Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การต่อสู้ของพืช

Posted By Plook Creator | 24 พ.ย. 60
10,789 Views

  Favorite

หนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ดูจะไร้ทางต่อสู้กับน้ำมือมนุษย์ คือ พืช เพราะพวกมันอยู่นิ่ง ไม่สามารถต่อต้าน ขยับหนี หรือแม้แต่วิ่งหนีการทำลายล้างของเราได้ เราสามารถเด็ด ดอก ใบ กิ่ง ก้าน หรือแม้แต่โค่นมันทิ้งได้อย่างง่ายดาย ความอ่อนด้อยของมันยิ่งดูชัดเจนขึ้นเมื่อเรานึกถึงการที่แมลงหลากหลายชนิดสามารถกัดกินและทำลายพืชผลทางการเกษตรของเราลงได้อย่างง่ายดาย

 

ฝูงตั้กแตนเองก็สามารถทำลายไร่ข้าวโพดหลายร้อยไร่ให้หายไปภายในเวลาไม่นาน ส่วนเพลี้ยหรือแมลงอีกหลายชนิดก็สามารถกัดบริเวณผิวของต้นไม้ที่บอบบางและดูดน้ำเลี้ยงเป็นอาหารได้ แต่ทำไมธรรมชาติถึงสร้างสิ่งมีชีวิตอย่างต้นไม้หรือพืชออกมาให้อยู่ต่ำสุดของห่วงโซ่อาหารและไม่สามารถป้องกันตัวเองได้เลย

 

หากเราคิดว่าหนอนสามารถกัดกินใบพืชได้หมดโดยที่พืชเองไม่สามารถขยับหนีหรือทำอะไรได้ หรือเพลี้ยสามารถกัดกินและดูดน้ำเลี้ยงของต้นพืชโดยที่พืชไม่สามารถตอบโต้ได้ นั่นอาจจะเป็นความคิดที่คลาดเคลื่อนไปหน่อย เพราะนักวิทยาศาสตร์พบว่า พืชอย่างต้นมะเขือเทศเองก็มีกลไกการป้องกันตัวเองเพื่อป้องกันการโจมตีของแมลงที่เข้ามากัดกินหรือดูดน้ำเลี้ยงทั้งทางตรงและทางอ้อม พวกมันต้องรับมือกับการโจมตีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มันยังเป็นต้นเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นจุลินทรีย์ แมลง สัตว์ขนาดเล็ก และสัตว์ขนาดใหญ่ที่เข้ามากัดกิน พืชได้รับการวิวัฒนาการให้มีการป้องกันทางกายภาพทั้งภายในและภายนอก เช่น หนามแหลมที่พบได้ตามต้น ซึ่งจะทิ่มแทงสัตว์ที่เข้ามากัดกินพวกมัน ขนขนาดเล็กปกคลุมใบเพื่อให้แมลงไม่สามารถเกาะและกัดกินได้ หรือแม้แต่ขนปกคลุมเมล็ดและผลเพื่อให้ยากต่อสัตว์ที่จะเข้ามากินเนื้อที่อุดมไปด้วยสารอาหาร

 

พืชบางชนิดสะสมสารพิษไว้ที่ใบและลำต้น เช่น ต้นยูคาลิปตัสซึ่งใบของมันเป็นอาหารโปรดสำหรับโคอาล่า แต่ใบอ่อนจะมีสารพิษมากกว่าใบแก่และนั่นทำให้พืชมีโอกาสใช้ประโยชน์จากใบอ่อนของมันยาวนานพอก่อนที่จะถูกโคอาล่ากิน โคอาล่าเองก็เลือกที่จะกินแต่ใบแก่เพราะพิษน้อยกว่าหรือไม่มีเลย พืชบางชนิดเองก็มีสารพิษที่เป็นอันตรายถึงตายหากสัตว์เข้ามาแทะกิน

 

นอกจากนี้หากเราพิจารณาทางด้านโครงสร้างจะพบว่า พืชหลายชนิดเองก็มีการป้องกันตัวอย่างเป็นระบบ พืชต้นใหญ่จะมีเปลือกไม้ซึ่งเป็นโครงสร้างหนาแข็งแรงและยากต่อการทำลายหรือการบดเคี้ยว แม้แต่จากสัตว์ใหญ่ มนุษย์เราเองก็ไม่สามารถทำอะไรต้นไม้ใหญ่ที่มีเปลือกหนาแข็งได้ หากเราไม่ได้มีวิทยาการที่ก้าวหน้าและการคิดค้นขวาน มีด และเลื่อยมาเพื่อใช้งาน เปลือกไม้นอกจากจะป้องกันทางกายภาพได้แล้ว ยังป้องกันการสูญเสียความชื้นและทำให้ต้นไม้ทนทานต่อจุลินทรีย์ขนาดเล็กต่าง ๆ ได้ด้วย

 

ต้นไม้บางชนิดมีโครงสร้างของลำต้นซึ่งอุดมไปด้วยน้ำและอาหาร มีการวิวัฒนาการโดยการสลัดใบทิ้งทั้งหมดแล้วเคลือบผิวนอกด้วย Wax ซึ่งทำให้มันสามารถป้องกันการสูญเสียความชื้นได้อย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้งยังมีหนามแหลมจำนวนมากเพื่อป้องกันสัตว์ เช่น ต้นกระบองเพชร


พืชส่วนใหญ่มีเซลล์พิเศษ ที่เรียกว่า เซลล์คุม (Guard Cells) ซึ่งจะกระจายอยู่ทั่วลำต้นและส่วนต่าง ๆ ของพืช เพื่อทำหน้าที่ป้องกันที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น หากใบถูกเด็ด เซลล์ที่อยู่บริเวณตา หรือขั้วของลำต้น หรือกิ่งที่ถูกเด็ดออกไป ก็จะทำการหดตัว ทำให้หลอดอาหารซึ่งลำเลียงน้ำและสารอาหารไปยังบริเวณนั้นหยุดลง จึงช่วยลดการสูญเสียสารอาหารและความชื้นได้

 

พืชบางชนิดจะปล่อยยางเหนียวออกมาปกคลุมบริเวณที่โดนโจมตี อย่างต้นมะม่วงซึ่งจะปล่อยยางออกมาบริเวณขั้วของผลหรือใบ ยางนี้นอกจากจะปกคลุมส่วนที่โดนโจมตีแล้ว ยังทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังของเราหรือของสัตว์ที่มาโจมตีด้วย การโจมตีในระดับเล็ก ๆ อย่างจุลินทรีย์ที่เข้ามาโจมตีบางส่วนของใบพืชก็สามารถป้องกันได้เช่นกัน หากส่วนใหญ่ของใบโดนจุลินทรีย์โจมตี เซลล์ที่โดนโจมตีและบริเวณใกล้เคียงจะทำลายตัวเองในทันที และนั่นทำให้จุลินทรีย์ที่เข้าโจมตีไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณนั้นอีกต่อไป มันจึงไม่สามารถเติบโตลุกลามไปส่วนอื่น ๆ ของใบได้

ภาพ : Shutterstock

 

พืชหลายชนิดสามารถผลิตสารเพื่อป้องกันการโจมตีของจุลินทรีย์บางชนิดหรือแม้แต่แมลงขนาดเล็กได้ และมนุษย์เราเองก็ใช้ประโยชน์ได้โดยการศึกษาวิจัยและสกัดออกมาเพื่อใช้ทำยา เป็นต้น


สรุปแล้วสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกนี้ได้รับการวิวัฒนาการมาตามธรรมชาติ มันถูกออกแบบมาอย่างดีแล้ว มันสามารถป้องกันตัวเองได้ และทำได้ดีเสียด้วย ไม่ใช่ว่าต้นไม้ยอมอ่อนข้อต่อแมลงและสัตว์อื่น ๆ ทุกชนิด หรือไม่ได้พยายามป้องกันตัวเองจากการกัดกิน หากเราไม่พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติอันเกิดจากน้ำมือเรา เช่น การเพาะปลูกหรือการทำเกษตรที่ทั้งแปลงหรือทั้งสวนมีพืชเพียงชนิดเดียว ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเสียหายจากการกัดกินหรือการทำลายของสัตว์ชนิดอื่น พืชที่อยู่ในธรรมชาติจะกระจายตัวอย่างเป็นระบบและทำให้แต่ละต้นไม่โดยโจมตีโดยฝูงของสัตว์ในคราวเดียว

 

อันที่จริง ฝูงของสัตว์ในธรรมชาติก็ไม่ได้มีมากเหมือนกับที่พบในเรือกสวนไร่นาของมนุษย์ เราจะไม่พบฝูงตั้กแตนหลายล้านตัวในธรรมชาติจริง ๆ ในคราวเดียว หากแต่เป็นเพราะเรามีสวนซึ่งมีอาหารที่มันชื่นชอบอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของประชากรแมลงอย่างก้าวกระโดด ตัดกลับมาที่การป้องกันตัวเองของพืชตามธรรมชาติ หากเราพิจารณาดี ๆ จะเห็นได้ว่ามันมีระบบที่ซับซ้อน เกื้อหนุน และได้รับการออกแบบมาอย่างดีแล้ว ท้ายที่สุด อย่าลืมว่าพืชเองก็มีพลังมากพอที่จะทำลายล้างหรือปกคลุมและทำให้สิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้รับการดูแลจากมนุษย์พังถล่มได้เช่นกัน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow