Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบผิวหนัง

Posted By Plookpedia | 06 ธ.ค. 59
4,170 Views

  Favorite

ระบบผิวหนัง

      ผิวหนังปกคลุมห่อหุ้มร่างกายทั้งหมด ซึ่งภายในมีปลายประสาทรับความรู้สึกมากมาย เพื่อรับรู้การสัมผัส การกด ความเจ็บ และอุณหภูมิร้อนเย็น ระบบผิวหนังมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และยังมีหน้าที่เป็นอวัยวะขับเหงื่อ และไขมันด้วย ผิวหนังยืดหยุ่นได้มาก บนผิวของหนังมีรูเล็กๆ อยู่ ทั่วไป รูเล็กๆ นี้ เป็นรูเปิดของขุมขน ท่อของต่อมไขมัน และต่อมเหงื่อ ผิวหนังที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีรอยนูนเป็นสันจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ปลายนิ้วมือทั้งห้ามีสันนูนเรียงกันเป็นร้อยหวาย หรือก้นหอย จึงใช้รอยพิมพ์ปลายนิ้วมือเป็นประโยชน์ในการแยกหรือ ทำนายบุคคลได้โดยการพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากรายละเอียดในการเรียงตัวของรอยนูนนี้ แตกต่างกันในแต่ละบุคคล บริเวณผิวหนังที่มีกล้ามเนื้อเกาะอยู่ ผิวหนังจะเกิดเป็นรอยย่นได้เมื่อกล้ามเนื้อนี้หดตัว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ บริเวณใบหน้า มีกล้ามเนื้อมายึดติดที่หนังมาก จึงทำให้เกิด รอยย่น ซึ่งแสดงอารมณ์โกรธ กลัว ยิ้มแย้มแจ่มใส หรือเศร้าหมองได้
      ส่วนใหญ่ของร่างกาย ผิวหนังจะเลื่อนไปเลื่อนมาได้ แต่บางแห่งก็ติดแน่นกับอวัยวะภายใต้ เช่น หนังศีรษะ ด้านนอกของใบหู ฝ่ามือ และฝ่าเท้า และตามรอยพับของข้อต่อต่างๆ ผิวหนังประกอบด้วย ๒ ส่วน

      ๑. ชื้นตื้น เรียกว่า หนังกำพร้า (epidermis) 
      ๒. ชั้นลึก เรียกว่า หนังแท้ (dermis)

หนังกำพร้า 

      คลุมอยู่บนหนังแท้ ความหนาของหนังกำพร้าแตกต่างกันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หนาตั้งแต่ 0.3 ถึง 1 มิลลิเมตร หนังกำพร้าที่ฝ่ามือ และฝ่าเท้าหนาที่สุด และบางที่สุดที่หนังตา ชั้นนี้ไม่มีหลอดเลือดเลย และประกอบด้วยเซลล์รูปร่างต่างๆ กันหลายชั้น ชั้นตื้นที่สุด ผิวเป็นเซลล์แบนๆ และตายแล้ว จะลอกหลุดออกไปเป็นขี้ไคล

หนังแท้ 

      ประกอบด้วยเส้นใยพังผืดเป็นส่วนใหญ่ประสานไขว้กันไปมา ส่วนตื้นของชั้นนี้ ยื่นเป็นปุ่มนูนขึ้นมาสวมกับช่องทางด้านลึกของหนังกำพร้า ในปุ่มนูนนี้มีหลอดเลือด และปลายประสาทรับความรู้สึก ส่วนลึกของหนังแท้จะมีแต่เส้นใยพังผืดประสานกันค่อนข้างแน่น ความยืดหยุ่นของผิวหนังที่อยู่เส้นใยพังผืด และเนื้อเยื่อใต้หนัง ในคนชรา เส้นใยพังผึดยึดหยุ่นลดน้อยลง จึงเกิดเป็นรอยย่น หย่อนยาน  หนังสัตว์ที่นำมาทำเป็นรองเท้า กระเป๋านั้น ก็คือส่วนของหนังแท้นั่น เอง ซึ่งเหนียว หนา และทนทาน ขนหรือผมเจริญมาจากหนังกำพร้าชั้นลึก 

      สีของผิวหนัง เกิดจากจำนวนเม็ดสีเมลานิน (melanin) ซึ่งอยู่ในเซลล์ชั้นลึกของหนังกำพร้า ถ้าเม็ดสีเมลานินมีมากก็ มีผิวดำ ถ้าเม็ดสีเมลานินมีน้อยก็มีผิวขาว ในที่บางแห่งผิวหนัง มีสีจัดขึ้น เช่น ที่บริเวณหัวนม ลานหัวนม รอบๆ ทวารหนัก และผิวหนังที่ถูกแสงแดดอยู่เสมอ สีของผิวหนังจึงอาจใช้ แบ่งแยกเชื้อชาติได้ เช่น พวกนิโกร มีเม็ดสีเมลานินมาก ตลอดความหนาของหนังกำพร้า ผิวจึงดำมาก พวกยุโรปมีเม็ดสีเมลานินน้อยผิวจึงขาว และพวกเอเชียมีเม็ดสีเมลานินปานกลาง ผิวจึงเหลือง โดยเฉพาะพวกสืบเชื้อสายชาวมองโกเลีย ผิวหนังรอบๆ ทวารหนักจะมีสีดำหรือเขียวมากกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

 

นิ้วมือผ่าตามยาว แสดงให้เห็นเล็บและรากเล็บ

 

      สีของผิวหนัง นอกจากจะเกิดจากเม็ดสีเมลานินแล้ว ยังเกิดจากสีของเลือดในหนังแท้ด้วย ซึ่งทำให้ผิวมีสีชมพูจัด ในคนที่มีเลือดสมบูรณ์ดี และทำให้ผิวซีดในคนที่เป็นโรคโลหิตจาง นอกจากนั้นยังขึ้นกับความหนาของผิวหนังด้วย จะเห็นได้ในเด็กทารก มีผิวหนังบาง จึงมีผิวสีชมพู

หน้าที่ของผิวหนัง 

ในการที่ผิวหนังห่อหุ้มร่างกายไว้ทั้งหมด จึงมีหน้าที่ 

       ๑. ช่วยป้องกันอวัยวะที่อยู่ลึกทั่วไปจากอันตราย และ การแทรกซึมของเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ 
      ๒. ป้องกันไม่ให้น้ำภายนอกซึมเข้าไปในร่างกาย และป้องกันมิให้น้ำในร่างกายระเหยออกไป 
      ๓. ผิวหนังจะหนาตัวขึ้น เมื่อผิวหนังส่วนนั้นถูไถ กับสิ่งอื่นบ่อยๆ 

ขณะเดียวกันผิวหนังยังเป็นอวัยวะด้วย ซึ่งมีหน้าที่ 

      ๑. รับความรู้สึกต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยที่มีปลาย ประสาทรับความรู้สึกหลายชนิด และจำนวนมาก เช่น เจ็บ สัมผัส กด และร้อนเย็น 

      ๒. ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย โดยระบาย ความร้อนออกจากร่างกายผ่านทางผิวหนัง 

      ๓. ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย โดยต่อมเหงื่อ ขับเหงื่อ จึงทำหน้าที่ช่วยไตขับถ่ายของเสียจากร่างกาย ซึ่งเห็นชัดในหน้าร้อนจะมีเหงื่อออกมาก 

       ๔. เป็นแหล่งสร้างวิตามินดี ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของแสงอัลตราไวโอเลตของแสงอาทิตย์ต่อสเตอรอล (sterol) ในผิวหน้า ป้องกันโรคกระดูกอ่อน  ผิวหนังทั้งหมดที่ห่อหุ้มร่างกายผู้ใหญ่ มีเนื้อที่ ประมาณ ๑.๗ ตารางเมตร 

      การเจริญเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เพื่อเป็นอวัยวะป้องกันอันตรายนั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงให้มากมายในสัตว์ต่างๆ เช่น ในจระเข้ ผิวหนังเปลี่ยนเป็นแผ่นหนา ในคางคก เจริญเป็นต่อมพิษ ในปลาเปลี่ยนเป็นเกล็ดและต่อมเมือก

สิ่งที่เจริญเปลี่ยนแปลงไปจากผิวหนัง

เล็บ

      เจริญมาจากหนังกำพร้า เป็นแผ่นแข็งยืดหยุ่นได้ อยู่ ทางด้านหลังของปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าปล้องสุดท้าย เล็บมีลักษณะโปร่งแสง มีส่วนที่ยื่นพ้นปลายนิ้ว ซึ่งไม่มี หลอดเลือดและประสาทมาเลี้ยง ซึ่งเป็นส่วนที่เราตัดออก และตกแต่งให้สวยงามได้ ส่วนของเล็บที่ฝังอยู่ในหนัง เรียกว่า รากเล็บ และสองข้างของเล็บมีผิวหนังยื่นมาคลุมเล็กน้อย  ทางด้านลึกของเล็บมีปลายประสาทรับความรู้สึกมากมาย ดังนั้นเมื่อเป็นฝี มีดบาดหรือหนามตำใต้เล็บ จึงเจ็บปวดมาก และมีหลอดเลือดมาเลี้ยงมาก สีของเลือดจึงสะท้อนผ่านเล็บ ทำให้เล็บมีสีชมพูในคนปกติ ในขณะเป็นโรคโลหิตจางจะมีสีซีดขาว  การงอกของเล็บเฉลี่ยประมาณ ๑ มิลลิเมตร ใน ๑ สัปดาห์ หรือ ๓ มิลลิเมตร ใน ๑ เดือน เล็บเท้างอกช้ากว่าเล็บมือ เมื่อเล็บถูกดึงหลุดไป จะมีเล็บใหม่งอกขึ้นมาได้

ขนหรือผม

      ขนหรือผมเจริญมาจากหนังกำพร้าชั้นลึก ขนเจริญเกือบทั่วทั้งร่างกาย ยกเว้นในบางแห่งเท่านั้น เช่น หัวนม สะดือ ขอบปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และด้านหลังของนิ้วปล้องสุดท้าย  ขนมีความยาว ความหยาบ ความหนาแน่น รูปร่าง และสีแตกต่างกันในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ลักษณะของขนเหล่านี้แตกต่างกันตามอายุ เพศ และเชื้อชาติด้วย เช่น เชื้อชาติมองโกเลียนมีเส้นผมกลมและตรง เชื้อชาตินิโกรมีเส้นผมแบนและหยิก และเชื้อชาติคนผิวขาวมีเส้นผมรูปรีและหยักศก  ขนหรือผมประกอบด้วย สารที่ไม่นำความร้อน ดังนั้นจึงช่วยป้องกันความร้อนได้ เช่น นำขนสัตว์มาทำเสื้อกันหนาว ขนในที่บางแห่งหนาแน่น ก็ป้องกันการเสียดสีกระทบกระเทือนได้ สัตว์บางชนิดใช้ขนเป็นอวัยวะรับความรู้สึก เช่น แมวหากินกลางคืน ก็อาศัยหนวดคลำทาง

 

ผิวหนังตัดตามยาว แสดงให้เห็นขนหรือผม


ขนทุกเส้นประกอบด้วย เส้นขน รากขน และขุมขน

เส้นขน เป็นส่วนของขนที่โผล่พ้นผิวหนังขึ้นมา

รากขน เป็นส่วนที่ฝังอยู่ในรูผิวหนังเฉียง ๆ ดังนั้นเส้นขนจึงเอียงเฉียง ๆ ด้วย ส่วนลึกของรากขนโป่งเป็นกระเปาะและมีส่วนของหนังแท้ยื่น เข้าไปภายในกระเปาะนี้ 

ขุมขน เป็นส่วนของหนังกำพร้าและหนังแท้ ยื่นลึกเข้าไปถึงเยื่อใต้หนัง มาประกอบเป็นท่อล้อมรอบรากขน มีท่อของต่อมไขมันมาเปิดสู่ชุมชน 

การเจริญของขน 

      ขนงอกยาวขึ้นเรื่อยๆ จนยาวเต็มที่ ตามชนิด และตำแหน่งที่อยู่ของขนนั้น แล้วก็หยุดงอกไประยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้น ก็จะร่วงหลุดไป อายุของขนรวมถึงระยะหยุดงอกก่อนจะหลุดนั้น แตกต่างกันตามชนิดและตำแหน่งของขน เช่น ขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ มีอายุประมาณ ๓-๔ เดือน ขนอ่อนตามร่างกายอายุประมาณ ๔ เดือนครึ่ง ผมอายุ ๔ ปี

ในคน จะเริ่มมีขนตั้งแต่เดือนที่ ๕ ของทารกในครรภ์ ขนจะล่วงหลุด ไป และงอกขึ้นใหม่เสมอ ขนชุดแรกมีลักษณะละเอียดอ่อน ไม่มีสี เรียกว่า ขนละเอียด ต่อไปมีขนชุดที่สอง เกิดขึ้นแทนที่ขนชุดแรก เรียกว่า ขนอ่อน เมื่อเข้าวัยรุ่น มีขนหยาบกว่า ยาวกว่า และสีเข้มกว่านี้ ขึ้นทดแทนขนชุดที่สองในที่บางแห่ง เรียกว่า ขนชุดสุดท้าย

ส่วนใหญ่ของร่างกายมีขนอ่อนอยู่ทั่วไป อาจมีขนอ่อนชนิดเดียว พบได้ที่หน้า คอ และลำตัวของหญิง ที่แขน ขา และศรีษะมีขนอ่อน และขนชุดสุดท้ายรวมกัน ขนชุดสุดท้าย อย่างเดียว ได้แก่ คิ้ว ขนตา ขนรักแร้ ขนจมูก และขนหัวหน่าว ที่ศีรษะส่วนใหญ่เป็นขนชุดสุดท้าย แต่อาจะมีขนอ่อนปะปนบ้าง

กล้ามเนื้อขนลุก 

       เป็นกล้ามเนื้อเรียบ ยึดเกาะหนังกำพร้าชั้นลึก ไปถึง ผนังชั้นนอกของขุมขนทางด้านมุมป้าน เมื่อกล้ามเนื้อนี้หดตัว ก็ทำให้รากขน และเส้นขนตั้งชันขึ้น ในขณะเดียวกันก็บีบ ต่อมไขมัน ซึ่งอยู่ตรงมุมระหว่างขุมขนกับกล้ามเนื้อขับไขมันออกมา

ต่อมไขมัน 

      เป็นต่อมรูปกระเปาะเล็กๆ อยู่ในหนังแท้ พบได้ใน ผิวหนังเกือบทั้งหมดที่มีขน มีมากที่หนังศีรษะ ใบหน้า รอบๆ รูเปิดต่างๆ คือ ทวารหนัก จมูก ปาก และรูหู แต่บางแห่ง ก็ไม่มีต่อมไขมันเลย เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า

 

ผิวหนัง แสดงให้เห็นต่อมไขมันและต่อมเหงื่อ

 

      ส่วนก้นของต่อมกว้างออกเป็นรูปกระเปาะ ๑-๕ กระเปาะ แต่มีท่ออันเดียวไปเปิดสู่ขุมขน ยกเว้นที่บริเวณลานหัวนม ท่อเปิดสู่ผิวหนังโดยตรง ขนาดของต่อมไม่สัมพันธ์กับขนาดของคน เช่น ทารก ในครรภ์และเด็กเกิดใหม่ขุมขนเล็กแต่ต่อมไขมันโต ที่จมูกและใบหน้า มีต่อมไขมันมากจึงเป็นมันอยู่เสมอ ต่อมไขมันเกิดขึ้นในเดือนที่ ๕ ของทารกในครรภ์ เจริญ จากหนังกำพร้าที่เป็นผนังของขุมขน ต่อมที่รูหูดัดแปลงเป็นต่อมขี้หู สารที่หลั่งออกมาจะ แข็งตัวเมื่อถูกอากาศเป็นขี้หู 

ต่อมเหงื่อ 

      พบได้ในผิวหนังเกือบทุกแห่งของร่างกาย มีจำนวนมากมาย ที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ซึ่งมีท่อเปิดที่ยอดของสันผิวหนัง ต่อมมีลักษณะเป็นท่อยาว ส่วนลึกของท่อขดไปมาจนเป็นก้อนกลมหรือก้อนรูปไข่ ขนาด ๐.๑-๐.๕ มิลลิเมตร อยู่ในเยื่อใต้หนังหรือในส่วนลึกของหนังแท้ ส่วนนี้ทำหน้าที่หลั่งเหงื่อ ส่วนตื้นของท่อผ่านหนังแท้และหนังกำพร้า เปิดสู่ผิวเป็นรู รูปกรวยเล็กๆ เรียกว่า รูเหงื่อ ซึ่งอาจเห็นได้เมื่อใช้แว่นขยาย โดยเฉพาะที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางแห่งไม่มีต่อมเหงื่อ เช่น หัวนม ขอบริมฝีปาก แอ่ง ใบหู และส่วนลึกของรูหู  ต่อมเหงื่อทั้งหมดมีประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ ต่อม มีมาก ที่สุดที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และน้อยที่สุดที่หลังและขา ต่อมเหงื่อเจริญจากหนังกำพร้าชั้นลึก งอกลึกลง ไปในหนังแท้และเยื่อใต้หนัง เริ่มปรากฏที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในเดือนที่ ๔ ของทารกในครรภ์ ท่อต่อมเหงื่อจะเปิดสู่ผิวในเดือนที่ ๗ ของทารกในครรภ์ 

      เหงื่อออกจากต่อมเหงื่อทั้งหมดประมาณ ๗๐๐-๙๐๐ กรัม ใน ๒๔ ชั่วโมง เมื่ออากาศร้อน ขณะพักผ่อนเหงื่อออก ๒๐๐ กรัม ใน ๑ ชั่วโมง และขณะทำงานอาจออกถึง ๙๐๐ กรัมใน ๑ ชั่วโมง เหงื่อจะเริ่มออกเมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าปกติ ๐.๒-๐.๕ องศาเซลเซียส แต่ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าไม่มีปฏิกิริยาต่อ อุณหภูมิ เหงื่ออกจากส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เท่ากัน เหงื่อ ออกจากลำตัว ประมาณ ๕๐% จากศรีษะและแขนประมาณ ๒๕% และจากขาประมาณ ๒๕% เหงื่อมีฤทธิ์เป็นกรดจากกรดแล็กติก และประกอบด้วย โซเดียมคลอไรด์เป็นส่วนใหญ่มี ยูเรีย (Urea) และแล็กเตต (lactate) เล็กน้อย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow