Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บทสรุป

Posted By Plookpedia | 02 ธ.ค. 59
830 Views

  Favorite

บทสรุป

      การจัดการศึกษาทุกระดับ และทุกประเภท ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติแผนพัฒนาการศึกษา แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม และนโยบายของรัฐบาล รัฐและเอกชนต่างมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการศึกษา ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของสังคม พัฒนาประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

การศึกษาพระปริยัติธรรม โรงเรียนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดทองนพคุณ


      สถานศึกษามีหลายประเภท แบ่งตามลักษณะงาน และสังกัด ซึ่งพอจะกล่าวถึงอย่างกว้างๆ ได้แก่ โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนเทศบาล โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่สายสามัญ และสายอาชีพ โรงเรียนอาชีวศึกษา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนสาธิต โรงเรียนนาฏศิลป์ โรงเรียนสารพัดช่าง โรงเรียนช่างศิลป์ โรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนนายร้อยวิทยาลัยครู วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยเทคโนโลยี และอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย ซึ่งเปิดสอนทั้งโดยรัฐบาล และเอกชน สถาบันที่เปิดสอนวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูง หรือสถาบันที่สังกัดกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ซึ่งมีความมุ่งหมายผลิตบุคลากรเฉพาะประเภท ตามความต้องการของหน่วยงานนั้นๆ

 

นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์

   

      การเรียกประเภทสถาบันการศึกษาว่า เป็นโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศูนย์ หรือสถาบันนั้น มิได้เป็นข้อกำหนดตายตัวว่า ชื่อใด จัดการศึกษาระดับสูงหรือต่ำกว่ากัน เสมอไป เช่น โรงเรียนนายเรือ จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นสถาบันการศึกษาสำหรับผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวง และหน่วยงานที่สำคัญยิ่งของชาติ เป็นต้น การกำหนดระดับของสถานศึกษา จึงต้องดูภารกิจ และหลักสูตรของสถานศึกษานั้น เป็นสำคัญ
      ปัจจุบันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ในทุกท้องถิ่น มีโอกาสศึกษา และแสวงหาความรู้ได้เสมอ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด สามารถศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิด เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยวิธีการศึกษาบทเรียนด้วยตนเอง ประกอบการใช้สื่อประสม เช่น แถบบันทึกเสียง วิทยุ และโทรทัศน์ เป็นต้น บางมหาวิทยาลัยก็มีโครงการศึกษาต่อเนื่อง และจัดการฝึกอบรม เพื่อให้หน่วยงาน และผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ มีโอกาสพัฒนาความรอบรู้อยู่เสมอ นอกจากนี้สื่อมวลชน เช่น วารสาร หนังสือพิมพ์ รายการวิทยุ และโทรทัศน์ ทางการศึกษา อีกทั้งแหล่งวิทยาการในชุมชน เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หอศิลป์ และปูชนียสถานต่างๆ ล้วนเป็นแหล่งให้ความรู้ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาได้อย่างกว้างขวาง

 

สถานที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน


      ผู้ที่ต้องการฝึกฝนงานอาชีพด้านต่างๆ เช่น งาน เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ การถนอมอาหาร งานช่าง งาน ประดิษฐ์ หรืองานบริการ ก็อาจจัดกลุ่มสนใจ เพื่อศึกษากับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ได้

 

การสานกระเป๋าในศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ บางไทร


      ประเทศไทยมีความจำเป็น ที่จะต้องเร่งพัฒนาประเทศในทุกด้าน และการศึกษาเป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คนมีความรู้ความสามารถ เพียงพอต่อการเป็นผู้สร้างความเจริญ และการเป็นผู้รับการเปลี่ยนแปลงของสังคม การศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งปรากฏผลเด่นชัดทางวัตถุ และการศึกษายังเป็นปัจจัยหลัก ในการพัฒนาสังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง ซึ่งเน้นหนักทางคุณธรรม และคุณภาพของประชาชน สัมฤทธิผลของการศึกษา จึงวัดได้จากการที่ บุคคลสามารถดำเนินชีวิตอย่างสงบ พอเหมาะพอควร สังคม และประเทศชาติ รอดพ้นจากปัญหา มีความมั่นคงร่มเย็นเป็นสุข    
 

การศึกษามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาสังคมทุกด้าน การศึกษาจึงเป็นไปเพื่อชีวิตและสังคม การศึกษาจึงเป็นไป เพื่อชีวิตและสังคม

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow