณฑะจะมีขนาดโตขึ้น ปัสสาวะเป็นน้ำขุ่นขาวคล้ายน้ำนม ชนิดนี้พบมากที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยเฉพาะบริเวณต้นน้ำแควน้อย และแควใหญ่ 

การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ นอนกางมุ้ง พ่นสารดีดีที เพื่อกำจัดยุง และช่วยกันกำจัดวัชพืชน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์ของยุง

พยาธิใบไม้

เป็นพยาธิชนิดหนึ่ง ซึ่งมีรูปร่าง แบนราบเหมือนรูปใบไม้จึงเรียกว่า พยาธิใบไม้ ใน แต่ละตัวจะมีทั้ง ๒ เพศรวมกัน จึงสามารถผสมพันธุ์ในตัวเอง และให้ไข่ออกมา ไข่นี้จะฟักออกเป็นตัวอ่อนเรียกว่า ไมราซิเดียม (miracidium) ซึ่งเข้าไปเจริญ เติบโตในหอย แล้วกลายเป็นตัวอ่อนอีกมากมายเรียกว่า เซอร์คาเรีย (cercaria) ซึ่งต่อมาอาจต้องอาศัยอยู่ในโฮสต์อื่นอีกก็ได้ จนกว่าคนจะไปกินจึงจะติดเชื้อพยาธินี้ ส่วนพยาธิใบไม้เลือดไม่ต้องอาศัยโฮสต์อื่นอีก สามารถไชเข้าไปทางผิวหนังของคนได้โดยตรง

พยาธิใบไม้อาจแบ่งออกได้เป็น ๔ ชนิด ตาม อวัยวะที่พบ ได้แก่ พยาธิใบไม้ลำไส้ พยาธิใบไม้ ปอด พยาธิใบไม้ตับ และพยาธิใบไม้เลือด

โรคพยาธิใบไม้ลำไส้ 

ที่พบบ่อยในประเทศไทย เกิดจากพยาธิชนิดฟัสซิโอลอบซิส บุสไค (Fasciolopsis buski) ซึ่งมีขนาดโตมาก ยาวประมาณ ๓-๕ เซนติเมตร กว้าง ๑-๑.๕ เซนติเมตร มีสีน้ำตาลแดง

ตัวแก่ของพยาธินี้อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กส่วนต้น โดยใช้ปากดูดติดกับเยื่อบุผนังลำไส้ให้ไข่ออกมาในอุจจาระ ลงไปในน้ำ ฟักตัวเป็นไมราซิเดียมแล้วไชเข้าในหอย น้ำจืดบางชนิด เจริญเติบโตเป็นเซอร์คาเรีย ออกจากหอย ว่ายน้ำไปยึดเกาะพืชน้ำบางชนิด เช่น กระจับ เจริญเป็นซีสต์ ซึ่งเป็นระยะติดต่อ เมื่อคนกินกระจับดิบๆ ก็จะได้รับเชื้อไปเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ต่อไป    

พืชและสัตว์น้ำจืดที่อาจมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ลำไส้ : หอยขม


ผู้ป่วยที่เป็นโรคพยาธินี้จะมีอาการท้องเดิน ปวด ท้องเวลาหิว ถ่ายอุจจาระหยาบ แสดงว่าลำไส้ย่อยอาหารไม่ดี เบื่ออาหาร บางรายมีคลื่นไส้ อาเจียน มีน้ำในช่องท้อง ผอมลง ในรายที่มีพยาธิมากๆ จะมี อาการบวมและขาดอาหาร อาจถึงตายได้
โรคพยาธิชนิดนี้พบมากในแหล่งที่ปลูกกระจับกันมาก ส่วนมากมักเป็นในเด็ก การแพร่กระจายของโรค เกิดจากการถ่ายอุจจาระ ลงสู่ลำน้ำลำคลอง หรือท้องร่องที่เป็นน้ำนิ่ง ทำให้ไมราซิเดียมมีโอกาสออก จากไข่เข้าสู่ตัวหอยได้ วิธีป้องกันโรคนี้ก็คือ ไม่รับประทานกระจับดิบ โดยใช้ปากกัดเปลือกนอก ควรล้างให้สะอาด ใช้มีดปอกเปลือกนอกเสียก่อน    

พืชและสัตว์น้ำจืดที่อาจมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ลำไส้ : ผักกระเฉด


โรคพยาธิใบไม้ปอด 

เป็นพยาธิใบไม้ที่มีรูปร่างป้อม และตัวหนามาก ยาว ๘ มิลลิเมตร กว้าง ๕ มิลลิเมตร และหนา ๓ มิลลิเมตร ชนิดที่พบในบ้านเราคือ พาราโกนิมัส เวสเทอร์มาไน (Paragonimus westermani) ตัวแก่ของพยาธินี้อาศัยในปอดของคน ให้ไข่ออกมาพร้อมกับเสมหะ ผู้ป่วยบางรายอาจกลืนเสมหะลงไป ทำให้ไข่ออกมาในอุจจาระ ภายใน ๒-๔ สัปดาห์ ไข่จะฟักออกมาเป็นไมราซิเดียม เข้าไปเจริญเติบโตในหอยนาน ๑๐ สัปดาห์ กลายเป็นเซอร์คาเรีย ออกจากหอย เข้าสู่กุ้งหรือปูน้ำจืด เช่น ปูนา ปูภูเขา เจริญเติบโตเป็นเมทาเซอร์คาเรีย (metacercaria) เมื่อคนกินกุ้งหรือปูเหล่านี้ เมทาเซอร์คาเรียจะไชผ่านผนังลำไส้เข้าช่องท้อง ผ่านกะบังลม ผ่านเยื่อหุ้มปอดเข้าไปเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในปอดของผู้นั้น

ผู้ป่วยที่เป็นพยาธิใบไม้ปอด มักมีอาการไอเรื้อรัง มีเลือดปนออกมาในเสมหะ มักมีจำนวนเสมหะไม่มากนัก ส่วนมากมักจะมีมากในตอนเช้า บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย มักไม่มีไข้ ในบางรายจะมีอาการคล้ายๆ คนเป็นวัณโรคมาก 
 
ในประเทศไทยพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้แถวจังหวัด สระบุรี นครนายก เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาและท้องนา ชาวบ้านแถวนั้นนิยมจับปูนาและปูภูเขามา รับประทานดิบๆ บางรายเอามาดองน้ำส้มหรือน้ำปลา เพียงคืนเดียวแล้วรับประทาน วิธีป้องกันก็คือ ไม่รับประทานปูดิบ นอกจากนี้มีดและเขียงที่ใช้สำหรับสับ หรือหั่นปู ควรล้างให้สะอาด เพราะอาจติดเมทาเซอร์คาเรียได้ คนที่เป็นโรคนี้ไม่ควรถ่ายอุจจาระหรือขาก เสมหะลงในลำธารหรือลำคลอง เพราะจะเป็นการแพร่ กระจายโรคนี้ออกไป

โรคพยาธิใบไม้ตับ 

เป็นพยาธิที่พบได้บ่อยในบ้านเรา โดยเฉพาะทางภาคอีสาน และพบบ้างประปรายทางภาคเหนือ พบได้น้อยมากในภาคใต้ พยาธิใบไม้ตับที่พบเป็นชนิดออพิสทอร์คิส ไวเวอร์รินิ (Opisthorchis viverrini) ซึ่งมีขนาดประมาณ ๐.๘ เซนติเมตร ตัวแก่ จะอาศัยอยู่ในท่อน้ำดีเล็กๆ ในตับคนหรือสัตว์ เช่น สุนัขหรือแมว เป็นต้น ไข่จะออกมากับน้ำดีลงสู่ลำไส้ และออกมาพร้อมกับอุจจาระ หอยจะกินไข่เข้าไป ตัวอ่อนจะฟักตัวออกเจริญเติบโตเป็นสปอโรซีสต์ (sporocyst) เรเดีย (redia) และเซอร์คาเรีย ตามลำดับ ซึ่งจะออกจากหอยไปฝังตัวในเนื้อปลา กลายเป็นเมทาเซอร์คาเรีย ซึ่งเป็นระยะติดต่อ เมื่อคนกินปลาดิบก็จะติดพยาธินี้เข้าไป
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ส่วนมากมักเป็นหลังอาหาร อาการเหล่านี้ จะเป็นมากขึ้น ถ้ารับประทานอาหารที่มีไขมันมากๆ บางรายมีอาการเจ็บบริเวณตับ บางครั้งมีอาการเจ็บร้าว ไปถึงบริเวณลิ้นปี่ ผู้ป่วยจะผอมลง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ในบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ท่อ น้ำดีอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งของตับ เป็นต้น    

ปลาดิบอาจมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับฝังตัวอยู่ จึงควรทำให้สุกก่อนรับประทาน

 
โรคนี้พบได้บ่อยทางภาคอีสาน เพราะชาวบ้าน นิยมนำปลาที่จับได้มาทำก้อยปลา ปลาที่มีพยาธินี้ได้แก่ ปลาแม่สะแด้ง และปลาในตระกูลปลาตะเพียน เช่น ปลาสร้อยนกเขา ปลากระสูบ ปลากะมัง เป็นต้น วิธีป้องกันก็คือ ไม่รับประทานปลาที่ไม่สุก และไม่ ถ่ายอุจจาระลงในลำน้ำลำคลอง

โรคพยาธิใบไม้เลือด

ตัวแก่ของพยาธินี้อาศัยอยู่ ในหลอดเลือดดำของลำไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะ พยาธิใบไม้เลือดที่ทำให้เกิดโรคในคน ทางแถบตะวันออกของโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น ฟิลลิปปินส์ มีชื่อว่า ชิสโทโซมา จาพอนิคุม (Schistosoma japonicum) เมื่อมีไข่ ไข่จะไชทะลุเข้าไปในลำไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะหลุดออกมากับอุจจาระ หรือปัสสาวะ แล้วกลายเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะไชเข้าสู่หอย และเจริญเติบโตเป็นเซอร์คาเรีย ต่อมาเซอร์คาเรียจะออกจากหอย ไชเข้าสู่ผิวหนังของคนที่ลงมาอยู่ในน้ำ แล้วไปเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในหลอดเลือดดำของอวัยวะต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ประเทศ ไทยยังไม่พบหอยชนิดที่นำพยาธินี้

ผู้ป่วยที่เป็นโรคพยาธิชนิดนี้ จะมีไข้ตอนบ่าย จุกแน่นยอดอก ไอบ้างเล็กน้อย เกิดลมพิษบ่อยๆ บางรายเกิดภาวะขาดอาหารร่วมด้วย ตับและม้ามโต ต่อมาอาจเกิดตับแข็ง มีน้ำในช่องท้อง ผู้ป่วยมีอาการ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายและอาจเสียชีวิตได้ 

วิธีป้องกันก็คือ ในบริเวณที่มีการกระจายของ โรคนี้ ไม่ควรลงไปอาบน้ำหรือแช่น้ำในลำธารหรือหนอง บึง ซี่งมีหอยที่เป็นพาหะนำโรคอาศัยอยู่ เพราะเซอร์คาเรียอาจไชเข้าทางผิวหนังได้ 

พยาธิตัวตืด 

มีลักษณะตัวแบนและยาวคล้ายๆ ริบบิ้น หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยมีส่วนหัวเล็ก และลำตัวเป็นปล้อง พยาธินี้จะสร้างปล้องใหม่ขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ลำตัวค่อยๆ ยาวขึ้น ปล้องที่ไกลจากหัวที่สุดจะมีอายุมากที่สุด

พยาธิตัวตืดจะอาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก โดยใช้ส่วน หัวเกาะจับกับผนังลำไส้ เนื่องจากพยาธินี้ไม่มีระบบ ย่อยอาหาร จึงต้องอาศัยการดูดซึมอาหารจากลำไส้ของ คน ปล้องแต่ละปล้องมีอวัยวะเพศทั้งตัวผู้และตัวเมีย รวมอยู่ด้วยกัน 

พยาธิตัวตืดที่พบบ่อยๆ ในบ้านเรา และก่อให้เกิดโรคมีอยู่ ๒ ชนิด คือ 

โรคพยาธิตืดวัว 

เกิดจากพยาธิตัวตืดที่มีขนาดใหญ่และยาวมาก บางตัวอาจยาวได้ถึง ๕ เมตร มีหัวเป็นตุ่มสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ ๒ มิลลิเมตร และมีจานเกาะ ๔ อัน ปล้องแก่มีความกว้างเท่าๆ กับความยาว คือ ๑๒ มิลลิเมตร ส่วนปล้องที่สุกแล้ว จะมีความยาว (๒๐ มิลลิเมตร) มากกว่าความกว้าง (๗ มิลลิเมตร) พยาธิตืดวัวมีชื่อว่า ทีเนีย ซากินาทา (Taenia saginata)

ตัวแก่ของพยาธินี้อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคน เมื่อปล้องที่สุกซึ่งมีไข่อยู่ภายในหลุดออกมา จะแตก ออกปล่อยไข่อยู่ตามพื้นดิน วัวหรือควายที่เล็มหญ้าก็ จะกินไข่เข้าไป และเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนอยู่ตามเนื้อ วัวหรือควาย ตัวอ่อนนี้จะมีลักษณะคล้ายเม็ดสาคู ฝังตัวอยู่ในกล้ามเนื้อของโค และกระบือ เรียกว่า ซิสทิเซอร์คัส โบวิส (Cysticercus boviss) เมื่อคนกินเนื้อโค หรือเนื้อกระบือ ที่มีเม็ดสาคูเหล่านี้ โดยไม่ทำให้สุกเสีย ก่อน ตัวอ่อนนี้ก็จะออกมา แล้วเจริญเติบโตเป็นตัว แก่ในลำไส้คนต่อไป 

โรคพยาธิตืดหมู 

เกิดจากพยาธิตัวตืดที่มีลักษณะเหมือนตัวตืดในวัว แต่มีขนาดเล็กกว่า คือ ยาว ๒-๓ เมตร พยาธินี้มีชื่อเรียกว่า ทีเนีย โซเลียม (Taenia solium)

เม็ดสาคูหรือตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดในเนื้อสุกร

    ตัวตืดชนิดนี้ มีวงจรชีวิตเช่นเดียวกับตัวตืดวัว ตัวอ่อนอาศัยอยู่ในเนื้อสุกร มีลักษณะเป็นเม็ดสาคู เมื่อคนกินเนื้อสุกรที่มีเม็ดสาคู โดยไม่ปรุงให้สุก ตัวอ่อน ก็จะออกมา และใช้ส่วนหัวเกาะกับผนังของลำไส้ แล้วเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ใน ๒-๓ เดือน
นอกจากนี้ตัวตืดหมูยังก่อให้เกิดเม็ดสาคูในคน ได้ด้วย ถ้าคนบังเอิญไปกินไข่พยาธิตัวตืดหมูเข้าไป ตัวอ่อนจะไปฝังตัวตามอวัยวะต่างๆ เกิดเป็นเม็ดสาคู ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้รุนแรงมาก เช่น ถ้าไปอยู่ในสมอง ทำให้มีอาการชัก คล้ายโรคลมบ้าหมู ถ้าเข้าตา ทำให้ตาบอดได้ เป็นต้น

วัวเล็มหญ้าซึ่งอาจมีไข่ของพยาธิตัวตืดที่หล่นอยู่ตามพื้นดินติดอยู่

   ผู้ป่วยที่มีพยาธิตัวตืดทั้ง ๒ ชนิดนี้มักไม่มีอาการ รุนแรงมากนัก น้ำหนักตัวจะลดลงทั้งๆที่รับประทาน อาหารได้มาก หิวบ่อยๆ บางรายมีปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียนหรือท้องเดินได้ ในบางรายอาจเกิดปวดท้อง อย่างรุนแรง เนื่องจาก ตัวตืดร่วมตัวเป็นก้อน อุดลำไส้ 
พยาธิตัวตืดทั้ง ๒ ชนิดนี้พบได้บ่อยๆ ในคนที่ รับประทานเนื้อโค เนื้อกระบือ หรือเนื้อสุกรที่ไม่ปรุง ให้สุก วิธีป้องกันก็คือ ไม่รับประทานเนื้อโค เนื้อ กระบือ หรือเนื้อสุกรที่ไม่สุก รวมทั้งถ่ายอุจจาระลงใน ส้วม เพื่อไม่ให้ไข่พยาธิเจริญเติบโตต่อไปได้ ใน ประเทศไทยพบโรคพยาธิตืดหมูน้อยกว่าโรคพยาธิตืดวัว ส่วนการกินเม็ดสาคูในคนเกิดจากตัวตืดหมูเท่านั้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow