Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำอย่างไร เมื่อลูกท้าทายคุณ

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 01 พ.ย. 60
6,411 Views

  Favorite

คงมีบ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเผชิญกับสภาวะการท้าทายจากลูก โดยเฉพาะในช่วงวัย 2 – 3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงของการอยากรู้ อยากลอง

 

ซึ่งพ่อแม่จะต้องเรียนรู้วิธีที่จะจัดการกับภาวะนี้ เพราะถ้าพ่อแม่ที่ไม่มีความอดทนก็จะเพลี่ยงพล้ำต่อภาวะ “ลองของ” ของลูกด้วยการใช้อารมณ์หรือการลงโทษที่รุนแรง ซึ่งนอกจากจะไม่ได้เป็นการแก้ไขสถานการณ์แล้ว ยังส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์และสภาพจิตใจของพ่อแม่และลูกด้วย

 

โดยพฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มักจะเกิดขึ้นในเด็กตั้งแต่ 2 หรือที่เรียกว่า Terrible 2 ซึ่งเป็นวัยที่เด็กเริ่มเรียนรู้และรู้เรื่องราวมากขึ้น แต่ยังไม่เข้าใจถึงเหตุผลของสิ่งต่าง ๆ อย่างแจ่มแจ้ง ดังนั้นการกระทำจึงมักจะเป็นในรูปแบบของการอยากรู้ อยากลอง อาจมองคล้ายกับการท้าทายในบางครั้ง ซึ่งในช่วงวัยนี้พ่อแม่ต้องมีความเข้าใจและใช้ความอดทนในการรับมือค่อนข้างมาก เพราะถ้าพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์หรือปรับพฤติกรรมลูกในช่วงนี้ได้ จาก Terrible 2 ก็อาจจะกลายไปเป็น Horrible 3 ได้ เพราะเมื่อโตขึ้นพฤติกรรมเหล่านี้จะเริ่มหล่อหลอมเป็นบุคลิกที่ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นวันนี้เราจึงมีวิธีในการรับมือกับสภาวะเหล่านี้มาฝากกันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. ไม่มองว่า “ลูก” กำลังสร้างปัญหา

ทุกครั้งที่ลูกมีภาวะของการสร้างเงื่อนไขหรือทำพฤติกรรมที่เป็นการท้าทายอารมณ์ของพ่อแม่ ขอให้พ่อแม่มองข้ามปัญหาที่อยู่ตรงหน้านั้น แต่จงมองให้ลึกไปถึงสาเหตุว่าทำไมลูกถึงต้องทำพฤติกรรมเหล่านั้น เช่น เมื่อลูกกำลังหงุดหงิดและโยนข้าวของไปรอบ ๆ พ่อแม่ลองเปลี่ยนจากการดุ หรือตีลูก ไปเป็นการถามลูกด้วยนำเสียงที่นุ่มนวลว่า "ลูกเป็นอะไร ทำไมลูกถึงต้องโยนของ" การพูดคุยจะเป็นการช่วยหยุดอารมณ์ที่พลุ่งพล่านของลูกในขณะนั้น และดึงเขาเข้ามาสู่กระบวนการคิดและหาเหตุผล เพราะในบางครั้งการที่ลูกทำพฤติกรรมเหล่านี้ อาจจะเป็นเพราะต้องการเรียกร้องให้พ่อแม่สนใจและมาเล่นด้วยเท่านั้นเอง

 

2. มีความชัดเจนแต่ไม่บังคับ

เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่จะต้องมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา หรือบอกลูกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่สมควรทำเพราะอะไร เพราะเด็กในวัยนี้เริ่มมีความเข้าใจถึงเหตุผลหรือคำอธิบายง่าย ๆ ได้แล้ว พ่อแม่ควรอธิบายถึงสาเหตุที่ชัดเจนว่าสิ่งใด ควรทำ สิ่งใด ไม่ควรทำ ให้ลูกฟัง และหลีกเลี่ยงการดุหรือบังคับ เพราะลูกจะยิ่งรู้สึกต่อต้านและทำพฤติกรรมตอบสนองที่รุนแรงมากขึ้น

 

3. ใช้คำพูดเชิงบวก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ

ในวัยนี้พ่อแม่ต้องมีความเข้าใจว่าลูกอาจจะยังควบคุมพฤติกรรมบางอย่างของตัวเองไม่ได้ เช่น เมื่อลูกร้องไห้อาละวาด พ่อแม่ก็จะต้องไม่ดุหรือตีลูก เพราะจะยิ่งกระตุ้นอารมณ์ให้รุนแรงมากขึ้น แต่ควรพูดคุยกับลูก มองสบตากับลูก อธิบายถึงเหตุและผล เพื่อให้ลูกสงบลง เพราะการพูดด้วยคำพูดเชิงบวกและใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล นอกจากจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการมีพฤติกรรมที่ดีแล้ว ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกมีความพยายามในการควบคุมตัวเองได้มากขึ้นด้วย

 

เพราะในวัยเด็กนั้นเป็นวัยแห่งการเริ่มต้นเรียนรู้ในทุก ๆ เรื่อง ดังนั้นในบางครั้งจึงอาจทำอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือถูกใจพ่อแม่ไปบ้าง สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ก็คือ ความเข้าใจของพ่อแม่ ที่ต้องมีการสังเกตและรู้ว่าพื้นฐานอารมณ์และพฤติกรรมของลูกเราเป็นแบบใด เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม และเตรียมความพร้อมให้ลูกเข้าสังคมและอยู่กับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

 

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow