Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคของเลือด

Posted By Plookpedia | 15 ธ.ค. 59
2,557 Views

  Favorite

โรคของเลือด 

เลือดประกอบด้วยเซลล์ที่สำคัญ ๓ ชนิด คือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ในผู้ใหญ่ เม็ดเลือดทั้ง ๓ ชนิดนี้ ถูกสร้างภายในไขกระดูกของร่างกาย และอัตราของการสร้างในคนปกติจะสมดุลกับอัตราการทำลายของเม็ดเลือดในภาวะนั้น โดยที่ร่างกายยังมีความสามารถในการสร้างเม็ดเลือดเพิ่มขึ้น เพื่อสำรองไว้ใช้ด้วยเมื่อจำเป็น

ลักษณะเม็ดเลือด


โรคเลือดจาง

คือ ภาวะที่มีความเข้มข้นของเฮโมโกลบินในเลือดต่ำกว่าปกติ สำหรับอายุและเพศนั้น เช่น ในผู้ชายถ้ามีเฮโมโกลบินต่ำกว่า ๑๓.๕ กรัมต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตรของเลือด ถือว่า มีภาวะเลือดจาง

ส่วนประกอบของเลือด


สาเหตุทั่วไปของโรคเลือดจาง อาจแบ่งได้เป็นหัวข้อใหญ่ๆ คือ จากการขาดเลือด จากความผิดปกติของการสร้างเม็ดเลือด และจากการทำลายเม็ดเลือดเกินปกติ นอกจากนี้ โรคเลือดจางยังอาจแบ่งได้ตามลักษณะของเม็ดเลือดแดงอีกด้วย เช่น 

โรคเลือดจางที่มีขนาดของเม็ดเลือดปกติ

จะปรากฏว่า โรคเลือดจางชนิดนี้มีค่าของปริมาตรเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดงปกติ ส่วนมากโรคเลือดจาง ซึ่งมีขนาดของเม็ดเลือดแดงปกติ มักจะมีสีของเม็ดเลือดแดงปกติด้วย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีสีของเม็ดเลือดแดงจางลง 

โรคเลือดจางชนิดที่มีเม็ดเลือดแดงเล็กกว่าปกติและมีสีจาง 

โรคเลือดจางประเภทนี้จะปรากฏว่า มีค่าของปริมาตรเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดงลดลง และมีค่าความเข้มข้นของเฮโมโกลบินเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดงลดลงอีกด้วย 

โรคเลือดจางชนิดที่มีเม็ดเลือดแดงเล็กกว่าปกติและมีสีปกติ 

โรคเลือดจางชนิดนี้จะปรากฏว่า มีค่าปริมาตรเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดงลดลง แต่จะมีค่าความเข้มข้นของเฮโมโกลบินเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดงปกติ 

โรคเลือดจางที่มีเม็ดเลือดแดงใหญ่กว่าปกติ 

โรคเลือดจางประเภทนี้จะปรากฏว่า มีค่าปริมาตรเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น และส่วนมากมักจะมีสีปกติ แต่ในบางรายอาจจะมีสีของเม็ดเลือดแดงจางลงได้ 

สาเหตุของโรคเลือดจาง มีดังนี้ 

๑. การเสียเลือด ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง

๒. ความผิดปกติของการสร้างเม็ดเลือดซึ่งเกิดจาก 

๒.๑ ขาดสารที่จำเป็นในการสร้างเม็ดเลือด เช่น เหล็ก วิตามินบี ๑๒ กรดโฟลิก โปรตีน วิตามินซี เป็นต้น 
๒.๒ ไม่เกี่ยวข้องกับการขาดสารในข้อ ๒.๑ ได้แก่ โรคเลือดจางที่พบร่วมกับการติดเชื้อภาวะไตวาย โรคของตับ โรคมะเร็ง มิกซีดีมา โรคคอลลาเจน (collagen) เลือดจางอะพลาสติก (aplastic) ภาวะการทำงายของต่อมใต้สมองน้อยกว่าปกติ การแทรกซึมของไขกระดูกมะเร็ง มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลทิเพลิไมอีโลมา (multiplemieloma) 

๓. การทำลายเม็ดเลือดเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจาก 

๓.๑ ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง 
๓.๒ ความผิดปกตินอกเม็ดเลือดแดง 

อาการที่สำคัญของโรคเลือดจาง ได้แก่ การอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และอาการอ่อนแรงทั่วๆ ไป อาการดังกล่าวเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด และมักเป็นอาการเริ่มแรกของโรคเลือดจาง 

นอกจากนี้ อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือดจางยังขึ้นอยู่กับอาการของสาเหตุต่างๆ ของโรคเลือดจางอีกด้วย เช่น อาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากโรคของไต โรคของตับ โรคของต่อมไร้ท่อ หรือจากเชื้อพยาธิ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเลือดจาง 

การวินิจฉัยโรคที่สำคัญอาศัยประวัติของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติการตกเลือด ประวัติเกี่ยวกับการกินอาหาร การขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระ รวมทั้งประวัติครอบครัวและอื่นๆ การตรวจร่างกายจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้มาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการตกเลือดให้เห็น และลักษณะของความผิดปกติในการตรวจร่างกาย อาจบอกได้ว่า เป็นโรคเลือดจางประเภทใด 

การรักษาที่สำคัญในผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือดจาง มีหลักการที่สำคัญคือ 

๑. การรักษาสาเหตุของโรคเลือดจาง

ได้แก่ การรักษาสาเหตุ ซึ่งทำให้เกิดโรคเลือดจางนั้นๆ เช่น ผู้ป่วยที่เสียเลือดนั้น เช่น การรักษาริดสีดวงทวาร ซึ่งเป็นสาเหตุของการตกเลือด การรักษาแผลในกระเพาะอาหาร หรือดูโอดินัม ซึ่งเป็นสาเหตุของการตกเลือด ส่วนผู้ป่วย ซึ่งทราบแน่นอนว่า การขาดอาหารเป็นสาเหตุสำคัญของโรคเลือดจาง ก็จำเป็นต้องแก้ไข ถ้าทราบว่า เป็นสาเหตุของโรคเลือดจาง เช่น การติดเชื้อ ภาวะไตวายเรื้อรัง มะเร็ง โรคของตับ และโรคของต่อมไร้ท่อต่างๆ นอกจากนี้ ในการให้ยาผู้ป่วยควรให้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ยา ซึ่งอาจมีพิษแก่เลือดได้ 

๒. การให้ยาบำรุงเลือด 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือดจาง ซึ่งทราบแน่นอนว่าเกิดขึ้น เนื่องจากการขาดธาตุหรือสารอันใด ก็จำเป็นจะต้องให้การรักษา โดยการให้ยาบำรุงเลือดชนิดนั้นๆ 

๓. การรักษาตามอาการ 

ได้แก่ การให้ผู้ป่วยกินอาหารที่ดีและถูกต้อง รวมทั้งมีแคลอรี และสารที่ร่างกายต้องการครบถ้วน การให้ผู้ป่วยที่มีอาการโรคเลือดจางอย่างรุนแรงพัก และรักษาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น การรักษาภาวะหัวใจวายเลือดคั่ง เป็นต้น 

๔. การถ่ายเลือด 

ผู้ป่วยที่มีอาการโรคเลือดจางอย่างรุนแรง จนถึงกับ ทำให้เกิดมีอาการอย่างมาก อาจจำเป็นต้องให้เลือด อย่างไรก็ดี การให้เลือด โดยไม่สมควร จะทำให้อาการของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้เป็นการยากในการวินิจฉัยโรค ดังนั้นการถ่ายเลือดจึงควรกระทำเมื่อจำเป็นเท่านั้น 

โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก 

เหล็กเป็นสาร ซึ่งจำเป็นสำหรับการสร้างเฮโมโกลบินของร่างกาย ปกติมีธาตุเหล็กอยู่ในร่างกายทั้งสิ้นประมาณ ๓-๕ กรัม โดยขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวและเพศ ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กวันละประมาณ ๑ มิลลิกรัมในชาย และ ๒ มิลลิกรัมในหญิงวัยเจริญพันธุ์ 

สาเหตุที่สำคัญของโรคเลือดจางเนื่องจากการขาดธาตุเหล็ก ได้แก่ 

๑. การเสียเลือด 

โดยเฉพาะจากการตกเลือด เช่น การตกเลือด จากทางเดินอาหาร จากผิวหนัง การตกเลือดดังกล่าวอาจจะมองเห็นได้จากผิวหนังเป็นต้น

๒. ร่างกายได้รับธาตุเหล็กไม่พอเพียง 

อาจเกิดขึ้น เนื่องจากปริมาณของธาตุเหล็กในอาหารที่กินมีน้อยเกินปกติ หรือมีความผิดปกติของการดูดซึมของลำไส้ผิดปกติเป็นต้น 

๓. ความต้องการเพิ่มขึ้น 

ความต้องการธาตุเหล็กอาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงที่มีครรภ์ และในเด็ก ซึ่งกำลังเจริญเติบโต ถ้าร่างกายไม่ได้รับเหล็กให้พอเพียง ก็อาจทำให้อาการของภาวะโรคเลือดจางจากการขาดเหล็กได้ 

อาการที่สำคัญของโรคเลือดจาง ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือดจาง เนื่องจากการขาดธาตุเหล็ก จะปรากฏว่า มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่เล็บ ลิ้น ปาก ผม และหลอดอาหาร 

    หญิงมีครรภ์และเด็กที่กำลังเจริญเติบโต
มีความต้องการอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น


การวินิจฉัยโรคอาศัยอาการของการตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจเลือด 

การรักษามีหลักการเช่นเดียวกับการรักษาโรคเลือดจาง การให้เหล็ก เพื่อรักษาโรคเลือดจางจากการขาดเหล็ก ควรจะให้ในรูปของเฟอร์รัสซัลเฟต (ferrus sulfate) ผู้ป่วยที่ไม่สามารถจะกินได้ หรือมีความผิดปกติของการดูดซึม จำเป็นต้องให้เหล็ก โดยการฉีด

โรคเลือดออก

ความโน้มเอียงในการตกเลือดอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุ ๓ ประการด้วยกัน กล่าวคือ 

๑. ความผิดปกติของหลอดเลือดฝอย เช่น หลอดเลือดฝอยเปราะ ทำให้มีการตกเลือดได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตกเลือดตามผิวหนัง เมื่อร่างกายได้รับภยันตราย แม้แต่เพียงเล็กน้อย 

๒. ความผิดปกติของเกล็ดเลือด เช่น มีจำนวนของเกล็ดเลือดในเลือดลดลงกว่าปกติ หรือมีจำนวนเกล็ดเลือดปกติ แต่มีคุณภาพของเมล็ดเลือดผิดปกติ 

๓. ความผิดปกติของขบวนการกลายเป็นลิ่มของเลือด เช่น ขาดสารที่จำเป็นสำหรับการเป็นลิ่มของเลือด เช่น ขาดโกลบุลิน (globulin) ต้านฮีโมฟิเลีย (hemophilla) ทำให้เกิดโรคฮีโมฟีเลีย เป็นต้น

แผนผังแสดงสาเหตุของโรคเลือดออก    

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukaemia) เป็นโรค ซึ่งเกิดขึ้น เนื่องจากการขยายตัว และการแบ่งตัวอย่างผิดปกติของเมล็ดเลือดขาว ตลอดทั่วร่างกาย โดยที่ไม่ทราบสาเหตุแน่นอน และถือว่า เป็นเนื้องอกประเภทหนึ่ง จากการศึกษาปรากฏว่า ผู้ป่วยที่ได้รับรังสี หรือไอโซโทปเกินปกติ มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากขึ้น 

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจแบ่งได้เป็นชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง และยังอาจจะแบ่งได้ตามชนิดของเซลล์ที่พบ ว่าเป็นเม็ดเลือดขาวประเภทใด เช่น ลิมโฟไซต์ ไมอีลอยด์ (mieloid) หรือโมโนไซต์ เป็นต้น 

โรคมะเร็งเลือดขาวเฉียบพลัน 

แบ่งได้ตามชนิดของความผิดปกติของเซลล์ที่พบ เช่น ลิมโฟบลาสต์ (lymphoblaste) ไมอีโลบลาสต์ (mielobaste) และ โมโนบลาสต์ (monoblaste) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันอาจพบได้ในทุกอายุ และทุกเพศ โดยเฉพาะได้พบบ่อยในวัยเด็ก ซึ่งมีอาการที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจะมีอาการซีดอย่างรวดเร็วร่วมกับอาการเลือดออกตามผิวหนัง และอาการของการติดเชื้อ ทั้งนี้เพราะเม็ดเลือดขาวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้นผิดปกติ ไม่สามารถที่จะสร้างแอนติบอดีได้ อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ อาการปวดตามกระดูก ต่อมน้ำเหลืองโต อาเจียนท้องเดิน และผื่นผิวหนัง ผู้ป่วยมักมีอาการเริ่มต้นเร็ว โดยมีอาการไข้ เจ็บคอ การอักเสบของทางเดินหายใจมีเลือดออก และมีอาการอ่อนเพลียลงอย่างมาก เนื่องจากมีอาการซีด 

การวินิจฉัยโรคที่สำคัญ จำเป็นต้องอาศัยการตรวจเลือด ซึ่งจะปรากฏว่า จำนวนเม็ดเลือดขาวในเลือดเพิ่มขึ้นประมาณ ๒๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยที่จะมีเซลล์อ่อนของเม็ดเลือดขาวในเลือดเพิ่มขึ้น แล้วแต่ชนิดที่พบว่า เป็นลิมโฟบลาสต์ ไมอีโลบลาสต์ หรือโมโนบลาสต์ ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีจำนวนเม็ดเลือดขาวในเลือดปกติ ซึ่งอาจเรียกว่า โรคมะเร็งของเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดจำนวนเม็ดเลือดขาวปกติ การตรวจเลือดมักจะปรากฏว่า มีเฮโมโกลบิน จำนวนเม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดลดลงด้วยเสมอ การตรวจไขกระดูกจะสนับสนุนการวินิจฉัยโรค โดยที่จะปรากฏว่า มีการขยายตัว และมีจำนวนของเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ 

โรคมะเร็งของเม็ดเลือดขาวเรื้อรังไมอีลอยด์ 

มักพบในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในวัยกลางคน และพบได้บ่อยในชายมากกว่าหญิง อาการที่สำคัญที่พบได้บ่อยเป็นอาการซีด และอาการแสดงม้ามโต อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ อาการใจสั่น เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นอาการที่แสดงว่า มีอัตราของเมแทบอลิซึมของร่างกายเพิ่มขึ้น มีอาการเลือดออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผิวหนัง อาการปวดตามกระดูกหรือข้อ อาการผิดปกติของประจำเดือน และอาการผื่นผิวหนัง เป็นต้น 


    การวินิจฉัยโรคที่สำคัญ จำเป็นต้องอาศัยการตรวจเลือด ซึ่งจะปรากฏว่า จำนวนเม็ดเลือดขาวมีจำนวนเพิ่มขึ้น

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมฟาทิก (lymphatic)

มักพบในชายหลังวัยกลางคนเป็นส่วนใหญ่ และมีอาการที่สำคัญที่พบได้บ่อย คือ มีอาการของต่อมน้ำเหลืองโต อาการซีด อาการเลือดออกตามผิวหนัง หรือภายใน อาการ ซึ่งแสดงว่า มีอันตรายของเมแทบอลิซึมของร่างกายเพิ่มขึ้น เลือดจากเฮโมไลทิกชนิดเกิดตามมาภายหลัง อาการปวดตามข้อและกระดูก อาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย หรือท้องร่วง และอาการม้ามโต เป็นต้น ต่อมน้ำเหลืองต่างๆ ที่โตขึ้นดังกล่าว อาจเกิดขึ้นภายในและจะกดอวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำให้มีอาการได้ 

การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนจำเป็นต้องอาศัยการตรวจเลือดเช่นเดียวกัน ซึ่งจะปรากฏว่า จำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow