Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แค่มีสัญญาณ Wi-Fi ก็มองทะลุกำแพงได้

Posted By EarthMe | 27 ต.ค. 60
17,710 Views

  Favorite

หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่าสัญญาณ Wi-Fi ที่เราใช้กันเพื่อท่องโลกอินเทอร์เน็ตนั้น นอกจากจะสามารถแพร่กระจายผ่านกำแพงได้แล้ว มันยังปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งสามารถนำไปสร้างภาพเสมือนโฮโลแกรม (ภาพ 3 มิติที่ใช้หลักการแทรกสอดของแสงในการสร้าง) ได้อีกด้วย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมิวนิก (TUM) ได้ค้นพบวิธีการจับภาพสภาพแวดล้อมโดยรอบ ด้วยการใช้เพียงแค่สัญญาณระบบ Wi-Fi

 

แม้ว่าสัญญาณ Wi-Fi ส่วนใหญ่จะถูกส่งและรับโดยโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ แต่สัญญาณบางสัญญาณยังคงอยู่ในอากาศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบวิธีใช้ประโยชน์จากมัน นักศึกษาสาขาฟิสิกส์อายุ 23 ปี Philipp Holl และ Dr. Friedenmann Reinhard ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างภาพโฮโลแกรม โดยใช้รังสีไมโครเวฟซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่มาจากเครื่องส่งสัญญาณ Wi-Fi (ระบบส่งข้อมูลแบบไร้สาย เช่น Wi-Fi หรือ Bluetooth จะปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาได้) และรังสีดังกล่าวจะสร้างโฮโลแกรมซึ่งมีคลื่น 2 มิติ ที่จะเข้ารหัสเป็นแบบมุมมอง 3 มิติของวัตถุที่แสงผ่าน

 

ความสามารถในการมองผ่านกำแพงโดยใช้ Wi-Fi นี้มีมาหลายปีแล้ว เราสามารถตรวจจับผู้บุกรุกที่บ้านหรือติดตามวัตถุที่เคลื่อนที่ได้ด้วยเสาอากาศ Wi-Fi 1 หรือ 2 เสา “คนอื่น ๆ ใช้เสาอากาศเพื่อสร้างภาพ 2D แต่ไม่มีใครใช้ Wi-Fi เพื่อสร้างโฮโลแกรม 3D ทั้งห้องและสิ่งของภายในห้อง” Holl กล่าว

ภาพ : Shutterstock

 

โฮโลแกรมโดยปกตินั้นจำเป็นต้องมีระบบเลเซอร์ที่ซับซ้อน ในขณะที่เครื่องกำเนิดภาพโฮโลแกรม Wi-Fi นี้ ต้องการแค่เพียงเสาอากาศ 2 เสา แบบคงที่หนึ่งอันและแบบที่เคลื่อนย้ายได้อีกหนึ่งอัน เทคโนโลยีใหม่นี้หมายถึง พื้นที่ทั้งหมดสามารถสแกนและถ่ายภาพได้จากการประมวลผลสัญญาณ Wi-Fi หรือโทรศัพท์มือถือแบบโฮโลแกรม Philppi Holl บอกว่า "ถ้ามีถ้วยกาแฟอยู่บนโต๊ะ คุณจะเห็นว่ามีอะไรบางอย่างอยู่ที่นั่น แต่คุณจะไม่สามารถมองเห็นรูปร่างได้ของมันได้ แต่คุณสามารถสังเกตรูปร่างของบุคคลหรือสุนัขบนโซฟาได้ จริง ๆ คือวัตถุใดก็ได้ที่มีขนาดเกินกว่าสี่เซนติเมตร"

 

วิธีการของ Holl แตกต่างจากคนอื่น ๆ อย่างแรก เขาใช้เสาอากาศ 2 เสาที่อยู่กับที่หนึ่งอันและที่เคลื่อนที่อีกหนึ่งอัน เสาอากาศที่อยู่กับที่จะบันทึกพื้นหลังของสนามสัญญาณ Wi-Fi ส่วนเสาอากาศอีกอันจะถูกย้ายไปเรื่อย ๆ เพื่อบันทึกข้อมูลของจุดอ้างอิงอื่น ๆ "เสาอากาศเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใหญ่ มันอาจจะมีขนาดเล็กมากเช่นเดียวกับที่อยู่ในสมาร์ทโฟนก็ได้" Holl กล่าว เสาอากาศทั้งสองนั้นจะบันทึกค่าความเข้ม (หรือความสว่าง) ของสัญญาณ Wi-Fi สุดท้ายสัญญาณจากเสาอากาศทั้งสองตัวจะถูกป้อนเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมกัน และซอฟต์แวร์จะฉายความแตกต่างของความเข้มและเฟส "มากหรือน้อยในแบบเรียลไทม์" Holl กล่าว จากนั้นซอฟต์แวร์จะสร้างภาพ 2D จำนวนมาก เนื่องจากเสาอากาศหนึ่งอันนั้นเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ แล้วจึงเอาภาพมาวางซ้อนกันให้เป็นโฮโลแกรม 3D

 

Reinhard กล่าวว่า "การใช้เทคโนโลยีนี้เราสามารถสร้างภาพสามมิติของพื้นที่รอบ ๆ ตัวส่งสัญญาณ Wi-Fi ได้ราวกับว่าเราสามารถมองเห็นคลื่นไมโครเวฟได้ด้วยตาเปล่า เป็นเรื่องแน่นอนว่าเรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามเรื่องของความเป็นส่วนตัว หลังจากที่ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางในระดับนึงแล้ว แม้แต่สัญญาณที่เข้ารหัสไว้ก็สามารถส่งภาพของสภาพแวดล้อมที่นั้นไปยังภายนอกได้" หัวหน้าโครงการกล่าวเพิ่มเติมว่า "อย่างไรก็ตามมันเป็นไปได้ยากที่กระบวนการนี้จะใช้สำหรับสอดส่องตามห้องนอนของคนอื่นในอนาคตอันใกล้นี้ หากต้องการที่จะทำขนาดนั้น คุณจะต้องเดินไปรอบ ๆ อาคารพร้อมกับเสาอากาศขนาดใหญ่ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีใครผิดสังเกตกับกิจกรรมของคุณ"

 

เพียงสัญญาณ Wi-Fi มาตรฐานตามบ้านเรือนก็เพียงพอแล้วสำหรับนักวิทยาศาสตร์ในการสร้างโฮโลแกรม Philipp Holl ผู้ดำเนินการทดลองอธิบายถึงวิธีดำเนินการของเขาว่า "แทนที่จะใช้เสาอากาศแบบเคลื่อนที่ซึ่งจับภาพแบบทีละจุด เราสามารถใช้เสาอากาศจำนวนมากแทนได้เพื่อให้ได้ภาพที่คล้ายกับวิดีโอ

 

แม้ว่าการศึกษาจะเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่นักวิทยาศาสตร์หวังว่า ความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้จะสามารถนำไปใช้ในการใช้งานอื่น ๆ ได้อย่างคุ้มค่าตัวอย่างเช่น การส่งสัญญาณ Wi-Fi ผ่านซากอาคารที่พังหรือส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ภายใต้บริเวณที่หิมะถล่ม นี่อาจทำให้สามารถความช่วยเหลือเหยื่อที่ติดอยู่ภายในอาคารหรือสถานที่อันตรายได้ดียิ่งขึ้น

 

เนื่องจากเทคโนโลยีนี้สามารถสร้างภาพที่ถูกต้องของโครงสร้างที่ถูกทำลายลงได้ จึงถือได้ว่าน่าเชื่อถือกว่าวิธีการสแกนทั่วไปในปัจจุบัน เทคโนโลยีการถ่ายภาพ Wi-Fi ยังสามารถใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมได้ โดยสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการติดตามวัตถุขณะเดินทางตามไลน์การผลิตได้ อย่างไรก็ตาม มีการคำนึงถึงเรื่องของสีทาบ้านหรือวอลล์เปเปอร์เพื่อป้องกันเรื่องของความเป็นส่วนตัวด้วย เพราะในอนาคตน่าจะมีผลต่องานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็กำลังศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความโปร่งแสงของวัสดุแต่ละชนิดที่จะนำไปสู่การเลือกใช้งานวัสดุได้อย่างถูกประเภท

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • EarthMe
  • 1 Followers
  • Follow