Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เคล็ดลับแก้นิสัย “ขี้หลงขี้ลืม” ให้หายขาด

Posted By Alice in HoneyLand | 19 ต.ค. 60
3,180 Views

  Favorite

...อยากลืมกลับจำ อยากจำกลับลืม...
ใครเคยเป็นบ้างยกมือขึ้น!!

 

อาการหลง ๆ ลืม ๆ นี่ไม่เข้าใครออกใครจริง ๆ นะคะ บางทีนึกยังไงก็นึกไม่ออก ติดอยู่ตรงไหนสักที่ จนบางทีก็แอบคิดในใจว่า...หรือนี่เราจะแก่แล้วนะ :( แต่จะบอกว่าภาวะอาการแบบนี้ เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยไม่ใช่แค่เรื่องอายุที่มากขึ้นเพียงอย่างเดียว ใครที่กำลังตกอยู่ในภาวะแบบนี้ เรามีเคล็ดลับแก้นิสัย “ขี้หลงขี้ลืม” มาฝากกันค่ะ

 

ภาพ : Pixabay

#อย่างดมื้อเช้า

มื้อเช้าถือเป็นมื้ออาหารที่สำคัญกับร่างกายมาก เพราะร่างกายต้องการพลังงานไปใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงสมองก็ต้องการพลังงานเช่นกัน

#ดื่มน้ำให้เพียงพอ

เนื่องจากสมองมีองค์ประกอบที่เป็นน้ำถึง 85% และร่างกายของเราก็ประกอบไปด้วยน้ำถึง 70% จะเห็นได้ว่าน้ำมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบในร่างกาย หากได้รับน้ำไม่เพียงพอก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายและสมองได้ ควรดื่มน้ำให้ได้ 2-3 ลิตรต่อวันค่ะ

#ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที จะส่งผลดีต่อการทำงานของระบบสมอง เพราะจะช่วยกระตุ้นออกซิเจนเพื่อลำเลียงไปยังสมอง ทำให้สมองตื่นตัวและมีการพัฒนา ทั้งนี้ยังช่วยให้คุณสดชื่น กระปรี้กระเปร่าตลอดทั้งวันอีกด้วย

#พักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยพัฒนาความจำได้ดีอีกทางหนึ่ง ร่างกายคนเราควรได้พักผ่อน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสมองช่วยให้สมองปลอดโปร่ง มีสมาธิ และความจำดีขึ้น

 

ภาพ : Pixabay

 

      
#กินอาหารที่มีประโยชน์

นอกจากกินอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว ควรเน้นอาหารกลุ่มโปรตีนบำรุงความจำ ได้แก่...

# ปลา ซึ่งเนื้อปลาอุดมไปด้วยกรดอะมิโนไทโรซิน เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสังเคราะห์ได้ มีบทบาทในการกระตุ้นและปรับเปลี่ยนการทำงานของสมอง สามารถช่วยฟื้นฟูความจำ และสารดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid ) คือกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย สารดังกล่าวนี้จะช่วย ในการพัฒนาสมองและสายตา ช่วยเสริมสร้างความจำและการเรียนรู้ ทั้งนี้ยังช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้อีกด้วย

# ไข่ อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่สำคัญประกอบด้วย โปรตีนถึง 6.3 กรัม ไขมัน วิตามิน เอ บี ดี อี ฟอสฟอรัส เหล็ก แคลเซียม สังกะสี ไอโอดีน ซิลิเนียม ทั้งนี้ในไข่แดงยังประกอบไปด้วยโคลีนซึ่งโคลีนเป็นส่วนประกอบในเลซิตินเป็นสารจำเป็นที่ร่างกายจะนำไปใช้เพื่อสร้างสารสื่อประสาท มีส่วนช่วยในกระบวนการส่งกระแสประสาท โดยเฉพาะในสมองส่วนที่ทำงานด้านความจำ 

# นมถั่วเหลือง ประกอบไปด้วย วิตามินเอ, บี, บี 1, บี 2, บี 6, บี 12 คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส ไนอาซิน และเลซิตินที่เป็นสารบำรุงสมอง เสริมสร้างประสิทธิภาพในเรื่องของความจำ ป้องกันความจำเสื่อม 

# พืชตระกูลถั่วต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ถั่วลิสง อัลมอนด์ ฯลฯ ซึ่งในถั่วจะมีวิตามินอีที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความจำ

หรือเสริมด้วยพืชผักผลไม้ที่เป็นสมุนไพร เช่น...

# แปะก๊วย ในใบแปะก๊วยมีฟลาโวนอยด์ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย อีกทั้ง สารกิงโก้ไลด์ ในใบแปะก๊วยยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและหลอดเลือดไปสู่สมอง ทำให้การทำงานของสมองดีขึ้น จึงไมแปลกใจที่ แป๊ะก๊วยจะถูกยกย่องให้เป็น "อาหารเพิ่มความจำ" ตัวแม่เลยทีเดียว

# ใบบัวบก เป็นพืชที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงสามารถป้องกันอนุมูลอิสระไม่ให้เข้าไปทำลายเซลล์สมองได้ อีกทั้งช่วยลดภาวะอาการซึมเศร้า ช่วยเพิ่มความจำ และลดความเหนื่อยล้าของสมองได้ดีเยี่ยม อีกทั้ง สารไตรเตอร์ปินนอยด์ในใบบัวบกยังช่วยลดความกระวนกระวาย และช่วยกระตุ้นกลไกการทำงานของสมอง จึงช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วยเพิ่มสมาธิ และแก้ไขอาการความจำสั้นได้อย่างเหลือเชื่อ

# ผักโขม ในผักโขมมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันและยับยั้งอนุมูลอิสระไม่ให้เข้ามาทำลายเซลล์ประสาทต่างๆ ได้ผักโขมยังมีประโยชน์ช่วยในการชะลอความเสื่อมของสมอง ลดปัญหาความจำเสื่อม แถมยังช่วยลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุได้ดีทีเดียว

# แครอท เป็นอาหารบำรุงสมอง ช่วยลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และช่วยในเรื่องของการทำงานของระบบประสาทและสมอง การทานแครอทสดๆ ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้สมองรู้สึกสดชื่น

 

ภาพ : Pixabay
 

#ทริคช่วยจำ

# หัดใช้แพลนเนอร์ให้ติดเป็นนิสัย ไม่ว่าจะเป็นการจดบันทึกรายวัน รายสัปดาห์หรือรายเดือนรวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดของคุณในแต่ละวัน, คำคมที่ชอบ ฯลฯ การจดจะช่วยย้ำให้สมองจำเรื่องราวเหล่านี้ได้ดีขึ้น หรือถ้าจำไม่ได้ พกสมุดบันทึกติดตัวไปเปิดดูยามที่นึกอะไรไม่ออก ก็ช่วยได้ดีเชียวละค่ะ

# พก Post-it เอาไว้ เผื่อมีอะไรต้องจดเตือนความจำในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ก็ให้เขียนไว้บน Post-it แล้วแปะไว้ในที่ๆ คุณต้องเห็นเป็นประจำ ทุกครั้งที่เห็นโน้ตที่ติดไว้ จะเป็นการเตือนสมองให้จดจำเรื่องเหล่านี้แม่นยำขึ้น

# จัดเก็บข้าวของให้เป็นที่เป็นทางและอยู่ในที่ที่ควรจะเป็น จะทำให้คุณประหยัดเวลา ไม่ต้องเสียเวลาในการหาของ

# อย่าทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เพราะคุณจะไม่สามารถมีสมาธิกับสิ่งใดได้เลย และควรหัดทำอะไรให้ช้าลง เพื่อจะได้มีสมาธิกับสิ่งนั้น เพราะสมองเราจะจำอะไรได้ช้าลงเมื่ออายุมากขึ้น การพูดเร็ว ทำเร็ว จนเกินไปก็มีส่วนทำให้สมองเก็บเรื่องราวเหล่านั้นไว้ไม่ทัน

# บริหารสมองบ้าง ด้วยกิจกรรมที่แตกต่างกันไป เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกม เล่นดนตรี เป็นการออกกำลังกายสมอง ช่วยให้สมองแอคทีฟขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ความจำดีขึ้นได้ด้วย

# ทำให้เป็นกิจวัตร ในที่นี้หมายถึงการทำซ้ำๆ เหมือนๆ กัน จะช่วยให้สมองจำได้เองโดยไม่ต้องพยายาม เช่น ทุกครั้งที่หยิบของไปใช้ ต้องนำมาเก็บไว้ที่เดิม, ทุกครั้งอ่านหนังสือยังไม่จบ แต่ต้องลุกไปทำอย่างอื่น ให้หาที่วางประจำเอาไว้ เมื่อเสร็จธุระนั่นๆ แล้วจะกลับมาอ่านต่อ สมองคุณจะสั่งการอัตโนมัติได้เลยว่าต้องไปหยิบหนังสือจากที่ไหน เป็นต้น

# เข้าใจความสามารถของสมองตัวเอง เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนจำได้ดีถ้าได้มองเห็นก็ใช้การจดบันทึก บางคนจำได้ดีถ้าได้ยินเสียงก็ใช้การอัดเสียง หรือบางคนจะจำได้ดีถ้าได้มีประสบการณ์ร่วมก็ใช้การลงมือทำ เป็นต้น

 

 

แหล่งข้อมูล
manager.co.th/goodhealth
sukkaphap-d.com
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Alice in HoneyLand
  • 2 Followers
  • Follow