Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โครงสร้างของเนื้อไม้

Posted By Plookpedia | 05 ธ.ค. 59
3,517 Views

  Favorite

โครงสร้างของเนื้อไม้

      ถ้าตัดไม้พวกไม้สัก หรือไม้สนมาท่อนหนึ่งมองดูหน้าตัด จะเห็นว่า ที่อยู่รอบๆ นอก ซึ่งสามารถแะให้หลุดล่อนออกไปได้โดยง่ายนั้น คือ ส่วนที่เรียกว่า เปลือก เปลือกส่วนนอกประกอบด้วยเซลล์ที่ตายแล้ว แต่ตอนในๆ ยังมีชีวิต ทำหน้าที่สำคัญ คือ ลำเลียงอาหารที่ปรุงแล้ว จากใบลงมาหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของลำต้น ถัดจากเปลือกเข้าไป เป็นส่วนที่เรียกว่า ไม้ โดยทั่วๆ ไป เนื้อไม้ตอนนอกๆ จะมีสีจางกว่าตอนในๆ และมีไม้หลายชนิดที่ความเข้มจางเช่นว่านี้แบ่งกันชัดเจน ส่วนที่มีสีจางตอนนอกเรียกว่า กระพี้ ส่วนที่มีสีเข้มตอนใน เรียกว่า แก่นเนื้อไม้ มีหน้าที่ในการส่งน้ำ และแร่ธาตุจากพื้นดินขึ้นไปสู่ใบ กักตุนอาหาร หรือสารประกอบอื่นๆ และทำความแข็งแรงให้กับลำต้น เมื่อไม้ยังเป็นต้นเล็กๆ จะยังไม่มีแก่น เนื้อไม้ทั้งหมดต่างก็ช่วยกันทำหน้าที่ลำเลียงน้ำ แต่ส่วนที่เป็นแก่นแล้วท่อน้ำถูกอุดตัน ใช้งานไม่ได้อีกต่อไป ถ้าหากไม้ส่วนที่เป็นกระพี้ถูกตัดขาดโดยรอบลำต้น ซึ่งเรียกว่า กาน ไม้ต้นนั้นจะตาย สารที่แทรกอยู่ในไม้ส่วนที่เป็นกระพี้ ได้แก่ สารที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตของพืช คือ แป้ง น้ำตาล และโปรตีน ทำให้ไม้ส่วนนี้ขึ้นราได้ และมอดชอบกิน ส่วนแก่นนั้น กลับมีสารซึ่งให้โทษแก่ตัว การที่จะทำอันตรายต่างๆ จึงทำให้มีความทนทานมากกว่ากระพี้ สำหรับไม้ที่แก่นกับกระพี้แบ่งกันไม่ชัด อาจถือได้ว่าเป็นไม้ไม่มีแก่น และมักจัดเข้าไว้เป็นไม้ ที่เรียกว่า ไม้เนื้ออ่อน

 

https://static.trueplookpanya.com/tppy/member/m_562500_565000/564144/cms/images/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89/s3-207.jpg
ด้านตัดทั้งสามของไม้


ที่ใกล้ๆ ใจกลางของหน้าตัด จะมีจุดหยุ่นๆ อยู่จุดหนึ่ง เรียกว่า ใจ ใจนี้เกิดขึ้นมาแต่แรกเริ่มที่ไม้งอกงาม เพิ่มพูนขนาดออกไปทางความยาว หรือความสูงของลำต้น

 

https://static.trueplookpanya.com/tppy/member/m_562500_565000/564144/cms/images/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89/s3-208-1.jpg
ลักษณะเนื้อไม้ด้านสัมผัส ด้านรัศมีและด้านตัดขวางของไม้ใบแคบ


      อนึ่ง ระหว่างเปลือก และไม้ มีแนวเซลล์อยู่โดยรอบต้นแนวหนึ่ง เป็นเซลล์แม่ที่ทำหน้าที่แบ่งตัวออกเป็นไม้บ้าง เปลือกบ้าง การเจริญทางขวาง หรือทางส่วนโตของลำต้น ล้วนแต่เกิดจากการแบ่งตัวของแม่เซลล์ที่กล่าวนี้ การที่มีแนวแม่เซลล์ในลักษณะดังกล่าว ทำให้ไม้ใบแคบ หรือใบกว้างแตกต่างกับไม้พวกผักกูด หมาก หรือมะพร้าวอย่างชัดแจ้ง เพราะไม้พวกหลังนี้ไม่มีแม่เซลล์รอบๆ ลำต้น มีแต่ตอนยอด ซึ่งไม่อาจทำให้มีการพอกพูนทางส่วนโตได้

 

https://static.trueplookpanya.com/tppy/member/m_562500_565000/564144/cms/images/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89/s3-208-2.jpg
ลักษณะเนื้อไม้ด้านสัมผัส ด้านรัศมีและด้านตัดขวางของไม้ใบกว้าง


      การที่ไม้ส่วนใหญ่ เกิดจากการแบ่งตัวของแม่เซลล์รอบๆ ลำต้นนี่เอง จึงทำให้หน้าตัดของซุงมีลักษณะเห็นได้เป็นวงๆ ล้อมรอบใจ ทั้งนี้จากความแตกต่างของเนี้อไม้ที่เกิดในตอนต้นกับที่เกิดในตอนปลายฤดู วงดังกล่าว เรียกว่า วงเจริญ หรือวงปี เพราะตามปกติไม้จะเกิดขึ้นปีละ ๑ วงเท่านั้น

 

https://static.trueplookpanya.com/tppy/member/m_562500_565000/564144/cms/images/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89/s3-208-3.jpg
เนื้อไม้และเปลือกไม้ซึ่งเห็นจากกล้องจุลทรรศน์

 

      ไม้ที่ตัดเป็นท่อนแล้ว มีสัณฐานเหมือนรูปทรงกระบอกหรือกรวยตัด การที่ไม้มีลักษณะเช่นนี้ ทำให้เราสามารถยืมคำ ที่เกี่ยวกับวงกลมมาใช้ได้ ๒ คำ คือ คำว่า "รัศมี" และ "สัมผัส" ใจไม้นั้นอาจเทียบได้กับ จุดศูนย์กลางของวงกลม แนวเส้นที่ลากจากใจหรือจุดศูนย์กลาง ไปสู่เปลือกหรือวงปีแต่ละวง เรียกว่า รัศมี ถ้าเราผ่าไม้ตามแนวยาวของลำต้น หรือผ่าตามเสี้ยนไปตามแนวนี้ จะได้ด้านที่เรียกว่า ด้านรัศมี การผ่าตามแนวยาวของลำต้นที่ตั้งฉากกับแนวรัศมี ได้ด้านที่เรียกว่า ด้านสัมผัส เพื่อใช้ร่วมกับ "ด้านรัศมี" และ "ด้านสัมผัส" เขากำหนดให้เรียกด้านที่เกิดจากการตัดทอนไม้ ได้แนวตั้งฉากกับลำต้นว่า "ด้านตัดขวาง"  การแบ่งเรียกด้านทั้งสามให้แตกต่างกันดังกล่าว ไม่เฉพาะเพื่อให้มีความถูกต้องตามหลักเรขาคณิตเท่านั้น รูปร่างลักษณะ และการเรียงตัวของเซลล์ต่างๆ ในเนื้อไม้ยังแตกต่างกันไปด้วย

 

https://static.trueplookpanya.com/tppy/member/m_562500_565000/564144/cms/images/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89/s3-209-1.jpg
กำเนิดและการพัฒนาของเซลล์ แม่เซลล์รูปกระสวยแบ่งตัวแล้วพัฒนาไปเป็นเซลล์ตามยาว ได้แก่ เซลล์ค้ำจุน
เซลล์สะสมและเซลล์ลำเลียงส่วนแม่เซลล์รัศมีแบ่งตัวเป็นเซลล์รัศมีรูปต่าง ๆ ได้แก่ เซลล์นอนและเซลล์ตั้ง


      ได้กล่าวมาแล้วว่า ไม้มีหน้าที่รับใช้ให้ลำต้นมีชีวิตอยู่ได้ ๓ ประการ คือ ลำเลียงน้ำ ค้ำจุนลำต้น และเก็บสะสมอาหารและวัตถุธาตุอย่างอื่น หน้าที่ดังกล่าวนี้ เซลล์ซึ่งมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน ๓ พวก แบ่งหน้าที่กันไปทำเซลล์ลำเลียง ปกติมีขนาดใหญ่ และผนังบาง เซลล์ค้ำจุนมีหัวแหลมท้ายแหลม ผนังหนา ความหนาบางของผนังเซลล์พวกนี้ มีส่วนสัมพันธ์กับน้ำหนักและความแข็งแรงของไม้ชนิดต่างๆ อยู่มาก และถือว่า เป็นเซลล์ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการทำเยื่อกระดาษ ส่วนเซลล์สะสม มี ๒ แบบ คือ เซลล์รูปหัวแหลมท้ายแหลม เหมือนเซลล์ค้ำจุน แต่ผนังบาง และมักมีผนังแบ่งช่องเซลล์เป็นช่องๆ เรียงตัวไปตามแนวเดียวกับเซลล์ลำเลียง และเซลล์ค้ำจุนแบบหนึ่ง และที่ทอดไปตามแนวตั้งฉากกับลำต้น จากใจไปสู่เปลือก มีผนังบาง รูปสี่เหลี่ยมคล้ายอิฐเรียงเป็นชั้นๆ ต่อเนื่องกันไปอีกแบบหนึ่ง ไม้ใบแคบบางชนิด มีเซลล์ค้ำจุนตามแนวเดียวกันนี้ด้วย เซลล์ทุกชนิดที่เรียงตัวไปตามแนวยาวของต้นไม้ รวมเรียกว่า เซลล์ตามยาว ซึ่งบางทีก็เรียกว่า เสี้ยน และที่เรียงไปตามแนวรัศมี เรียกว่า เซลล์รัศมี  ไม้ต่างชนิดกัน จะมีรูปร่างลักษณะ ขนาด และ การเรียงตัวของเซลล์พวกต่างๆ แตกต่างกันไป และ เป็นแบบเฉพาะตัว ทำให้สามารถรู้จักชนิดไม้ได้จากการดูเนื้อไม้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องได้เห็นต้น ใบ ดอก และผลก่อนเสมอไป นอกจากนั้น ลักษณะที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น กระพี้ แก่น วงปี ตลอดจนสี กลิ่น รส มีส่วน ช่วยในการตรวจจำแนกชนิดไม้ได้มาก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow