Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคแอนแทร็กซ์

Posted By Plookpedia | 15 ธ.ค. 59
939 Views

  Favorite

โรคแอนแทร็กซ์

โรคแอนแทร็กซ์ เป็นโรคติดต่อจากปศุสัตว์จำพวกแพะ แกะ โค กระบือ ม้า โรคนี้สามารถติดต่อมาสู่คนได้ ทำให้มีอาการได้ ทั้งทางผิวหนัง หรือทางระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ

ปศุสัตว์ที่อาจเป็นโรคแอนแทร็กซ์ซึ่งเป็นโรคติดต่อ : แพะ

   เชื้อต้นเหตุ 

เกิดจากเชื้อบัคเตรี ที่มีชื่อว่า บะซิลลัส แอนทราซิส (Bocillus anthracis)

ลักษณะอาการ 

แบ่งได้เป็น ๓ แบบ คือ แบบแรก มีอาการทางผิวหนัง เริ่มเป็นผื่นที่ผิวหนัง ต่อมาผื่นค่อยๆ โตขึ้น แล้วกลายเป็นตุ่มมีน้ำอยู่ข้างใน ต่อมา ตรงกลางจะเกิดเป็นสะเก็ดสีดำ รอบๆ แผล บวมแข็ง คล้ายแผลบุหรี่จี้ มักพบแผลบริเวณที่สัมผัสกับเชื้อโรค เช่น นิ้วมือ แขนหรือขา อาจพบแผลในปาก หรือในลำคอก็ได้ โดยมากแผลมักไม่เจ็บ แต่อาจมีอาการทั่วไป มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีอาการรุนแรงถึงตายได้ แบบที่สอง คือ อาการระบบทางเดินอาหาร มีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ ปวดท้องอุจจาระร่วง ผู้ที่มีอาการมาก จะมีอาการท้องอืด ปวดท้องมาก และเสียชีวิตได้ แบบที่สาม คือ อาการระบบหายใจ มีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไอ หอบและปอดอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้เช่นกัน
การติดต่อ 

ตามธรรมดาโรคนี้ติดต่อระหว่างสัตว์ไปยังสัตว์ โดยการกินเนื้อสัตว์ หรือกระดูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคแอนแทร็กซ์ สำหรับในคน ถ้าได้รับเชื้อ โดยการสัมผัสทางรอยถลอก หรือแผลที่ผิวหนัง เชื้อโรค ที่อยู่ในเนื้อสัตว์ ขนสัตว์ หรือหนังสัตว์ เข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีอาการทางผิวหนัง ถ้าคนเราหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีอาการทางระบบหายใจ หรือถ้ากินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ จะแสดงอาการทางระบบทางเดินอาหาร โรคนี้ยังไม่พบการติดต่อจากคนไปสู่คน สปอร์ของเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือสิ่งของ เป็นเวลานานหลายปี ก็ยังสามารถทำให้เกิดโรคได้

การป้องกันและควบคุมโรค 

ทำได้โดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทร็กซ์ให้กับสัตว์เลี้ยงในท้องที่ที่มีโรคนี้ ให้คำแนะนำสำหรับประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ ทำงานในโรคฆ่าสัตว์ให้ทราบถึงการติดต่อ และอันตราย ถ้าพบสัตว์เป็นโรคต้องติดตามไปยังท้องที่นั้น ถ้าสัตว์เป็นโรคนี้ตาย ควรฝังหรือเผาทำลาย ไม่ควรนำมาบริโภค

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow