Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

"DDT" จากพระเอกสู่ผู้ร้าย

Posted By Plook Creator | 25 ก.ย. 60
17,218 Views

  Favorite

ก่อนหน้านี้การใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรเป็นสิ่งยอดนิยม เนื่องจากความสามารถที่หวังผลได้ในการบำรุงพืชไร่และเพิ่มผลผลิต รวมถึงการใช้เพื่อการกำจัดสิ่งที่มารบกวนแปลงเกษตร เช่น ศัตรูพืชหรือวัชพืชต่าง ๆ การใช้สารเคมีเริ่มต้นขึ้นที่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ก่อนจะค่อย ๆ ไล่ลามไปถึงภาคครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สารเคมีที่มีผลในการกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ได้ผลดีแห่งยุคนั้นอย่างดีดีที (Dichlorodiphenyl trichloroethane, DDT, สูตรเคมี C14H9Cl5) โดยไม่มีใครคาดคิดว่า DDT จะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ด้วย

 

ในช่วงหนึ่ง DDT เป็นสารฆ่าแมลงยอดนิยมแห่งยุค เนื่องจากฤทธิ์ในการกำจัดแมลงที่ได้ผลชะงัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดยุงซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อโรคมาลาเรียและไข้รากสาดใหญ่ มันเริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามโลกที่มีการผลิตและใช้สารเคมีสังเคราะห์อย่างกว้างขวาง ด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะภาคเคมี ประมาณการว่าในช่วงหลังสงครามโลกมีการผลิตและใช้งาน DDT ถึง 1.8 ล้านตัน จนกระทั่งมีการทำวิจัยถึงผลกระทบของสารเคมีและปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดจำนวนของสัตว์ต่าง ๆ ในระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกอินทรีหัวขาวของสหรัฐอเมริกา

 

สาร DDT ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1874 แต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางจนกระทั่ง Hermann Muller ชาวสวิสได้ค้นพบประสิทธิภาพของมันและใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1948 มันเป็นความย้อนแย้งที่มนุษยชาติต้องต่อสู้กับโรคมาลาเรียที่ระบาดอย่างหนักในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่วิธีการที่ได้ผลดีก็มีอยู่ไม่มาก หนึ่งในนั้นคือ การใช้ DDT เพื่อกำจัดพาหะอย่างยุง แต่เมื่อปัญหาเกี่ยวกับมาลาเรียลดลง ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการใช้สารเคมีซึ่งไม่ได้รับการศึกษาวิจัยอย่างถี่ถ้วนก็เกิดขึ้นมากมาย มีการค้นพบว่าสารตัวนี้ยังคุกคามต่อนกและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย และนั่นรวมถึงมนุษย์ โดยส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงเป็นสารก่อมะเร็ง

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เป็นประเด็นหลักในช่วงเวลานั้นคือ สารตัวนี้สามารถเข้าไปอยู่ในนกซึ่งกินแมลงเป็นอาหาร แมลงเหล่านี้มีสาร DDT สะสมอยู่ก่อนที่มันจะตายลง และนกก็ได้รับสารเคมีเหล่านี้เข้าไปด้วย นกที่สร้างความตื่นตระหนกต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากจำนวนประชากรนกที่ลดลงเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของสหรัฐอเมริกา นั่นคือ นกอินทรีหัวขาว (American's Bald Eagle) ซึ่งเป็นนกที่มีถิ่นอาศัยในทวีปอเมริกาเหนือ DDT เข้าไปลดการสร้างแคลเชียมของเปลือกไข่และแม้ว่าพวกมันจะยังผสมพันธุ์และออกไข่ได้ แต่เปลือกไข่ของมันบางและแตกได้ง่าย แม่นกขยับตัวหรือเผลอเหยียบเพียงเล็กน้อยเปลือกไข่ก็แตกในทันที และนั่นทำให้ประชากรของมันลดลงอย่างน่าใจหาย

 

นอกจากนั้น DDT ยังสามารถละลายในไขมันได้ดีกว่าน้ำ มันจึงสามารถส่งต่อและสะสมในร่างกายของสิ่งมีชีวิตได้ดี กอปรกับความเสถียรของตัวมันเอง ทำให้มันตกค้างอยู่ในระบบนิเวศเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน คาดว่าสารเคมีที่มีการใช้อย่างแพร่หลายกว่า 60 ปีก่อน ยังคงตกค้างอยู่ในดินและสะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั่วโลก รวมถึงคนทุกคนด้วย ผลที่เห็นชัดในมนุษย์คือ มันก่อให้เกิดมะเร็งในผู้ใหญ่ ส่งผลต่อสมาธิและความจำของเด็ก เป็นต้น ในปัจจุบันยังคงพบละอองของสารนี้อยู่ในเพนกวิน หรือหมีขั้วโลกอีกด้วย แม้ว่าจะมีอนุสัญญาสตอกโฮล์ม ซึ่งห้ามการใช้ DDT ทั่วโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ก็ตาม

 

แม้ว่าปัญหาด้านสาธารณสุขอันเกิดจากแมลงหรือยุงอย่างเช่น โรคมาลาเรีย จะเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า มันยังมีวิธีอื่นซึ่งสามารถใช้ทดแทนได้เทียบเท่าหรือดีกว่าการใช้ DDT ในการกำจัดยุงเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของมาลาเรีย อย่างเช่น การนอนในมุ้งซึ่งได้รับการฉีดพ่นสารฆ่ายุง การเดินทางของสารเคมีซึ่งเป็นพระเอกแห่งยุคจึงมาถึงตอนจบ เมื่อความสามารถของมันมีมากกว่ากำจัดแมลง และผลกระทบของมันร้ายแรงเกินกว่าจะรับได้ มันจึงกลายเป็นผู้ร้ายที่จำเป็นต้องกำจัดให้หมดไปเสีย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow