Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หลักเบื้องต้นในการวินิจฉัยและการรักษาโรคทาง

Posted By Plookpedia | 15 ธ.ค. 59
1,087 Views

  Favorite

หลักเบื้องต้นในการวินิจฉัยและการรักษาโรคทางอายุรศาสตร์

จุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการเป็นแพทย์คือ การรักษาผู้ป่วยให้หาย แต่ก่อนที่จะรักษาผู้ป่วย แพทย์จำเป็นจะต้องรู้ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอะไร จึงจะรักษาได้ถูกต้อง เรื่องราวที่ผู้ป่วยบอกแพทย์นั้นมิใช่โรค แต่เป็นอาการที่ทำให้เขารู้สึกไม่สบาย หรือผิดปกติ ดังนั้นการรักษาโรคได้อย่างถูกวิธีนั้น จึงเป็นกระบวนการ ซึ่งประกอบด้วยวิธีการหลายขั้นตอน คือ การถามประวัติ การตรวจร่างกาย (การตรวจกายภาพ) การสืบค้น ตลอดจนการรักษา และป้องกันโรค 

ประวัติผู้ป่วย

การถามประวัติผู้ป่วย แพทย์จำเป็นต้องทราบข้อมูลทั่วๆ ไปเกี่ยวกับผู้ป่วย เช่น ชื่อ เพศ อายุ เชื้อชาติ ที่อยู่ สถานภาพสมรส อาชีพ และสถานที่เกิด จากนั้นจึงซักถามอาการ และประวัติ

อาการสำคัญ

คือ อาการที่นำผู้ป่วยมาหาแพทย์ หรือมาโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษา รวมทั้งระยะเวลาที่มีอาการนั้น 

ประวัติปัจจุบัน

คือ รายละเอียดของเรื่องราวการเจ็บป่วย หรืออาการที่ผู้ป่วยมาหาแพทย์ในครั้งนี้ ประวัติปัจจุบันอาจมีระยะเวลาสั้นหรือยาวก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพที่ผู้ป่วยมีอาการ ผู้ป่วยที่เป็นโรคไส้ติ่งอักเสบอาจมีประวัติเป็นมาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ในขณะที่ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังอาจจะมีประวัติมานานเป็นปี อาการที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับประวัติปัจจุบัน อาจจะมีมากกว่าหนึ่งอาการ และโดยมาก แพทย์มักจะพยายามถามประวัติอาการดังกล่าวนั้นโดยละเอียด โดยเฉพาะระยะเวลาของแต่ละอาการที่เกิดขึ้น ลักษณะ และวิธีการที่เกิดขึ้น ความถี่ และความรุนแรง และการเปลี่ยนแปลงของอาการ ตลอดจนความเกี่ยวข้องกับอาการอื่นๆ รวมทั้งการรักษาที่เกี่ยวข้องกับอาการดังกล่าว ซึ่งผู้ป่วยได้รับมาแล้วนั้นด้วย ในกรณีที่มีอาการหลายๆ อย่าง แพทย์มักเรียงลำดับอาการตามเวลาที่เกิดขึ้น 

นอกจากนี้ แพทย์ยังมักจะถามประวัติตามระบบ ซึ่งอาจจะมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคได้ การถามประวัติตามระบบนี้ แพทย์มักจะถามอาการสำคัญที่อาจพบได้บ่อย และเกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ของร่างกาย และจิตใจ 

ประวัติอดีต 

หมายถึง เรื่องราวการเจ็บป่วยของผู้ป่วยที่เคยเป็นมาแล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยครั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของแผลในกระเพาะอาหาร แต่อาจจะมีประวัติในอดีตว่า เคยเป็นวัณโรคปอดเมื่อ ๑๕ ปีก่อน และเคยผ่าตัดต่อมทอนซิลเมื่อ ๑๐ ปีมาแล้ว เป็นต้น 

ประวัติครอบครัว 

หมายถึง ประวัติการเจ็บป่วย ในครอบครัวผู้ป่วย เช่น การเจ็บป่วยของบิดา มารดา บุตร และปู่ย่าตายาย เป็นต้น โดยเฉพาะประวัติของโรคที่อาจมีความเกี่ยวเนื่องกันได้กับการเจ็บป่วยที่ผู้ป่วยเป็นในครั้งนี้ นอกจากนี้ แพทย์ยังมักจะถามอายุ สุขภาพ สาเหตุของการถึงแก่กรรม และอายุที่ถึงแก่กรรมของสมาชิกในครอบครัว ตลอดจนอาจจะถามประวัติที่เกี่ยวข้องกับโรคที่พบได้บ่อยๆ เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง วัณโรคปอด มะเร็ง โรคหัวใจ โรคหืด และโรคแพ้ต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในครอบครัว 

ประวัติส่วนตัว

คือ เรื่องราวส่วนตัวของผู้ป่วย เช่น คู่สมรส บุตร การทำงาน การเจริญเติบโตในวัยเด็ก และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ประวัติส่วนตัวมักรวมถึงนิสัยประจำของผู้ป่วย เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ยาที่ใช้เป็นประจำ ตลอดจนความสัมพันธ์กับสังคมต่างๆ การศึกษา รายได้ และฐานะ หรือปัญหาทางเศรษฐกิจ ตลอดจนอาชีพ สิ่งแวดล้อมอื่นๆ และ สถานที่ ซึ่งผู้ป่วยอาศัยอยู่ หรือได้เคยอาศัย หรือได้เคยไปมาแล้ว ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยในครั้งนี้

การตรวจร่างกาย

อาการแสดงแห่งชีวิต 

ได้แก่ การตรวจอุณหภูมิ ชีพจร การหายใจ และความดันเลือดของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังอาจจะรวมถึงการตรวจวัดน้ำหนักตัว และส่วนสูงด้วย 

ลักษณะทั่วไป 

ได้แก่ การตรวจดูลักษณะโดยทั่วไป ตลอดจนกระทั่งท่าทางการเดิน ท่าทีของผู้ป่วยในขณะกำลังตรวจ ดูลักษณะว่าผอม อ้วน เตี้ย หรือสูงกว่าธรรมดา มีอาการหอบ บวม เขียวคล้ำ และซีดหรือไม่ การสังเกตความพิการที่อาจเห็นได้ง่าย รวมทั้งความรู้สึกทางอารมณ์ของผู้ป่วยที่มีต่อการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ 

การตรวจตามระบบ

ได้แก่ การตรวจตามระบบต่างๆ ของร่างกายให้ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของผู้ป่วยที่กำลังเป็นอยู่

การตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะ ในห้องปฏิบัติการ


การสืบค้น

การสืบค้นประจำ 

ส่วนใหญ่เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการง่ายๆ หรือการตรวจที่อาจกระทำได้ข้างเตียงผู้ป่วย เช่น การตรวจเลือด เพื่อหาเฮโมโกลบินจำนวนเม็ดเลือดแดง จำนวนและชนิดของเม็ดเลือดขาว การตรวจปัสสาวะ และอุจจาระ เป็นต้น 
การสืบค้นพิเศษ 

คือ การสืบค้นอื่นๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนในการวินิจฉัยโรค หรือช่วยในการแยกโรค การสืบค้นพิเศษนี้ อาจเป็นการตรวจในห้องทดลองหรือไม่ก็ได้ เช่น การตรวจทางรังสีวิทยา การวิเคราะห์หาปริมาณ หรือระดับของสารเคมีต่างๆ ในเลือด การตรวจโดยใช้สารทึบรังสี การตัดเนื้อ (biopsy) เพื่อนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ การฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือด (angiography) การใช้กล้องส่องดูหลอดลม (bronchoscopy) การใช้กล่องส่องดูกระเพาะอาหาร (gastrosputed tomography) เป็นต้น แพทย์มักสั่งหรือกระทำการสืบค้นพิเศษ เมื่อมีข้อชี้บ่งที่แน่นอน และการสืบค้นพิเศษดังกล่าวนั้น ไม่เป็นอันตราย ไม่เป็นโทษ หรือก่อให้เกิดการเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยเกินความจำเป็น ตลอดจนต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่อาจได้จากการสืบค้นนั้นๆ ด้วย

การสืบค้นพิเศษโดยการตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์


การวินิจฉัยโรค

ในการวินิจฉัยโรคนั้นแพทย์ต้องอาศัยข้อมูลบางส่วน หรือทั้งหมดจากการดำเนินงานตามกระบวนการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เพื่อที่จะบอกว่า การเจ็บป่วยของผู้ป่วยเกิดจากพยาธิสภาพชนิดใด หรือมีธรรมชาติของโรคเป็นอย่างไร ตลอดจนอยู่ในระยะใดของโรค เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี ในบางครั้งแพทย์ไม่สามารถจะทำการวินิจฉัยโรคได้ โดยอาศัยขั้นตอนดังกล่าว หรือมีความจำเป็นบางประการ ไม่สามารถรอการรักษาได้ ในกรณีเช่นนี้ แพทย์อาจต้องให้การรักษาไปก่อน โดยคิดว่า ผู้ป่วยน่าจะเป็นอะไรได้มากที่สุด และถ้าผู้ป่วยหายจากโรคดังกล่าวโดยการรักษาที่ให้นั้น ก็อนุมานเอาว่า ผู้ป่วยเป็นโรคนั้น วิธีการดังกล่าวเรียกว่า การวินิจฉัยโดยการรักษา (therapeutic diagnosis) อย่างไรก็ดี หากเป็นไปได้ แพทย์มักหลีกเลี่ยงการให้การรักษา ก่อนให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องแน่นอน

การรักษา

การรักษาเฉพาะ

คือ การรักษาตามสาเหตุของโรคโดยการใช้ยา หรือโดยวิธีการอื่น ซึ่งมีผลเป็นการบำบัดสาเหตุ และทำให้โรคนั้นหายไป เช่น การรักษาโรคไทฟอยด์ ปอดบวม โดยการให้ยาเฉพาะตามสาเหตุนั้นๆ 

การรักษาตามอาการ 

คือ การรักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น ปวดศีรษะ ก็ให้ยากินแก้ปวด ไอก็ให้ยาระงับอาการไอ การรักษาตามอาการมีจุดประสงค์ เพื่อให้อาการนั้นหายไป โดยมิได้รักษาสาเหตุ ดังนั้นผู้ป่วยอาจกลับมีอาการดังเดิม ถ้ามิได้ให้ยาระงับอาการนั้นๆ ไว้ หรือยาที่ให้นั้นหมดฤทธิ์ โดยปกติแพทย์จะให้การรักษาตามอาการเมื่อจำเป็น ในขณะที่ยังไม่ทราบสาเหตุ หรือกำลังหาสาเหตุอยู่ โดยหวังว่า เมื่อพบสาเหตุแล้ว จะได้ให้การรักษาเฉพาะได้ การรักษาตามอาการอาจมีผลเสียได้ เช่น ผลเสียที่เกิดจากการให้ยาระงับอาการนั้นเอง โดยยาระงับอาการอาจกลบอาการ ทำให้แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ หรือวินิจฉัยโรคได้ช้าหรือลำบากขึ้น 

การรักษาประคับประคอง

คือ การรักษา เพื่อประคับประคอง หรือพยุงอาการทั่วๆ ไปของผู้ป่วยให้ดีขึ้น เป็นการเพิ่มความต้านทานตามธรรมชาติให้แก่ร่างกายผู้ป่วยอีกวิธีหนึ่ง ตัวอย่างของการรักษาประเภทนี้ ได้แก่ การแนะนำให้พักผ่อน การให้น้ำเกลือ หรือกลูโคสในผู้ป่วยที่รับประทานอาหารได้น้อยเพราะเหตุใดก็ตาม เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ เป็นต้น การรักษาโดยการให้วิตามิน และแร่ธาตุจำเป็นแก่ร่างกาย การพยาบาลที่ดี และกายภาพ หรือสรีรบำบัด (physiotherapy) วิธีต่างๆ เป็นต้น 

การรักษาบรรเทาอาการ 

เป็นการรักษา เพื่อบรรเทาอาการผู้ป่วยมิให้เลวลง หรือให้เลวลงช้ากว่าปกติ การรักษาประเภทนี้ใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ทราบแน่นอนว่า รักษาไม่หาย เช่น การให้ยาต้านมะเร็ง หรือการใช้รังสีบำบัด (radiotherapy) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง 

จิตวิทยารักษา 

เป็นการรักษาที่มีจุดประสงค์สำคัญ เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีจิตใจ และอารมณ์ดีขึ้น ผู้ป่วยที่มีโรคของร่างกายจะมีความผิดปกติทางจิตใจด้วยเสมอ และเป็นหน้าที่ของแพทย์ ที่ต้องรักษาผู้ป่วยทั้งร่างกาย และจิตใจ สุภาษิตโบราณอันหนึ่งกับกล่าวว่า "ไม่มีโรค มีแต่ผู้ป่วย" ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะให้รักษาผู้ป่วยทั้งร่างกาย และจิตใจ มิใช่แต่รักษาโรคทางกายเท่านั้น วิธีหนึ่งของจิตวิทยารักษา คือ การที่แพทย์ให้ความเชื่อมั่น อธิบายธรรมชาติของโรคให้ผู้ป่วยพังโดยใช้คำพูดง่ายๆ เพื่อเป็นการระงับอาการวิตกกังวลจากโรคทางกายที่ผู้ป่วยเป็นอยู่

การป้องกัน

การป้องกันนับว่า เป็นส่วนสำคัญส่วนส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษาโรค วิธีการในกระบวนการป้องกันโรคมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วย พาหะของโรค สิ่งแวดล้อม แพทย์ และผู้ที่มีส่วนร่วมในการบำบัดรักษา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องด้วย ในการป้องกันโรคใดๆ ก็ตาม หากเป็นไปได้ควรจะป้องกันมิให้มีการเกิดโรคนั้น แต่ถ้าโรคนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องพยายามรักษาหรือขจัดโรคนั้นๆ ให้หมดสิ้นโดยเร็วไปพร้อมๆ กันด้วย อธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงเรื่องราวของโรค และวิธีการป้องกันมิให้เป็นโรคนั้นๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ผู้ป่วยพึงได้รับปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และทำให้สามารถประกอบอาชีพได้เต็มที่

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow