Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคของฝ้าย

Posted By Plookpedia | 03 ธ.ค. 59
1,382 Views

  Favorite

โรคของฝ้าย

ฝ้ายนอกจากจะเป็นพืชที่มีแมลงเป็นศัตรูรบกวนมากกว่าพืชไร่ชนิดอื่นๆ แล้ว ฝ้ายยังมีโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อบัคเตรี และเชื้อรา เข้ารบกวนอีกด้วย โรคของฝ้ายในประเทศไทยที่นับว่าทำความเสียหายให้มากมีเพียงอย่างเดียว คือ โรคใบหงิก (leaf roll) ส่วนโรคอื่นๆ ที่ทำความเสียหายรองลงไป ได้แก่ โรคสมอเน่า และโรคเน่าคอดิน ซึ่งเกิดกับฝ้ายต้นอ่อน 

โรคใบหงิก 

โรคนี้เริ่มปรากฏขึ้นที่ไร่ฝ้ายเขตอำเภอศรีสำโรง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แต่ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานจนปี พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงได้มีการค้นคว้าวิจัยหาสาเหตุ และการแพร่เชื้อของโรคขึ้น ได้ทราบแน่นอนว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยังไม่ทราบวิธีการแพร่เชื้อ ว่าเกิดจากอะไร เพราะโรคนี้ไม่เป็นโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๑๓ จึงค้นพบว่า เพลี้ยอ่อนเป็นพาหะของโรคนี้ และได้พบว่า นอกจากฝ้ายแล้วยังมีวัชพืชหลายชนิดที่เป็นพืชอาศัยของโรคนี้ ซึ่งได้แก่ ต้นน้ำนมราชสีห์ (Euphorbia hirta) หญ้าขัดมอน (Sida acita) หญ้าพันงู (Achyrathus aspera) และถั่วเหลือง (Glycine max)

 

โรคใบหงิก

   

อาการของโรค โรคใบหงิกจะเกิดขึ้นได้กับต้นฝ้ายทุกระยะ คือ อาจเริ่มเป็นตั้งแต่ฝ้ายอายุไม่ถึงเดือน ไปถึงฝ้ายโตจนมีสมอแล้วก็ได้ ลักษณะของฝ้ายที่เป็นโรคนี้จะสังเกตได้ง่ายมาก คือ ใบฝ้ายที่ยังอ่อนอยู่แผ่นใบจะเริ่มหงิกไม่เรียบร้อย แล้วริมใบจะม้วนงอลง ใบฝ้ายจะหนา และกรอบ ปล้องของกิ่งจอสั้นเข้า เมื่อเกิดเป็นโรคใบอ่อน ทุกกิ่งจะมีอาการเป็นโรคพร้อมๆ กัน ต้นฝ้ายจะแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต ถ้าเป็นกับฝ้ายอายุยังน้อยต้นฝ้ายจะอ่อนแอเอนราบลงไปกับพื้น ทำให้ฝ้ายไม่มีดอก ไม่มีสมอ ถ้าเป็นกับฝ้ายต้นโตจะทำให้ไม่เจริญเติบโต สมอที่เกิดก่อนการเป็นโรคก็พอมีบ้าง ลักษณะการเป็นโรคจะเกิดกับส่วนเหนือที่เป็นโรคขึ้นไปเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าโรคเกิดกับฝ้ายที่โตแล้ว ใบ และปล้องของส่วนล่างจากที่เป็นโรคจะคงมีลักษณะปกติ
ดังได้กล่าวแล้วว่า โรคใบหงิกจะระบาดได้โดย อาศัยเพลี้อ่อนเป็นตัวนำพาเชื้อโรคไปยังต้นฝ้าย ฉะนั้น โรคใบหงิกจะระบาดมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับมี จำนวนเชื้อโรคในท้องที่นั้นหรือไม่ และมีเพลี้ยอ่อน เข้ารบกวนต้นฝ้ายมากน้อยเพียงใด ในเขตปลูกฝ้ายเก่า เช่น จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดเลย มักจะมีเชื้อโรค อาศัยอยู่กับวัชพืชแล้ว เมื่อเพลี้ยอ่อนไปเกาะดูดกินน้ำ เลี้ยงวัชพืชที่เป็นโรคใบหงิกเหล่านี้ แล้วบินไปเกาะกิน ต้นฝ้าย ก็จะนำเชื้อโรคไปสู่ต้นฝ้ายต่อไป การระบาด ของโรคใบหงิก มักจะเกิดขึ้นเฉพาะในบางปีที่ฝนแล้ง ในระยะเดือนกรกฎาคม ถึงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งสภาพ ฝนแล้งนี้ก็คือ สภาวะที่เหมาะสำหรับการระบาดของ เพลี้ยอ่อนนั่นเอง 

การป้องกันและกำจัด โรคใบหงิกเมื่อเกิดเป็นกับต้นฝ้ายแล้วไม่มีทางรักษาให้หายได้ ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค วิธีป้องกันโรคใบหงิกควรปฏิบัติดังนี้ 

๑.ป้องกันไม่ให้เพลี้ยอ่อนมารบกวนต้นฝ้ายด้วยการใช้ยาป้องกัน และกำจัด ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ยาที่ให้ผลดีควรจะเป็นยาประเภทดูดซึม เช่น โอเมโทเอต (Omethoate) ฉีดพ่นต้นฝ้ายอ่อนเมื่ออายุ ๑๐-๑๕ วัน หรือเมื่อปรากฏมีเพลี้ยอ่อนเข้ารบกวน นอกจากการใช้ยาฉีดพ่นต้นฝ้ายแล้ว จะใช้ยาประเภทดูดซึมคลุกกับเมล็ดพันธุ์ฝ้ายก่อนปลูก เช่น ยาฟรูมินเอแอล ๕๐ % ยาไดซิสตอน และยาเทมิคก็ได้ นอกจากยาดูดซึมที่ใช้คลุกเมล็ดแล้ว ยังมียาดูดซึมบางชนิดที่ผลิตเป็นเม็ด ใช้หยอดลงไปพร้อมกับเมล็ดพันธุ์ตอนปลูกฝ้ายก็ได้ 

๒.ใช้พันธุ์ฝ้ายที่ทนทานต่อโรคใบหงิก วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งในขณะนี้ได้แนะนำฝ้ายพันธุ์ศรีสำโรง ๒ และศรีสำโรง ๓ ซึ่งทนทานต่อโรคใบหงิกได้ดีพอสมควร 

๓.ทำลายพืชอาศัย (host plant) รวมทั้งต้นตอฝ้ายเก่าให้หมด ก่อนถึงฤดูปลูกฝ้าย หรือขณะเตรียมดินปลูกฝ้าย เพื่อตัดต้นตอการขยายพันธุ์ของเชื้อโรค และเพลี้ยอ่อน

 

โรคสมอเน่า


โรคสมอเน่า 

โรคที่ทำให้เกิดสมอฝ้ายเน่านี้ สาเหตุเกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด ชนิดที่ทำความเสียหายให้แก่ฝ้ายได้มาก คือ โรคแบคทีเรียลไบลต์ (bacterial blight) นอกจากนั้น ก็เป็นโรคสมอเน่าที่เกิดจากเชื้อราอีกหลายชนิด 

ก) โรคแบคทีเรียลไบลต์ 

เกิดจากเชื้อบัคเตรีที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แซนโทโมแนส มัลวาซีรัม สมิท (Xanthomonas malvacearum Smigh) เชื้อโรคนี้จะติดไปกับเมล็ดพันธุ์ และเจริญลุกลามได้ เมื่อมีความชื้นในอากาศสูง และมีแสงแดดน้อย 

อาการของโรค เกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของต้นฝ้ายหลายแห่งด้วยกัน คือ 

๑.เกิดขึ้นที่ใบ เรียกว่า แองกูลา ลีฟ สปอต (Angular leaf spot) ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นที่เส้นใบ ทำให้เส้นใบ และแผ่นใบมีรอยช้ำ และแห้งไปในที่สุด บางทีก็เกิดเป็นจุดๆ สีน้ำตาลที่แผ่นใบ แล้วขยายต่อไปยังเส้นใบ ทำให้เส้นใบแห้งตายกลายเป็นสีดำ 

๒.เกิดขึ้นที่ก้านใบ เริ่มแต่ฐานก้านใบไปยังตัวใบ ทำให้ก้านใบเน่า และแห้งตาย มีสีดำ เรียกชื่อว่าแบลคอาร์ม (Black arm) และบางทีก็เกิดขึ้นที่ยอดทำให้ยอดเน่า และแห้งตาย มีสีดำเช่นเกี่ยวกับก้านใบ บางครั้งเกิดกับลำต้น ทำให้ลำต้นเน่าแห้ง และตายในที่สุด 

๓.เกิดขึ้นที่สมอ เริ่มแรกจะเกิดเป็นจุดกลมๆ ฉ่ำน้ำ ที่ผิวเปลือกสมอดิบ แล้วค่อยๆ ขยายตัวโตขึ้นทำให้เป็นช่องทางของเชื้อราอื่นๆ เข้าทำลาย จึงทำให้สมอเน่า และแห้งร่วงไปทั้งสมอ 

การป้องกันและกำจัด มีวิธีการคล้ายกับโรคพืชชนิดอื่นๆ คือ 

๑.ทำลายเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ด โดยการคลุกด้วยยาเคมี เช่น ยาแคพแทน ในอัตรา ๖.๗ กรัม/เมล็ด ๑ กิโลกรัม 

๒.การใช้ฝ้ายพันธุ์ที่มีความต้านทานโรค ซึ่งขณะนี้ก็มีฝ้ายหลายพันธุ์ที่มีความต้านทานโรคนี้ โดยเฉพาะฝ้ายในสายพันธุ์รีบต่างๆ และพันธุ์ศรีสำโรง ๓

 

โรคแบคทีเรียลไบลต์ที่เกิดกับเส้นใบ
โรคแบคทีเรียลไบลต์ที่เกิดกับเส้นใบ


ข) โรคสมอเน่าอื่นๆ 

ซึ่งเกิดได้จากเชื้อราหลายชนิดเท่าที่ตรวจพบมีมาลัสเทลา แอเรีย บาทิสทา ไลมา (Malustela aeria, Batista Lima) วัสคอนซีลอส (Vasconcelos) ไมโรทีดัม ทอด (Myrothecoum roridum, Tode exFr) ฟิวซาเรียม โมนิลิฟอมเชลฟ์ (Fusarium monilifome Shelf) ฟิวซาเรียม ซีมีเทกทัม เบิร์ค และ เรฟ (Pestalotiopsistheae Sew Stey) โฟมาแลกทาเรีย ซัตโทไนนด์ (Phoma Sp. Westendvar Lactaria Suttonined) บอทริโอดิโพลเดีย ทีโอโบรมี โฟมอพซิล มัลวาวีรัม ดายด์ (Botryodiplodia theobromae Pat. Phomopsis malvacearum Westend. Died) เชื้อราเหล่านี้จะไม่เข้าทำลายสมอฝ้ายโดยตรงแต่จะเข้าทำลายสมอฝ้ายโดยทางแผลที่เกิดขึ้น โดยมีแมลง หรือเชื้อบัคเตรีทำลายผิวเปลือกไว้ก่อน 

อาการของโรค เริ่มแรกจะเกิดเป็นจุดสีม่วงอมแดงขึ้นที่ผิวสมอซึ่งยังมีเขียวอยู่ อาจมีจุดเดียว หรือหลายจุด แล้วขยายตัวออกไป ทำให้สมอฝ้ายเน่า เป็นบางส่วน หรือเน่าทั้งสมอก็ได้ ถ้าเน่าเป็นบางส่วนปุยฝ้ายที่ได้จะไม่ขาวสะอาด คุณภาพเสื่อมไป โรคสมอเน่าชนิดนี้มักจะระบาดในบางท้องที่ที่มีความชื้นในอากาศสูง และแสงแดดส่องเข้าไม่ถึง เช่น สมอรุ่นแรกที่อยู่ส่วนล่าง ซึ่งมีใบปกคลุมหนา 

การป้องกันและกำจัด ได้แก่ การป้องกันโรคแบคทีเรียลไบลต์ และการป้องกันแมลงไม่ให้เข้าเจาะสมอ 

โรคเน่าคอดิน 

โรคเน่าคอดินส่วนใหญ่มักจะเกิดจากเชื้อราชื่อไรซอกโทเนีย โซลานี (Rhizoctonia Solani) เชื้อรานี้จะอาศัยอยู่กับซากพืชที่เป็นโรค ซึ่งทิ้งอยู่ในดิน และยังทำลายพืชอื่นๆ ได้อีกหลายชนิด เช่น ผักต่างๆ ยาสูบ 

อาการของโรค เชื้อรานี้จะเข้าทำลายต้นพืชอ่อนหรือเมล็ดพืชที่กำลังจะงอกได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยเข้าทางแผลเลย เพียงแต่ว่ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือ อากาศเย็น และความชื้นในดินสูง เมื่อสภาพแวดล้อม พอเหมาะดังกล่าว เชื้อรานี้เจริญได้รวดเร็วมาก อาจเข้าทำลายเมล็ดฝ้ายที่กำลังจะงอก แต่ยังไม่โผล่พ้นดิน หรืออาจทำลายต้นฝ้ายอ่อนอายุไม่เกิน ๒ สัปดาห์ โดยเชื้อราจะทำลายต้นส่วนที่อยู่ระดับผิวดิน ทำให้ลำต้นเน่าเปื่อยแล้วต้นฝ้ายล้มลงทั้งๆ ที่ใบยังเขียวอยู่ ซึ่งต่อไปก็เหี่ยวแห้งตายไป 

การป้องกันและกำจัด โรคเน่าคอดินเป็นโรคที่ลุกลามได้รวดเร็วมาก ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค วิธีป้องกันที่ดีที่สุด และประหยัดที่สุด คือ การใช้ยาเคมีคลุกเมล็ดก่อนปลูก ในสมัยก่อนใช้น้ำยาผสมชินสี ซึ่งเรียกว่า น้ำยาบอร์โดซ์ (Boprdeaus mixture) ฉีดพ่นแปลงกล้าก็ป้องกันได้ดี ต่อมามียาเคมีใหม่ๆ อีกหลายชนิดที่ใช้สะดวก และได้ผลดี เช่น ใช้คลุกเมล็ดด้วยยา พีซีเอ็นปี (P C N B) หรือ ไวตาแวกซ์ (vitavax) หรือผสมไวตาแวกซ์ + ทริม (vitavax + thrim) ในอัตรา ๐.๕ -๑.๐% โดย น้ำหนัก (๑.๒ ช้อนกาแฟ/เมล็ดฝ้าย ๑ กิโลกรัม) 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow