Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การปลูกข้าว

Posted By Plookpedia | 03 ธ.ค. 59
3,821 Views

  Favorite

การปลูกข้าว

การปลูกข้าวเป็นงานที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว จนถึงกับได้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นปฐมฤกษ์ในการทำนาปลูกข้าวของแต่ละปี จะได้เป็นสิริมงคลต่อพสกนิกรผู้ปลูกข้าว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมอบให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตรเป็นพระยาแรกนา ทำการไถ และหว่านเมล็ดข้าว ชาวนาจะเก็บเมล็ดพันธุ์นี้ไปรวมกับเมล็ดพันธุ์ที่เขาใช้ปลูก เพราะถือว่าเป็นสิริมงคลยิ่ง

 

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


วิธีการปลูกข้าว

การทำนา หมายถึง การปลูกข้าว การปลูกข้าวในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น ๓ วิธีด้วยกันดังนี้

๑. การปลูกข้าวไร่ 

หมายถึง การปลูกข้าวบนที่ดอน และไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก ชนิดของข้าวที่ปลูก เรียกว่า ข้าวไร่ พื้นที่ดอนส่วนมาก เช่น เชิงภูเขา มักจะไม่มีระดับ คือ สูงๆ ต่ำๆ จึงไม่สามารถไถเตรียมดิน และปรับระดับได้ง่ายๆ เหมือนกับพื้นที่ราบ เพราะฉะนั้น ชาวนามักจะปลูกแบบหยอด โดยขั้นแรกทำการตัดหญ้าและต้นไม้เล็กออก ทำความสะอาดพื้นที่ที่จะปลูก แล้วใช้หลักไม้ปลายแหลมเจาะดินเป็นหลุมเล็กๆ ลึกประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร ปากหลุมมีขนาดกว้างพอ ที่จะหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปได้ ๕-๑๐ เมล็ด หลุมนี้มีระยะห่างกันประมาณ ๒๕ เซนติเมตร จะต้องหยอดเมล็ดพันธุ์ทันที หลังจากที่ได้เจาะหลุม หลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์แล้ว จะใช้เท้ากลบดินปากหลุม เมื่อฝนตกลงมา เมล็ดได้รับความชื้น ก็จะงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นข้าว เนื่องจากที่ดอนไม่มีน้ำขัง และไม่มีการชลประทาน การปลูกข้าวไร่จึงต้องใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว พื้นดินที่ปลูกข้าวไร่จะแห้งและขาดน้ำทันที เมื่อสิ้นฤดูฝน ดังนั้น การปลูกข้าวไร่จะต้องใช้พันธุ์ที่มีอายุเบา โดยปลูกในต้นฤดูฝน และแก่เก็บเกี่ยวได้ ในปลายฤดูฝน การปลูกข้าวไร่ชาวนาจะต้องหมั่นกำจัด วัชพืช เพราะที่ดอนมักจะมีวัชพืชมากกว่าที่ลุ่ม เนื้อที่ที่ใช้ปลูกข้าวไร่ในประเทศไทย มีจำนวนน้อยและมีปลูกมากในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางปลูกข้าวไร่น้อยมาก

๒. การปลูกข้าวนาดำ 

เรียกว่า การปักดำ ซึ่งวิธีการปลูกแบ่งออกได้เป็นสอง ตอน ตอนแรก ได้แก่ การตกกล้าในแปลงขนาดเล็ก และตอนที่สอง ได้แก่ การถอนต้นกล้า เอาไปปักดำในนาผืนใหญ่  

๑) การเตรียมดิน 

ต้องทำการเตรียมดินให้ดีกว่า การปลูกข้าวไร่ โดยมีการไถดะ การไถแปร และการคราด ปกติการไถและคราดในนาดำมักจะใช้แรง วัว ควาย หรือแทรกเตอร์ขนาดเล็ก ที่เรียกว่า ควายเหล็กหรือไถยนต์เดินตาม ทั้งนี้เป็นเพราะพื้นที่นาดำนั้น ได้มีคันนาแบ่งกั้นออกเป็นแปลงเล็กๆ ขนาด ๑-๒ ไร่ คันนามีไว้สำหรับกักเก็บน้ำ หรือปล่อยน้ำทิ้งจากแปลง นา นาดำจึงมีการบังคับระดับน้ำในนาได้บ้างพอสมควร ก่อนที่จะทำการไถ ต้องรอให้ดินมีความชื้นพอที่จะไถได้เสียก่อน ปกติจะต้องรอให้ฝนตก จนมีน้ำขังในผืนนา หรือไขน้ำเข้าไปในนา เพื่อทำให้ดินเปียก การไถดะ หมายถึง การไถครั้งแรกเพื่อทำลายวัชพืชในนา และ พลิกกลับหน้าดิน แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ ๑ สัปดาห์ จึงทำการไถแปร ซึ่งหมายถึง การไถเพื่อตัดกับรอยไถดะ ทำให้รอยไถดะแตกออกเป็นก้อนเล็กๆ จนวัชพืชหลุดออกจากดิน การไถแปรอาจไถมากกว่าหนึ่งครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับน้ำในนา ตลอดถึงชนิดและปริมาณของวัชพืช เมื่อไถแปรแล้วก็ทำการคราดได้ทันที การคราด คือ การคราดเอาวัชพืชออกจากผืนนา และปรับพื้นที่นาให้ได้ระดับเป็นที่ราบเสมอกัน ด้วยนาที่มีระดับ เป็นที่ราบ ต้นข้าวจะได้รับน้ำเท่าๆ กัน และสะดวกแก่ การไขน้ำเข้าออก

 

การไถคราดด้วยควายเหล็ก


๒) การตกกล้า 

หมายถึง การเอาเมล็ดไปหว่านให้งอกและเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้า เพื่อเอาไปปักดำ การตกกล้าสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การตกกล้าในดินเปียก การตกกล้าในดินแห้ง และการตกกล้าแบบดาปก

การตกกล้าในดินเปียก จะต้องเลือกหาพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินดีเป็นพิเศษ สามารถป้องกันนกและหนู ที่จะเข้าทำลายต้นกล้าได้เป็นอย่างดี และมีน้ำพอเพียงกับความต้องการ การเตรียมดินก็มีการไถดะ ไถแปร และคราด ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ต้องยกเป็น แปลงสูงจากระดับน้ำในผืนนานั้นประมาณ ๓ เซนติเมตร ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เมล็ดที่หว่านลงไปจมน้ำและดิน จนเปียกชุ่มอยู่เสมอ ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ควรแบ่งแปลงนี้ออกเป็นแปลงย่อยขนาดกว้าง ๕๐ เซนติเมตร และมีความยาวขนานไปกับทิศทางลม ระหว่างแปลง เว้นช่องว่างไว้สำหรับเดิน ประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ทั้งนี้ เพื่อลดแรงระบาดของโรคที่จะเข้าไปทำลายต้นข้าว เช่น โรคไหม้

    

กล้าข้าว ซึ่งตกกล้าด้วยด้วยวิธีการตกกล้าในดินเปียก ขณะมีขนาดโตเพียงพอที่จะถอนได้


เมล็ดพันธุ์ที่เอามาตกกล้าจะต้องเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์ ปราศจากเชื้อโรคต่างๆ ด้วยเหตุนี้จะต้องทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์เสียก่อน โดยแยกเอามาเฉพาะเมล็ดที่สมบูรณ์ และเอาเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าปกติทิ้งไป การคัดเลือกเอาเมล็ดที่สมบูรณ์ อาจทำได้โดยเอาเมล็ดพันธุ์ไปใส่ในน้ำเกลือ ที่มีความถ่วงจำเพาะ ๑.๐๘ ซึ่งเตรียมไว้ โดยเอาน้ำสะอาด ๑๐ ลิตร ผสมกับเกลือแกง หนัก ๑.๗ กิโลกรัม เมล็ดที่ไม่สมบูรณ์จะลอย ส่วนเมล็ดสมบูรณ์นั้นจมลงไปที่ก้นของภาชนะ

เอาเมล็ดที่ต้องการตกกล้าใส่ถุงผ้าไปแช่น้ำนาน ๑๒-๒๔ ชั่วโมง แล้วเอาขึ้นมาวางไว้บนแผ่นกระดาน ในที่ที่มีลมถ่ายเทได้สะดวก และเอาผ้า หรือกระสอบเปียกน้ำ คลุมไว้นาน ๓๖-๔๘ ชั่วโมง ซึ่งเรียกว่า การหุ้ม หลังจากที่ได้หุ้มเมล็ดไว้ครบ ๓๖-๔๘ ชั่วโมงแล้ว เมล็ดข้าวก็จะงอก จึงเอาไปหว่านลงบนแปลงกล้า ที่ได้เตรียมไว้ ก่อนที่จะหว่านเมล็ดลงบนแปลงกล้า ควรใส่ปุ๋ยพวกที่ให้ธาตุไนไตรเจน และฟอสฟอรัสเสียก่อน และใช้ไม้กระดานลูบแปลง เพื่อกลบปุ๋ยลงไปในดิน ปกติใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน ๕๐-๘๐ กิโลกรัม/เนื้อที่ แปลงกล้า ๑ ไร่

เมื่อต้นกล้ามีอายุครบ ๒๕-๓๐ วัน นับจากวันหว่านเมล็ด ต้นกล้าก็จะมีขนาดโตพอที่จะถอนเอาไปปักดำได้ การตกกล้าแบบนี้ เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในการทำนาดำในประเทศไทย

 

การถอนกล้าในดินแห้ง

 

การตกกล้าในดินแห้ง ในกรณีที่ชาวนาไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการตกกล้าในดินเปียก ชาวนาอาจทำการตกกล้าบนที่ดอน ซึ่งไม่มีน้ำขัง โดยเอาเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ซึ่งยังไม่ได้เพาะให้งอก ไปโรยไว้ในแถวที่เปิดเป็นร่องเล็กๆ ขนาดยาวประมาณ ๑ เมตร จำนวนหลายแถว แล้วกลบดิน เพื่อป้องกันนกและหนู หลังจากนั้นก็รดน้ำด้วยบัวรดน้ำวันละ ๒-๓ ครั้ง เมล็ดจะงอกขึ้นมาเป็นต้นกล้า เหมือนกับการตกกล้าในดินเปียก ปกติใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน ๗-๑๐ กรัม/แถว ที่มีความยาว ๑ เมตรและแถวห่างกันประมาณ ๑๐ เซนติเมตร หลังจากโรยเมล็ด และกลบดินแล้ว ควรหว่านปุ๋ยพวก ที่ให้ธาตุไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ในอัตราต่ำลงไปด้วย การตกกล้าในดินแห้งจะไม่ทำให้ต้นกล้า ที่มีอายุมากกว่า ๔๐ วัน มีปล้องที่ลำต้น เหมาะสำหรับการตกกล้าที่ต้องรอน้ำฝนสำหรับปักดำ 
การตกกล้าแบบดาปก การตกกล้าแบบนี้เป็นที่นิยมทำกันมากในประเทศฟิลิปปินส์ ขั้นแรกทำการเตรียมพื้นที่ดิน และแปลงกล้า ซึ่งเหมือนกับการตกกล้า ในดินเปียก หรือจะเป็นที่ดอนเรียบก็ได้ แล้วใช้กาบของต้นกล้วย ต่อกันเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๑ เมตร และยาวประมาณ ๑.๕ เมตร วางลงบนพื้นที่ที่ได้เตรียมไว้ ต่อจากนั้นเอาใบกล้วยที่ไม่มีก้านกลางวางเรียง เพื่อปูเป็นพื้นที่ในกรอบนั้น ให้เอาด้านล่างของใบหงายขึ้น และไม่ให้มีรอยแตกของใบ เพราะฉะนั้นใบกล้วยที่ปูพื้นนั้นจะต้องวางซ้อนกันเป็นทอดๆ แล้วเอาเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ซึ่งได้เพาะให้งอกแบบการตกกล้าในดินเปียก โรยลงไปในกรอบที่เตรียมไว้นี้ โดยใช้เมล็ดพันธุ์หนัก ๓ กิโลกรัม/เนื้อที่ ๑ ตารางเมตร ดังนั้น เมล็ดพันธุ์ที่โรยลงไปในกรอบ จะซ้อนกันเป็น ๒-๓ ชั้น หลังจากโรยเมล็ดแล้ว จะต้องใช้บัวรดน้ำชนิดรูเล็กมาก รดลงในกรอบที่โรยเมล็ดนี้วันละ ๒-๓ ครั้ง ในที่สุดเมล็ดก็จะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้า ต้นกล้าแบบนี้อายุประมาณ ๑๐-๑๔ วัน ก็พร้อมที่ใช้ปักดำได้ การที่จะเอาต้นกล้าไปปักดำไม่จำเป็นต้องถอนต้นกล้า เหมือนกับวิธีอื่นๆ เพราะรากของต้นกล้าเกาะกันแน่น ระหว่างต้น และราก ก็ไม่ได้ทะลุใบกล้วยลงไปในดิน ฉะนั้น ชาวนาจึงทำการม้วนใบกล้วยแบบม้วนเสื่อ โดยมีต้นกล้าอยู่ภายใน การม้วนก็ควรม้วนหลวมๆ ถ้าม้วนแน่น จะทำให้ต้นกล้าเสียหายได้ เมื่อถึงแปลงปักดำก็จะคลี่มันออก แล้วแบ่งต้นกล้าไปปักดำ การตกกล้า วิธีนี้อาจเหมาะกับการทำกล้าซิมในภาคเหนือ (การทำ กล้าซิม คือ การเอาต้นกล้าที่มีอายุ ๑๐-๑๔ วัน ไปปักดำในนา โดยปักดำถี่และปักดำกอละหลายๆ ต้น หลังจากกล้าซิมมีอายุได้ ๒๐ วัน ก็พร้อมที่จะถอนไปปักดำ ตามปกติ)

 

ต้นกล้าอายุ ๑๒ วัน


๓) การปักดำ เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ ๒๕ -๓๐ วัน จากการตกกล้าในดินเปียก หรือการตกกล้าในดินแห้ง ก็จะโตพอที่จะถอนเอาไปปักดำได้ สำหรับต้นกล้าที่ได้มาจากการตกกล้าแบบดาปกนั้น ในเมืองไทยยังไม่เคยปฏิบัติ ควรจะต้องเอาไปซิมแบบชาวนาในจังหวัดเชียงรายเสียก่อน จึงเอาไปปักดำได้ เพราะต้นกล้าขนาด ๑๐-๑๔ วันนั้น อาจมีขนาดเล็กเกินไปที่จะใช้ปักดำในพื้นที่นาของเรา ซึ่งมีน้ำขังมาก ขั้นแรก ให้ถอนต้นกล้าขึ้นมาจากแปลงแล้วมัดรวมกันเป็นมัดๆ ตัดปลายใบทิ้ง ถ้าต้นกล้าเล็กมากไม่ต้องตัดปลายใบทิ้ง สำหรับต้นกล้าที่ได้มาจากการตกกล้าในดินเปียก จะต้องล้างเอาดินที่รากออกเสียด้วยแล้วเอาไปปักดำ ในพื้นที่นาได้เตรียมไว้ พื้นที่นาที่ใช้ปักดำควรมีน้ำขังอยู่ประมาณ ๕-๑๐ เซนติเมตร เพราะต้นข้าวอาจจะถูกลมพัด จนพับลงได้ ในเมื่อนานั้น ไม่มีน้ำอยู่เลย ถ้าระดับน้ำในนานั้นลึกมาก ต้นข้าวที่ปักดำอาจจมน้ำในระยะแรก และทำให้ต้นข้าวต้องยืดต้นมากกว่าปกติ จนมีผลให้แตกกอน้อย การปักดำที่จะให้ได้ผลิตผลสูง จะต้องปักดำให้เป็นแถวเป็นแนว และมีระยะห่างระหว่างกอมากพอสมควร การปักดำโดยทั่วไป มักใช้ต้นกล้าจำนวน ๓-๕ ต้นต่อกอ ระยะปลูกหรือปักดำจะต้องมีระยะ ห่างระหว่างกอและระหว่างแถวประมาณ ๒๕ เซนติเมตร

๓. การปลูกข้าวนาหว่าน 

เป็นการปลูกข้าวโดย เอาเมล็ดพันธุ์หว่านลงไปในพื้นที่นาที่ได้ไถเตรียมดินไว้ การเตรียมดินก็มีการไถดะและไถแปร ปกติชาวนา จะเริ่มไถนา เพื่อปลูกข้าวนาหว่าน ตั้งแต่เดือนเมษายน เนื่องจากพื้นที่นาสำหรับปลูกข้าวนาหว่าน ไม่มีคันนากั้นแบ่งออกเป็นผืนเล็กๆ จึงสะดวกแก่การไถด้วยรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวนาอีกจำนวนมากที่ใช้แรงวัวและควายไถนา การปลูกข้าวนาหว่านมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การหว่านสำรวย การหว่านคราดกลบ หรือไถกลบ การหว่านหลังขี้ไถ และการหว่านน้ำตม

 

การหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว


การหว่านสำรวย การหว่านวิธีนี้ชาวนาจะต้อง เริ่มไถนาเตรียมดินตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งมีการไถดะ และไถแปร แล้วเอาเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้เพาะให้งอกหว่าน ลงไปโดยตรง ปกติใช้เมล็ดพันธุ์ ๑-๒ ถัง/ไร่ เมล็ด พันธุ์ที่หว่านลงไปบางส่วนจะตกลงไปอยู่ตามซอก ระหว่างก้อนดินและรอยไถ เมื่อฝนตกลงมา ทำให้ดิน เปียกและเมล็ดที่ได้รับความชื้น ก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้น กล้า การหว่านวิธีนี้ใช้เฉพาะในท้องที่ที่ฝนตกตาม ฤดูกาล

การหว่านคราดกลบหรือไถกลบ ในกรณีที่ดินมีความชื้นอยู่บ้างแล้ว และเป็นเวลาที่ฝนจะเริ่มตกตาม ฤดูกาล ชาวนาจะปลูกข้าวแบบหว่านคราดกลบหรือ ไถกลบ โดยชาวนาจะทำการไถดะและไถแปร แล้วเอา เมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่ได้ เพาะให้งอกจำนวน ๑-๒ ถัง/ไร่ หว่านลงไปทันที แล้วคราดหรือไถ เพื่อกลบเมล็ดที่หว่าน ลงไปอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากดินมีความชื้นอยู่แล้วเมล็ด ก็จะเริ่มงอกทันทีหลังจากหว่านลงไปในดิน วิธีนี้ดูเหมือนว่าจะดีกว่าวิธีแรก เพราะเมล็ดจะงอกทันทีหลังจากที่ ได้หว่านลงไป นอกจากนี้ การตั้งตัวของต้นกล้าก็ดีกว่า วิธีแรกด้วย เพราะเมล็ดที่หว่านลงไปถูกดินกลบฝังลึก ลงไปในดิน

 

การปลูกข้าวแบบการหว่านไถกลบ


การหว่านน้ำตม การหว่านแบบนี้นิยมใช้ในพื้นที่ ที่มีการชลประทานอย่างสมบูรณ์แบบ และพื้นที่นาเป็น ผืนใหญ่ มีคันนากั้น การเตรียมดินก็เหมือนกับการ เตรียมดินสำหรับนาดำ ซึ่งมีการไถดะไถแปรและคราด เพื่อจะได้เก็บวัชพืชออกไปจากนาและปรับระดับพื้นที่ นา แล้วทิ้งให้ดินตกตะกอนจนเห็นว่าน้ำใส และน้ำในนา ไม่ควรลึกกว่า ๒ เซนติเมตร จึงเอาเมล็ดพันธุ์จำนวน ๑-๒ ถัง/ไร่ ที่ได้เพราะให้งอกแล้วหว่านลงไป เมล็ดก็จะ เจริญเติบโตเป็นต้นข้าวและโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ มีการ เจริญเติบโตอย่างข้าวอื่นๆ ตามปกติ

การดูแลรักษา 

ในระหว่างการเจริญเติบโตของต้นข้าวตั้งแต่การ หยอดเมล็ดเพื่อปลูกข้าวไร่ การหว่านเมล็ดเพื่อให้ได้ ต้นกล้า การปักดำ เพื่อให้ได้รวงข้าว และการหว่าน เมล็ดในการปลูกข้าวนาหว่าน ต้นข้าวต้องการน้ำและ ปุ๋ย สำหรับการเจริญเติบโต ในระยะนี้ ต้นข้าวอาจถูกโรคและแมลงศัตรูข้าวหลายชนิดเข้ามาทำลายต้นข้าว โดยทำให้ต้นข้าวแห้งตาย หรือผลิตผลต่ำและคุณภาพ เมล็ดไม่ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้น นอกจากจะมีวิธีการ ปลูกที่ดีแล้ว จะต้องมีวิธีการดูแลรักษาที่ดีอีกด้วย ผู้ปลูกจะต้องหมั่นออกไปตรวจดูต้นข้าวที่ปลูกไว้เสมอๆ ในแปลงที่ปลูกข้าวไร่ จะต้องมีการกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย และพ่นยาเคมี เพื่อป้องกัน และกำจัดโรคแมลงศัตรูที่อาจ เกิดระบาดขึ้นได้ ในแปลงกล้าและแปลงปักดำจะต้อง มีการใส่ปุ๋ย มีน้ำเพียงพอกับความต้องการของต้นข้าว และพ่นยาเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูข้าว นอกจากนี้ ชาวนาจะต้องหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปักดำอีกด้วย เพราะวัชพืชเป็นตัวที่แย่งปุ๋ยไปจากต้นข้าว ในพื้นที่นาหว่าน ชาวนาจะต้องกำจัดวัชพืชโดยใช้สารเคมี หรือจะใช้แรงคนถอนทิ้งไปก็ได้ นอกจากนี้จะต้องพ่นสารเคมี เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงอีกด้วย เนื่องจากพื้นที่ นาหว่านมักจะมีระดับน้ำลึกกว่านาดำ ฉะนั้น ชาวนา ควรใส่ปุ๋ยก่อนที่น้ำจะลึก ยกเว้นในพื้นที่ที่น้ำไม่ลึกมาก ก็ให้ใส่ปุ๋ยแบบนาดำทั่วๆ ไป

    

การใส่ปุ๋ยในนาข้าว เพื่อบำรุงดินที่เสื่อมไป เพราะต้นข้าวดูดเอาแร่ธาตุไปใช้

การเก็บเกี่ยว 

เมื่อดอกข้าวบานและมีการผสมเกสรแล้วหนึ่ง สัปดาห์ ภายในที่ห่อหุ้มด้วยเปลือกนอกใหญ่ ก็จะเริ่มเป็นแป้งเหลวสี่ขาว ในสัปดาห์ที่สองแป้งเหลวนั้น ก็จะแห้งกลายเป็นแป้งค่อนข้างแข็ง และในสัปดาห์ที่สาม แป้งก็จะแข็งตัวมากยิ่งขึ้น เป็นรูปร่างของเมล็ดข้าวกล้อง แต่มันจะแก่เก็บเกี่ยวได้ในสัปดาห์ที่สี่นับจากวัน ที่ผสมเกสรจึงเป็นที่เชื่อถือได้ว่า เมล็ดข้าวจะแก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้ หลังจากออกดอกแล้วประมาณ ๓๐-๓๕ วัน

 

การเกี่ยวข้าว

 

ชาวนาในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางใช้เคียว สำหรับเกี่ยวข้าว ทีละหลายๆ รวง ส่วนชาวนาในภาคใต้ใช้แกระสำหรับเกี่ยวข้าวทีละรวง เคียวที่ใช้เกี่ยวข้าวมีอยู่ ๒ ชนิด ได้แก่ เคียวนาสวนและ เคียวนาเมือง เคียวนาสวนเป็นเคียววงกว้าง ใช้สำหรับ เกี่ยวข้าวนาสวน ซึ่งปลูกแบบปักดำ แต่ถ้าผู้ใช้ มีความชำนาญก็อาจเอาไปใช้เกี่ยวข้าวนาเมืองก็ได้ ส่วนเคียวนาเมืองเป็นเคียววงแคบและมีด้ามยาวกว่า เคียวนาสวน เคียวนาเมืองใช้เกี่ยวข้าวนาเมือง ซึ่งปลูกแบบหว่าน ข้าวที่เกี่ยวด้วยเคียวไม่จำเป็นต้อง มีคอรวงยาว เพราะข้าวที่เกี่ยวมาจะถูกรวบมัดด้วย ตอซังหรือตอกไม้ไผ่ เป็นกำๆ ส่วนข้าวที่เกี่ยวด้วยแกระ จำเป็นต้องมีคอรวงยาว เพราะชาวนาต้องเกี่ยวเฉพาะรวงทีละรวง แล้วมัดเป็นกำๆ ซึ่งเรียกว่า เรียง ข้าวที่เกี่ยวด้วยแกระ ชาวนาจะเก็บไว้ในยุ้งฉางซึ่งโปร่ง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และจะทำการนวดเมื่อต้อง การขายหรือต้องการสีเป็นข้าวสาร ข้าวที่เกี่ยวด้วย เคียวชาวนาจะทิ้งไว้บนตอซังในนา เพื่อตากแดดให้แห้ง เป็นเวลานาน ๓-๕ วัน หรือจะตากบนราวไม้ไผ่ก็ได้ แล้วจึงขนมาที่ลานสำหรับนวด ข้าวที่นวดแล้ว จะถูกขนย้ายไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง หรือส่งไปขายที่โรงสีทันที

การนวดข้าว 

หมายถึง การเอาเมล็ดข้าวออกจากรวง แล้วทำความสะอาด เพื่อแยกเมล็ดข้าวลีบและเศษฟางข้าวออกไป เหลือไว้เฉพาะเมล็ดข้าวเปลือกที่ต้องการเท่านั้น ขั้นแรกจะต้องตากข้าวให้แห้งเสียก่อน การกองข้าว สำหรับตากก็มีหลายวิธี แต่หลักสำคัญมีอยู่ว่าการกอง จะต้องเป็นระเบียบ ถ้ากองไม่เป็นระเบียบ มัดข้าว จะอยู่สูงๆ ต่ำๆ ชาวนามักจะกองเป็นรูปสามเหลี่ยม ที่เป็นระเบียบ เพื่อจะทำให้ความชื้นค่อยๆ ลดลงแล้ว ความแข็งแกร่งของเมล็ดก็จะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย และเมื่อฝนตกลงมา น้ำฝนก็ไม่อาจจะไหลเข้าไปในกอง ข้าว หลังจากนั้นก็ขนไปที่ลานนวดข้าว แล้วเรียงไว้ เป็นชั้นๆ เป็นรูปวงกลม

 

การตากข้าวให้แห้งก่อนนำไปนวด


ชาวนามักจะนวดข้าวหลังจากที่ได้ตากข้าวให้แห้ง เป็นเวลา ๓-๕ วัน และเมล็ดข้าวเปลือกมีความชื้น ประมาณ ๑๓-๑๕ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมล็ดที่เกี่ยวมาใหม่ๆ จะมีความชื้นประมาณ ๒๐-๒๕ เปอร์เซ็นต์ การนวด ชาวนาก็ใช้แรงสัตว์ เช่น วัว ควาย ขึ้นไปเหยียบย่ำ เพื่อขยี้ให้เมล็ดหลุดออกจากรวงข้าว รวงข้าวที่เอาเมล็ด ออกหมดแล้วเรียกว่า ฟางข้าว ที่กล่าวนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง ของการนวดข้าว ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการนวดข้าวมีหลายวิธี เช่น การนวดแบบฟาดกำข้าว การนวดแบบใช้คนย่ำ การนวดแบบใช้วัวควายย่ำ การนวดโดยใช้เครื่องทุ่นแรง

การนวดแบบฟาดกำข้าว ชาวนาในภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมทำกันมาก โดยฟาดกำ ข้าวซึ่งได้เกี่ยวติดเอาส่วนของต้นข้าวมาด้วย ฟาดลง บนแผ่นไม้ที่วางไว้บนภาชนะสำหรับรองรับเมล็ดข้าวเปลือกที่หลุดออกมา การนวดแบบใช้เครื่องทุ่นแรง เครื่องทุ่นแรง สำหรับนวดข้าวมีหลายชนิด เช่น เครื่องนวดแบบใช้ แรงคน และเครื่องนวดที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งสามารถนวดข้าวได้เร็วกว่าการใช้สัตว์หรือคนเหยียบย่ำ

 

การนวดข้าวด้วยเครื่องนวด

 

การนวดแบบใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ เครื่องจักร ขนาดใหญ่สำหรับนวดข้าว เช่น เครื่องคอมไบน์ (combine) มีใช้น้อยมากในประเทศไทยเพราะราคาแพง และไม่เหมาะสมกับสภาพดินนาของประเทศไทย เครื่องคอมไบน์นอกจากจะทำการนวดแล้ว ยังทำความสะอาด เมล็ดข้าวเปลือกด้วย

การทำความสะอาดเมล็ด

เมล็ดข้าวที่ได้มาจากการนวด จะมีสิ่งเจือปน หลายอย่าง เช่น ดิน กรวด ทราย เมล็ดลีบ ฟางข้าว ทำให้ขายได้ราคาต่ำ ฉะนั้น ชาวนาจะต้องทำความ สะอาดเมล็ดก่อนที่จะเอาข้าวเปลือกเก็บไว้ในยุ้งฉาง หรือขายให้กับพ่อค้า การทำความสะอาดเมล็ดก็หมาย ถึง การเอาข้าวเปลือกออกจากสิ่งเจือปนอื่นๆ ซึ่งทำได้ โดยวิธีต่างๆ ดังนี้ 

การสาดข้าว ใช้พลั่วสาดเมล็ดข้าวขึ้นไปในอากาศ เพื่อให้ลมพัดเอาสิ่งเจือปนออกไป ส่วนเมล็ดข้าวเปลือก ที่ดีก็จะตกมารวมกันเป็นกองที่พื้นดิน 
การใช้กระด้งฝัด โดยใช้กระด้งแยกเมล็ดข้าวดี และสิ่งเจือปนให้อยู่คนละด้านของกระด้ง แล้วฝัดเอาสิ่ง เจือปนทิ้ง วิธีนี้ใช้กับข้าวที่มีปริมาณน้อยๆ 

การใช้เครื่องสีฝัด เป็นเครื่องมือทุ่นแรงที่ใช้หลัก การให้ลมพัดเอาสิ่งเจือปนออกไป โดยใช้แรงคนหมุน พัดลมในเครื่องสีฝัดนั้น พัดลมนี้อาจใช้เครื่องยนต์เล็กๆ หมุนก็ได้ วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำความสะอาดเมล็ดได้อย่าง มีประสิทธิภาพสูง

การตากข้าว 

เพื่อรักษาคุณภาพเมล็ดข้าวให้ได้มาตรฐานอยู่ เป็นเวลานานๆ หลังจากนวด และทำความสะอาดเมล็ดแล้ว จึงจำเป็นต้องเอาข้าวเปลือกไปตากอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเอาไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง ทั้งนี้เพื่อให้ได้เมล็ดข้าว เปลือกที่แห้ง และมีความชื้น ของเมล็ด ประมาณ ๑๓- ๑๕% เมล็ดข้าวในยุ้งฉางที่มีความชื้นสูงกว่านี้ จะทำให้เกิดความร้อนสูง จนคุณภาพข้าวเสื่อม นอกจากนี้ จะทำให้เชื้อราต่างๆ ที่ติดมากับเมล็ดขยายพันธุ์ได้ดี จนสามารถทำลายเมล็ดข้าวเปลือกได้เป็นจำนวนมาก  การตากข้าวในระยะนี้ ควรตากบนลานที่สามารถแผ่ กระจายเมล็ดข้าวให้ได้รับแสงแดดโดยทั่วถึงกัน และ ควรตากไว้นานประมาณ ๓-๔ แดด ในต่างประเทศ เขาใช้เครื่องอบข้าวเพื่อลดความชื้นในเมล็ด (drier) โดยให้เมล็ดข้าวผ่านอากาศร้อนประมาณ ๑๐๐-๑๓๐ องศาฟาเรนไฮต์จำนวน ๓-๔ ครั้ง แต่ละครั้งควรห่าง กันประมาณ ๒๐-๒๔ ชั่วโมง

 

การตากเมล็ดข้าว เพื่อรักษาคุณภาพ หลังจากทำความสะอาดแล้ว

 

การเก็บรักษาข้าว 

หลังจากชาวนาได้ตากเมล็ดข้าวจนแห้งและมีความ ชื้นในเมล็ดประมาณ ๑๓-๑๕% แล้วนั้น ชาวนาจะเก็บ ข้าวไว้ในยุ้งฉาง เพื่อไว้บริโภค และแบ่งขายเมื่อข้าวมี ราคาสูง และอีกส่วนหนึ่งชาวนาจะแบ่งไว้ทำพันธุ์ ฉะนั้น ข้าวพวกนี้จะต้องเก็บไว้เป็นอย่างดี โดยรักษาให้ ข้าวนั้นมีคุณภาพได้มาตรฐานอยู่ตลอดเวลา และไม่สูญ เสียความงอก ข้าวพวกนี้ควรเก็บไว้ในยุ้งฉาง ยุ้งฉางที่ ดีจะต้องเป็นยุ้งฉางที่ทำด้วยไม้ยกพื้นสูงจากพื้นดิน อย่างน้อย ๑ เมตร อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อจะได้ ระบายความชื้นและความร้อนออกไปจากยุ้งฉาง นอก จากนี้ หลังคาของฉางจะต้องไม่รั่ว กันน้ำฝนไม่ให้หยด ลงไปในฉางได้เป็นอันขาด ก่อนเอาข้าวขึ้นไปเก็บไว้ ในยุ้งฉาง จำเป็นต้องทำความสะอาดฉางเสียก่อนโดย ปัดกวาดแล้วพ่นด้วยยาฆ่าแมลง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow