Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไข้สมองอักเสบ

Posted By Plookpedia | 15 ธ.ค. 60
1,071 Views

  Favorite

ไข้สมองอักเสบ 

ไข้สมองอักเสบที่พบในประเทศไทยนั้นมีสาเหตุอยู่หลายอย่าง แต่ที่พบกันในฤดูฝน คือ ไข้สมองอักเสบ  "ญี่ปุ่น" ชื่อนี้แปลมาจากภาษาอังกฤษจากคำว่า "Japanese encephalitis" โรคนี้มักเป็นในเด็กเล็ก และเด็กในวัยเรียน 

เชื้อต้นเหตุ 

เป็นเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า "จาแพนีส เอนเซฟาไลทิส" (Japanese encephalitis)

ระยะฟักตัว 

ประมาณ ๗-๑๐ วัน หรืออาจ นานถึง ๒ สัปดาห์ 

ลักษณะอาการ 

หลังจากที่โดนยุงมีเชื้อกัดแล้ว เชื้อก็จะเข้าไปในตัวของเด็ก และจะเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น จนกระทั่งมากพอ ที่จะทำให้เกิดอาการของโรค คือ ทำให้สมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

อาการของโรคจะเริ่มโดยมีอาการไข้สูงปานกลาง มีอาการปวดศีรษะมาก มีอาการเวียนศีรษะ อาจมีอาเจียนด้วย รายที่มีอาการรุนแรงน้อย หรือรุนแรงปานกลางจะมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบเท่านั้น กล่าวคือ มีอาการคอแข็ง กล้ามเนื้อขาตึง ง่วง และค่อนข้างซึม แต่ไม่มีอาการหมดสติ หรืออัมพาต ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะฟื้นจากโรค แล้วหายเป็นปกติ

สำหรับกลุ่มที่มีอาการรุนแรงจะง่วงซึม และ หมดสติ มักจะมีอาการอัมพาตและอาจจะถึงแก่กรรมได้ เท่าที่มีการระบาดในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคเหนือของประเทศนั้นอัตราตายสูงกว่าร้อยละ ๓๐ มักจะตายภายใน ๑๐ วัน ส่วนที่รอดตายนั้น ส่วนหนึ่งจะมีอาการอัมพาต และบางส่วนจะมีความพิกล พิการหลายอย่างหลงเหลืออยู่ บางคนก็มีอาการชัก แบบลมบ้าหมู บางคนก็รอดตาย แต่ก็รอดอยู่แบบ "เจ้าหญิงนิทรา" คือ นอนกะพริบตาปริบๆ อยู่เฉยๆ อุจจาระและปัสสาวะไม่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นภาระแก่ผู้ที่จะต้องดูแล 

ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้ว มักจะมีภูมิต้านทานโรค และไม่เป็นโรคนี้อีก 

การติดต่อ 

โรคนี้ติดต่อโดยมียุงเป็นพาหะนำโรค ยุงที่นำโรคเป็นยุงที่พบอยู่โดยทั่วไป ซึ่งคอยรบกวนกัดกินเลือดของคนและสัตว์ ในเวลากลางคืนนั่นเอง ยุงมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "คิวเล็กซ์ ไทรเทนิออรินคุส" (Culex tritaeniorhycus) ยุงชนิดนี้มี อยู่ทั่วไปในประเทศไทย ยุงอีกชนิดหนึ่งที่นำโรคนี้ได้ใน บ้านเราก็คือยุง "คิวเล็กซ์ ฟัสโคเซฟาลุส" (Culex fuscocephalus) และ "คิวเล็กซ์ เจลิดุส" (Culex gelidus)
 

ลูกสุกรที่เกิดใหม่จะติดเชื้อไวรัสที่รับจากยุงได้ง่าย

   เชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุจะมีแหล่งอยู่ในสัตว์ที่มี กระดูกสันหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลูกสุกร ลูกสุกรที่เกิดใหม่ จะมีความไวในการรับเชื้อสูง ถ้าถูกยุงที่มีเชื้อไวรัสนี้ไปกัดเข้า เชื้อจะไปเพิ่มจำนวนในลูกสุกร ต่อมา เมื่อยุงที่กัดลูกสุกรที่มีเชื้อ ก็จะได้รับเชื้อจากลูกสุกร เชื้อนี้จะไปเจริญ และเพิ่มปริมาณในตัวยุงได้อีก หากยุงนั้นไปกัดคน ถ้าคนที่ถูกกัดมีภูมิต้านทานโรค หรือความต้านทานโรค คนนั้นก็ไม่ป่วยเป็นโรค ถ้าเป็นเด็กที่ไม่มีความต้านทานอยู่เดิม เด็กก็จะติดเชื้อ และเป็นโรค ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยุงบางตัวหากไม่ได้ กัดก็กลับไปกัดลูกสุกร และเอาเชื้อไปปล่อยให้กับลูกสุกรอีก เป็นวงจรอยู่อย่างนี้
การป้องกันและควบคุมโรค 

นอกจากจะเลี่ยง มิให้ยุงกัดแล้ว ยังมีวัคซีนเฉพาะโรคที่ใช้ฉีดป้องกันโรคเป็นการล่วงหน้าได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow