Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบต่อมไร้ท่อ

Posted By Plookpedia | 06 ธ.ค. 59
8,010 Views

  Favorite

ระบบต่อมไร้ท่อ 

      ต่อมไร้ท่อ หมายถึงต่อมไม่มีท่อ สิ่งที่หลั่งจากต่อมเหล่านี้ เข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนโดยตรง ไม่ต้องผ่านท่อ ดังนั้นเซลล์ ของต่อมไร้ท่อจะสัมผัสกับหลอดเลือดฝอยภายในต่อมอย่างใกล้ชิด ต่อมเหล่านี้จึงมีเลือดมาเลี้ยงอย่างมากมาย  ต่อมเดียวกันอาจมีทั้งต่อมไร้ท่อและต่อมมีท่ออยู่ด้วยกัน เช่น ตับอ่อน อัณฑะ และรังไข่ ตับอ่อนหลั่งน้ำย่อยผ่านท่อไปสู่ ดูโอดีนัม และขณะเดียวกันกลุ่มเซลล์ของตับอ่อน (islets of langerhans) ก็หลั่งฮอร์โมนสู่กระแสเลือดโดยตรง อัณฑะก็สร้าง ตัวอสุจิผ่านออกไปทางท่อ แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มเซลล์เลย์ดิก (cells of Leydig) สร้างฮอร์โมนเพศสู่กระแสโลหิต ต่อมไร้ท่อสร้างสารเคมีซึ่งมักจะเรียกว่า ฮอร์โมน ซึ่งจะไป ควบคุมหรือดัดแปลงสมรรถภาพของเซลล์ของอวัยวะอื่นๆ ผลของมันอาจไปกระตุ้นหรือยับยั้งก็ได้ 

ต่อมหมวกไต 

      มี ๒ ต่อม รูปร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยม หรือรูปพระจันทร์ เสี้ยว อยู่สองข้างของสันหลังและสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับปลายบน ของไต ขนาดของต่อมหมวกไตสูง ๓-๕ เซนติเมตร กว้าง ๒.๕-๓ เซนติเมตร และหนาประมาณ ๑ เซนติเมตร หนัก ๗-๑๐ กรัม

 

ต่อมหมวกไต และภาพตัดขวาง แสดงส่วนเปลือกและส่วนในของต่อม

 
ต่อมนี้ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ส่วนเปลือก (cortex) ค่อนข้างหนาสีเหลืองและส่วนใน (medulla) สีแดงคล้ำ ส่วนในมี ประมาณ ๑ ใน ๑๐ ของต่อมทั้งหมด 

      ส่วนเปลือก มีบทบาทมากในร่างกาย ถ้าหน้าที่ของ ต่อมนี้เสียไปจะมีผลต่อคาร์โบไฮเดรตเมแทบอลิซึม (carbohydrate metabolism) และอิเล็กโทรไลต์ (electrolytes) และน้ำของร่างกาย ส่วนนี้หลั่งฮอร์โมนซึ่งสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับฮอร์โมนเพศ และ สารพวกสเตอรอยด์ (steroids) ซึ่งค้นพบแล้วมีอย่างน้อย ๒๘ ชนิด จากส่วนเปลือก 

      ส่วนใน สร้างฮอร์โมนแอดรีนาลิน (adrenalin) และ นอร์แอดรีนาลิน (noradrenalin) ทำให้หลอดเลือดทั่วไปหดตัว และทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แอดรีนาลินทำให้เกิดคาร์โบไฮเดรต เมแทบอลิซึม แม้จะทำให้หลอดเลือดที่ผิวหนังหดตัว แต่ก็ทำ ให้หลอดเลือดที่กล้ามเนื้อขยายตัวด้วย

ต่อมไทรอยด์ 

      อยู่ที่ส่วนล่างด้านหน้าของคอติดแน่นกับหลอดลมและ กล่องเสียง ขนาดของต่อมไทรอยด์แตกต่างกันไปตามอายุ เพศ และภาวะโภชนาการ ขนาดค่อนข้างโตในคนวัยรุ่น หนุ่มสาว และในคนที่ได้รับอาหารอย่างสมบูรณ์ ในหญิงยังโตขึ้นชั่วคราว ในขณะมีเลือดประจำเดือนและตั้งครรภ์ ต่อมมีสีแดงแกมเหลือง และนุ่ม ขนาดเฉลี่ย สูง ๕ เซนติเมตร กว้าง ๖ เซนติเมตร หนา ๑-๒ เซนติเมตร หนัก ๑๘-๒๕ กรัม ประกอบด้วย ๒ กลีบ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายรูปกรวย และต่อกันในแนวกลางด้วยเนื้อต่อม แคบๆ ต่อมนี้หลั่งฮอร์โมนเรียกว่า ไทร็อกซิน (thyroxin) ซึ่งมีความสำคัญที่สุดสำหรับการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างเหมาะสม และสำหรับหน้าที่ของเนื้อเยื่อในร่างกายเกือบทั้งหมด

 

ด้านหลังของคอหอย หลอดอาหาร ต่อมไทรอยด์ และต่อมพาราไทรอยด์
ที่ส่วนบนของภาพ ผ่าคอหอยให้เห็นลิ้น และช่องทางเข้าสู่กล่องเสียง

 

ต่อมพาราไทรอยด์ 

      มี ๒ คู่ เป็นต่อมขนาดเล็กอยู่ชิดกับด้านหลังของต่อม ไทรอยด์ ต่อมนี้สร้างฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทส่วนหนึ่ง เกี่ยวกับการรักษาสมดุลของแคลเซียมในเลือด และในกระดูก ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ถ้าตัดต่อมนี้ออกหมดทั้ง ๔ ต่อม สัตว์นั้นจะตายภายใน ๒-๓ วัน  ต่อมพาราไทรอยด์เหล่านี้ขนาดแตกต่างกันมาก โดยทั่วไปยาว ๓-๖ มิลลิเมตร กว้าง ๒-๔ มิลลิเมตร หนา ๐.๕-๒ มิลลิเมตร ทั้งหมดหนัก ๐.๑๐-๐.๑๔ กรัม 

ต่อมไทมัส 

      อยู่ในทรวงอกส่วนบน ระหว่างกระดูกอกกับหลอด เลือดใหญ่ อาจยื่นต่ำลงไปอยู่หน้าเยื่อหุ้มหัวใจ ในเด็กเกิดใหม่ มีขนาดโตกว่าในผู้ใหญ่มาก  ต่อมไทมัสเป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่ง ของระยะการเติบโต ของชีวิต ๒-๓ ปีหลังเกิดอัตราการเจริญเติบโตลดลงอย่าง รวดเร็ว แต่ก็ยังเจริญต่อไปจนถึงระยะวัยรุ่น ต่อจากนั้นไปก็จะ ค่อยๆ ฝ่อเล็กลง  ในช่วงการเจริญเติบโต ต่อมไทมัสมีสีชมพู ประกอบด้วย ๒ กลีบ รูปคล้ายพีระมิดแบนทางข้าง และขนาดอาจไม่เท่ากัน กลีบทั้งสองของต่อมยึดกันไว้ด้วยพังผืดหลวมๆ  ต่อมไทมัส นุ่ม ขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไปตามอายุ ในเด็กจะมีรูปคล้ายสี่เหลี่ยมกว้าง ในผู้ใหญ่จะหดสั้น แต่ค่อนข้าง แบน น้ำหนักประมาณ ๑๓ กรัมเมื่อเกิด ๓๗ กรัมในระยะ หนุ่มสาว และ ๑๐ กรัม ในคนชรา 

 

แสดงต่อมไทรอยด์ ต่อมไทมัส และหลอดเลือดบริเวณคอในเด็กเกิดใหม่

 

ต่อมใต้สมองหรือต่อมพิทูอิทารี 

      เป็นต่อมเล็กๆ ขนาดกว้าง ๑๔ มิลลิเมตร สูง ๖ มิลลิเมตร และยาวจากหน้าไปหลัง ๙ มิลลิเมตร หนักประมาณ ๑/๒ กรัม  ต่อมนี้มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่สำคัญหลายอย่าง ซึ่งมี อิทธิพลต่อต่อมไร้ท่ออื่นๆ ด้วย เช่น สร้างฮอร์โมน ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายและ กระดูก  สร้างฮอร์โมนควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ พาราไทรอยด์ ส่วนเปลือกของต่อมหมวกไต อัณฑะ และรังไข่

และสร้างฮอร์โมน ที่ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ทำ ให้การปัสสาวะเป็นปกติ และทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดตัว  นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเซลล์ของตับอ่อนสร้างฮอร์โมน อินซูลิน ซึ่งควบคุมคาร์โบไฮเดรตเมแทบอลิซึม รังไข่สร้าง ฮอร์โมนเพศหญิง (นอกเหนือจากการสร้างไข่) และอัณฑะ สร้างฮอร์โมนเพศชาย (นอกเหนือจากการสร้างตัวอสุจิ) 

ต่อมไพนีลหรือต่อมเหนือสมอง 

      เป็นต่อมเล็กๆ รูปไข่ หรือรูปกรวย ค่อนข้างแข็ง สีน้ำตาล ขนาดยาวจากหน้าไปหลัง ๕-๑๐ มิลลิเมตร กว้าง และสูง ๓-๗ มิลลิเมตร หนัก ๐.๒ กรัม หน้าที่ของต่อมนี้ยังไม่ทราบชัด

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow