Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การบริจาคและขบวนการเก็บโลหิตหรือเลือด

Posted By Plookpedia | 11 ธ.ค. 59
1,027 Views

  Favorite

การบริจาคและขบวนการเก็บโลหิตหรือเลือด

เกี่ยวกับการบริจาคโลหิต มีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่เข้าใจถูกต้องว่า ความจริงเป็นการบริจาคโลหิตเพียงส่วนหนึ่งของจำนวนเลือดสำรองที่ร่างกายมีสำรองไว้เท่านั้น ไม่ใช่บริจาคส่วนที่ร่าง กายจำเป็นต้องใช้อยู่ ปัญหาที่ผู้อยู่ในวงการธนาคารเลือดได้ยินได้ฟังเป็นประจำ และควรให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการบริจาคโลหิตเพื่อความเข้าใจถูกต้องของประชาชน ได้แก่

๑. ทำไมเราจึงต้องบริจาคเลือด 

การให้เลือดเพื่อทดแทนส่วนที่เสียไป เป็นหนทางเดียวที่จะแก้ไขภาวะช็อค (shock) เนื่องจากการเสียเลือด ในสถานที่ที่ไม่มีเลือดเพียงพอความต้องการ

เนื่องจากไม่มีโรงงานสร้างเลือด เลือดจึงต้องได้มาจากการบริจาค โดยศรัทธาจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น 

๒. การบริจาคเลือดมีอันตรายเกิดขึ้นได้หรือไม่ 

ผู้ที่เคยบริจาคเลือด ย่อมสามารถยืนยันได้ว่า การบริจาคเลือดนั้นไม่มีอันตรายเลยแม้แต่นิดเดียว ทั้งนี้เนื่องจากการบริจาคเลือดครั้งหนึ่งๆ นั้น ผู้บริจาคเลือด จะเสียสละเลือดส่วนสำรองเพียงบางส่วนเท่านั้น ตามปกติร่างกายมีเลือดสำรองเก็บไว้ประมาณ ๔ ส่วนของเลือดที่มีอยู่ในร่างกายทั้งหมด ๑๒ ส่วน แต่ในการบริจาคเลือดครั้งหนึ่งนั้น ผู้บริจาคได้บริจาคได้เพียง ๑ ส่วนของจำนวนเลือดที่มีสำรองไว้เท่านั้น

๓. ท่านจะต้องมีคุณสมบัติเช่นไรบ้าง จึงจะสามารถบริจาคเลือดได้

ผู้ใดก็ตามที่มีอายุระหว่าง ๑๘-๖๐ ปีบริบูรณ์ มีร่างกาย แข็งแรง สมบูรณ์ดี เมื่อผ่านการตรวจสุขภาพที่จำเป็นก่อนการบริจาคเลือด เช่น วัดอุณหภูมิของร่างกาย ชีพจร ความดันโลหิต ความเข้มข้นของเลือด ก็สามารถบริจาคเลือดได้ แต่เลือดของท่านอาจมีอันตรายต่อผู้ป่วยได้ หากท่านเป็น หรือเคยเป็นโรคตับอักเสบ หรือดีซ่าน โรคมาลาเรีย และโรคซิฟิลิส 

๔. การบริจาคเลือดครั้งหนึ่งๆ นั้น ใช้เวลานานเท่าใด

เวลาที่ใช้จริงๆ ในการบริจาคเลือดนั้นประมาณไม่เกิน ๑๐ นาที แต่ถ้ารวมเวลาที่เสียไปในการลงทะเบียน ตรวจร่างกาย นั่งพักผ่อน ดื่มเครื่องดื่มภายหลังบริจาคเลือดด้วยแล้ว จะใช้เวลารวมทั้งสิ้นประมาณไม่เกิน ๔๕ นาที 

๕. หมู่เลือดของคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ 

หมู่เลือดเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวซึ่งได้รับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์มาจากบรรพบุรุษ ดังนั้นจึงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ในบางโอกาส ซึ่งพบได้น้อยมาก อาจมีการรายงานหมู่เลือดผู้บริจาคเลือดผิดพลาดไปได้ เนื่องจากการตรวจผิดหรือลงผลผิด

๖. หมู่เลือดมีความสำคัญในการให้เลือดหรือไม่ 

เกี่ยวกับการให้เลือด หมู่เลือดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมู่เลือดระบบเอบีโอ มีความสำคัญมาก ต้องเลือกหมู่เลือดเอบีโอ ชนิดเดียวกัน (บางทีหมู่เลือดอาร์เอ็ชด้วย) ที่ตรวจแล้ว พบว่า เข้ากันได้ ก่อนที่จะให้เลือดทุกครั้ง บางคราวแม้จะมีเลือดเอบีโอ ชนิดเดียวกับผู้ป่วย ก็ยังอาจเสียชีวิตจากการให้เลือดได้ เนื่องจากเข้าไม่ได้ในหมู่เลือดระบบอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญทางคลินิก เช่น ระบบคิดด์ (Kidd) ระบบเลวิส (Lewis) ระบบดัฟฟี (Duffy) เป็นต้น การเสียชีวิตอาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากเลือกวิธีตรวจการเข้าได้ (cross - matching) โดยวิธีที่ไม่ไวพอ นอกจากนั้นแล้ว ความผิดพลาด ของผู้ปฏิบัติการ ก็เป็นความผิดพลาดอีกประการหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะจิต ซึ่งมีทางป้องกันได้ แต่ไม่สามารถขจัดให้สูญสิ้นไปได้ จึงยังคงเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่ง ที่อาจทำ ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการให้เลือด 

๗. หมู่เลือดที่มีความสำคัญที่สุด มีอะไรบ้าง 

หมู่เลือดที่มีความสำคัญที่สุด ได้แก่ 

หมู่โอ พบได้ประมาณร้อยละ ๓๘ ของประชากรไทย 
หมู่เอ พบได้ประมาณร้อยละ ๒๐ ของประชากรไทย 
หมู่บี พบได้ประมาณร้อยละ ๓๕ ของประชากรไทย 
หมู่เอบี พบได้ประมาณร้อยละ ๗ ของประชากรไทย 

หมู่เลือดเอบีโอแต่ละชนิด จะพบว่าประมาณ ๑ ถึง ๓ คน ใน ๑,๐๐๐ คน เป็นหมู่เลือดอาร์เอ็ชลบ

๘. เลือดสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานเท่าใด 

เลือดภายในร่างกาย เม็ดเลือดแดงเม็ดหนึ่งๆ มีอายุอยู่ใน กระแสโลหิตได้ประมาณ ๑๒๐ วัน

ส่วนการบริจาคเลือด เลือดจะถูกผสมกับน้ำยากันเลือด แข็งในสัดส่วนที่พอเหมาะก่อน น้ำยากันเลือดแข็งที่นิยมใช้ใน ปัจจุบัน ได้แก่ น้ำยา เอซีดี และน้ำยา ซีพีดี ทำให้สามารถ เก็บเลือดไว้ใช้นานถึง ๒๑ วัน และ ๒๘ วัน ตามลำดับ เมื่อ เก็บไว้ที่อุณหภูมิ +๒ องศา ถึง +๔ องศาเซลเซียส นอกจากนั้นแล้ว หากเก็บไว้โดยขบวนการพิเศษเก็บเป็นเลือดแข็ง (Frozen blood) จะสามารถเก็บไว้ใช้ได้เป็นเวลานานนับปี

ขั้นตอนการบริจาคโลหิต : วัดความดันเพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของร่างกาย

 

ขั้นตอนการบริจาคโลหิต : เจาะเลือด เพื่อตรวจสอบหมู่เลือดและคุณสมบัติของเลือด

 


 

ขั้นตอนการบริจาคโลหิต : หลังตรวจสอบร่างกายและเลือดแล้ว ปรากฏว่าร่างกายสมบูรณ์และเลือดไม่มีอันตรายก็สามารถบริจาคเลือดได้

 

ขั้นตอนการบริจาคโลหิต : ภายหลังการบริจาค ผู้บริจาคจะพักผ่อนสักครู่หนึ่ง


ประวัติการให้เลือดและการดำเนินงานธนาคารเลือดในประเทศไทย 

ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร เป็นบุคคลหนึ่ง ที่สนใจค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติการแพทย์ไทยไว้มากมายหลายสาขา รวมทั้งประวัติการให้เลือดและการดำเนินงานธนาคาร เลือดด้วย ท่านเชื่อว่า การให้เลือดครั้งแรกในประเทศไทยนั้น กระทำที่โรงพยาบาลศิริราช ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แต่จะเป็น ผู้ใดเป็นผู้ทำนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๔ นายแพทย์แบ็กแมน (Carl Bachman) ได้ใช้เลือดของ ผู้ป่วยให้แก่ผู้ป่วยเอง ในรายผู้ป่วยมีครรภ์นอกมดลูก และมีการตกเลือดในช่องท้องมากจนอาการเป็นที่น่าวิตก ได้ใช้ฟองน้ำซับเลือดที่อยู่ในช่องท้องและช่องเชิงกราน บีบผ่านผ้ากรองที่เป็นผ้าซับโลหิต ลงในขวดน้ำเกลือ ซึ่งให้น้ำเกลืออยู่ผ่านเข้าสู่หลอดเลือดดำของผู้ป่วย

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สรรค์ ศรีเพ็ญ

 

 ส่วนการดำเนินงานธนาคารเลือดในประเทศไทยนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์สรรค์ ศรีเพ็ญ ได้บันทึกเป็นหลักฐาน ลงพิมพ์ในสารศิริราช (๑: สิงหาคม, ๒๘๒ - ๒๘๙, ๒๔๙๒) ว่า "ในระยะสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการใช้เลือดเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงได้ตั้ง "หน่วยถ่ายเลือด" ขึ้น โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์สรรค์ ศรีเพ็ญ เป็นหัวหน้าและมีพยาบาลประจำ ๑ คน เริ่มดำเนินการเมื่อ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ส่วนการดำเนินงานธนาคารเลือด ในต่างจังหวัด ตามหลักฐานปรากฏในหนังสือคำแนะนำการจัดตั้ง ธนาคารเลือด กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเขียน โดยนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว และประภา สุขอุดม ได้กล่าว ไว้ว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้ปรากฏมีธนาคารเลือดเปิดขึ้นที่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในต่าง จังหวัดเป็นแห่งแรก ต่อมาปีพ.ศ. ๒๔๙๔ โรงพยาบาลหญิง จึงได้จัดตั้งธนาคารเลือดขึ้นในจังหวัดพระนคร"
จากหลักฐานอ้างอิงดังกล่าวข้างต้น ทำให้เชื่อได้ว่า การให้เลือดในประเทศไทย เริ่มมานานกว่า ๒๐ ปี ก่อนที่จะมีการดำเนินงานจัดตั้งธนาคารเลือดขึ้น และธนาคารเลือดได้จัดตั้ง เป็นแห่งแรกที่โรงพยาบาลศิริราช การดำเนินการธนาคารเลือดได้แพร่หลายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ สถาบันการแพทย์ทั้งทหาร และพลเรือนทั่วประเทศ เนื่องด้วยระยะนี้เป็นระยะเวลาภายหลัง สงครามโลกครั้งที่ ๒ เสร็จสิ้นลง มีนายแพทย์ไทย ซึ่งได้รับการฝึกอบรมทางการแพทย์ กลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก ซึ่งตระหนักดีถึงความจำเป็นของการบริการธนาคารเลือด

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow