Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นักวิทยาศาสตร์เชื่อ โยเกิร์ตส่งผลต่อสมอง

Posted By Plook Creator | 26 ก.ย. 60
10,721 Views

  Favorite

Microorganism แปลตรงตัวได้ว่า สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในระดับไมโคร ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นพวกมันด้วยตาเปล่าได้ แต่ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์เพื่อขยายให้สามารถเห็นรูปร่างของมัน ขณะที่บางจำพวกก็เล็กมากจนต้องใช้กำลังขยายสูง ๆ หรือใช้วิธีการอื่นเข้าช่วย พวกมันอยู่ในทุก ๆ ที่รอบตัวเรา รวมถึงในตัวเรา และส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทั้งในแง่บวกและลบ บางชนิดก่อให้เกิดโรคทำให้เราป่วยได้ บางชนิดก็ทำให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ชนิดไหนคือสิ่งที่ดี

 

อันที่จริงแล้วธรรมชาติได้คัดสรรจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เอาไว้แล้ว บางส่วนที่อยู่ในร่างกายของเราช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร หรือแม้แต่ช่วยควบคุมหรือกำจัดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่น ๆ ที่พยายามจะบุกรุกและทำอันตรายต่อร่างกายของเรา บางชนิดก็มีประโยชน์ในการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ หรือแปลงเอาของเสียให้กลายเป็นของดี ยกตัวอย่างเช่น จุลินทรีย์ที่ใช้ทำน้ำหมัก ทำ EM Ball บ้างก็ช่วยสังเคราะห์แสงแปลงเป็นน้ำตาลหรือพลังงานในรูปแบบอื่น


เมื่อแรกเกิดนั้น ร่างกายของเราได้รับสารอาหารจากแม่ตั้งแต่อยู่ในท้องผ่านสายรกที่ต่อเข้าทางช่องท้อง อาหารและของเสียต่าง ๆ ของทารกถูกนำเข้าและส่งออกผ่านช่องทางนี้ สารอาหารที่เข้าสู่ร่างกายอยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ได้แทบจะในทันที จนกระทั่งคลอดออกมาแล้วเริ่มกินอาหารเอง ระบบย่อยจึงเริ่มทำงานอย่างจริงจัง ในช่วงแรกของชีวิตนั้น ร่างกายของเราค่อนข้างสะอาดปราศจากเชื้อโรค รวมถึงไม่มีจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่มาช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ และนั่นรวมถึงระบบการย่อยอาหารด้วย ร่างกายเราสามารถย่อยอาหารบางจำพวกได้ แต่บางส่วนก็ต้องพึ่งพาสิ่งมีชีวิตอื่น อันที่จริงก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอีกหลาย ๆ ชนิดบนโลก ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายอาหารที่กินเข้าไปได้โดยตรง ต้องพึ่งพาจุลินทรีย์เข้าช่วย อาทิ สัตว์กินพืชเคี้ยวเอื้องที่กินหญ้าหรือใบไม้เป็นอาหาร แต่ย่อยเซลลูโลสไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีจุลินทรีย์ในกระเพาะและลำไส้มาช่วยย่อย เช่นเดียวกับปลวกซึ่งแทะไม้เป็นอาหารก็ย่อยไม้เองไม่ได้ พวกมันจำเป็นต้องมีจุลินทรีย์ในร่างกายมาช่วยเช่นกัน


แล้วจุลินทรีย์ในลำไส้ของเราไปเกี่ยวอะไรกับโยเกิร์ตและสมอง

ภาพ : Shutterstock

 

นั่นเพราะโยเกิร์ตเกิดจากจุลินทรีย์ทำให้นมกลายเป็นนมเปรี้ยว นมจะจับตัวกันข้นขึ้นหรืออาจจะเป็นก้อนตามแต่ละสูตรการผลิต แต่ที่แน่ ๆ จุลินทรีย์เหล่านี้มีประโยชน์ต่อระบบการย่อยและลำไส้ จุลินทรีย์ที่เรามักได้ยินชื่อเป็นประจำได้แก่ แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และโพรไบโอติก (Probiotics) จริง ๆ แล้ว โพรไบโอติก ใช้เรียกอาหารที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิต และจุลินทรีย์เหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ใช่ชื่อของจุลินทรีย์ ส่วนแลคโตบาซิลัสเป็นชื่อจุลินทรีย์ที่ถูกใส่ลงไปในโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวหลายยี่ห้อ

 

ประโยชน์ที่ร่างกายของเราจะได้จากจุลินทรีย์เหล่านี้คือ การปรับสมดุลภายในลำไส้ ทำให้ระบบขับถ่ายเป็นไปตามที่ควรจะเป็น ไม่เกิดการหมักหมมของของเสียในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรดที่จุลินทรีย์เหล่านี้ปล่อยออกมาขณะที่มันทำงานในลำไส้ของเรา มีฤทธิ์พอที่จะยับยั้งการทำงานและการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคได้


เรารู้ว่าความเครียดส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อย โดยเฉพาะลำไส้ คุณอาจจะปวดท้อง หรือมีอาการท้องผูกในช่วงอาทิตย์ที่ทำงานหนัก เครียด นอนไม่พอ การใช้สมองเยอะส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยและขับถ่ายอย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกันหากคุณมีระบบย่อยอาหารและขับถ่ายที่ดีจะทำให้สมองของคุณปลอดโปร่งหรือทำงานได้ดีขึ้นหรือไม่

 

นักวิทยาศาสตร์พบว่าแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในลำไส้ส่งผลต่อการทำงานของสมองแต่ยังไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีการทดลองเปรียบเทียบหนูที่ไม่มีเชื้อจุลินทรีย์อยู่ในร่างกายเลยกับหนูที่มีจุลินทรีย์อยู่ในร่างกาย พบว่า หนูที่ไม่มีจุลินทรีย์เลย เครียดง่ายกว่าและจัดการกับความเครียดได้ยากกว่าอย่างเห็นได้ชัด  และยังพบว่ามันส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่างด้วย จนถึงทุกวันนี้เรารู้กันว่ามันมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนบางอย่างระหว่างจุลินทรีย์ในลำไส้ และการทำงานของสมอง จุลินทรีย์ส่งผลต่อระดับสารเคมีหลายชนิดในร่างกาย และนั่นอาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้สมองเราทำงานได้ดี จนกว่าจะถึงตอนที่ความลับทั้งหมดถูกเผยออกมา การกินโยเกิร์ตเพื่อสุขภาพก็ไม่ยากที่จะทำจริงไหม

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow