Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประวัติมะคาเดเมียในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 01 พ.ค. 60
1,004 Views

  Favorite

ประวัติมะคาเดเมียในประเทศไทย

      ใน พ.ศ. ๒๔๙๖ องค์การยูซอม (USOM: United state Operation Mission) ของสหรัฐอเมริกาได้จัดส่งเมล็ดพันธุ์มะคาเดเมียชนิดผลเปลือกเรียบ (Macadamia integrifolia) ให้แก่ประเทศไทยผ่านทางกรมกสิกรรม (ต่อมากรมนี้ได้รวมกับกรมการข้าวเป็นกรมวิชาการเกษตร) ซึ่งได้ส่งไปทดลองปลูกที่สถานีกสิกรรมหลายแห่งโดยเฉพาะที่สถานีกสิกรรมบางกอกน้อยแต่ส่วนใหญ่ไม่ติดผลมีสถานีกสิกรรมฝางเพียงแห่งเดียวที่เริ่มติดผลแต่ผลก็ไม่ได้ขนาดมาตรฐานสากลและไม่มีการจดสถิติผลิตผลคงปลูกเป็นไม้ประดับ ต้นมะคาเดเมียที่ทดลองปลูกชุดแรกที่ยังมีเหลืออยู่ในขณะนี้ก็อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมเพราะขาดการดูแลรักษา
      ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ นายประสิทธิ์  พุ่มชูศรี เจ้าของสวนชาระมิงค์ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และ ม.ร.ว. จักรทอง  ทองใหญ่ ปลัดกระทรวงเกษตรขณะนั้นได้ขอกิ่งพันธุ์มะคาเดเมียจากมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งในเวลานั้นห้ามนำพืชชนิดนี้ออกนอกประเทศและในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ประเทศไทยได้รับมอบกิ่งพันธุ์ ๓ พันธุ์ คือ พันธุ์ # ๒๔๖ พันธุ์ # ๓๓๓ และพันธุ์ # ๕๐๘ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมกสิกรรมเข้าร่วมศึกษาวิธีการขยายพันธุ์แบบเสียบยอดและเสียบข้างกับต้นตอมะคาเดเมียที่มีอยู่แล้วที่สวนชาระมิงค์และฟาร์มแม่มาลัย ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง ที่สถานีกสิกรรมฝางและสถานีกสิกรรมดอยมูเซอ หลังจากนั้นประมาณ ๑ เดือนจึงได้ส่งกิ่งพันธุ์มาให้กระทรวงเกษตรโดยกรมกสิกรรมนำพันธุ์ไปเสียบกิ่งไว้ที่สถานีกสิกรรมฝางและสวนของนายประสิทธิ์  พุ่มชูศรี  กิ่งพันธุ์มะคาเดเมียที่ใช้ขยายพันธุ์ทั้ง ๒ ครั้ง ส่วนใหญ่นำไปไว้ที่สวนของนายประสิทธิ์  พุ่มชูศรี หลังจากที่นายประสิทธิ์เสียชีวิตต้นมะคาเดเมียที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้มีการดูแลรักษาที่ดีหรือจดประวัติไว้จนไม่สามารถสืบค้นต้นพันธุ์ได้ ส่วนที่สถานีกสิกรรมฝางและดอยมูเซอก็เกิดปัญหาในกรณีเดียวกัน
      ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ นายไพโรจน์  ผลประสิทธิ์ แห่งกองค้นคว้าและทดลองกสิกรรมได้ขอพันธุ์ชนิดที่เสียบกิ่งแล้วอีก ๔ พันธุ์ จากมหาวิทยาลัยฮาวายนำมาทดลองปลูกที่สถานีกสิกรรมฝางและเริ่มเก็บผลได้ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ แต่มีสถิติไม่แน่นอน

      ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ นายอวยชัย  วีรวรรณ แห่งบริษัท เจ.เอฟ.บี. จำกัด ได้สั่งซื้อกิ่งพันธุ์และเมล็ดพันธุ์จากประเทศออสเตรเลียมอบให้กรมวิชาการเกษตรและนายประพัตร สิทธิสังข์ เจ้าของสวนมะม่วงที่จังหวัดเชียงใหม่นำไปทดลองปลูก สำหรับกรมวิชาการเกษตรได้สั่งซื้อต้นพันธุ์ขนาดเล็กที่ทาบกิ่งสำเร็จแล้วด้วย ต้นพันธุ์เหล่านี้เติบโตช้าเพราะส่งมาโดยล้างดินออกหมดเหลือแต่รากเพียงอย่างเดียวดังนั้นจึงมีอัตราตายร้อยละ ๑๐-๑๕ สำหรับต้นที่เหลือนำไปปลูกที่สวนวังน้ำค้างของอาจารย์พันธุ์เลิศ  บูรณะศิลปิน และสถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗

 

มะคาเดเมีย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นพันธุ์มะคาเดเมียที่สถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ [ปัจจุบันคือ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) จังหวัดเชียงใหม่]

 

      บุคคลที่มีความสำคัญและมีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มะคาเดเมีย คือ นายดำเกิง  ชาลีจันทร์ หัวหน้าสำนักงานการเกษตรที่สูงกรมวิชาการเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาพืชมะคาเดเมียตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๒๖ ในระยะแรกมีอุปสรรคนานัปการแต่ด้วยวิริยอุตสาหะและความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ จนกระทั่งการพัฒนาพันธุ์ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนด้านความรู้เกี่ยวกับมะคาเดเมียจากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากประเทศออสเตรเลียและรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา จนทำให้เกษตรกรได้มีความรู้ในการพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตมะคาเดเมียมาจนถึงทุกวันนี้และจากการค้นคว้าและวิจัยดังกล่าวทำให้ได้พันธุ์ทดลองอีก ๘ พันธุ์ คือ พันธุ์ # ๒๔๖, พันธุ์ # ๓๓๓, พันธุ์ # ๓๔๔, พันธุ์ # ๕๐๘, พันธุ์ # ๖๖๐, พันธุ์ # ๗๔๑, พันธุ์ # ๘๐๐, พันธุ์ Hinde (H2)  การพัฒนาพันธุ์ทั้ง ๘ พันธุ์นี้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้จัดซื้อต้นพันธุ์นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเห็นความสำคัญของพืชชนิดนี้ ต่อมาในวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ จึงได้รับต้นพันธุ์ที่สั่งซื้อทั้ง ๘ พันธุ์ และในพ.ศ. ๒๕๒๘ ทางกรมวิชาการเกษตรได้สั่งซื้อพันธุ์จากประเทศออสเตรเลียเพิ่มเติมอีก ๒ พันธุ์ คือ โอซี (OC: Own Choice) และพันธุ์เอชวาย (HY: Rankine) นับว่าเป็นการรวบรวมพันธุ์มะคาเดเมียที่ใช้ปลูกเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการค้าที่มีอยู่ในรัฐฮาวายและออสเตรเลียทั้งหมด

 

มะคาเดเมีย
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงปลูกมะคาเดเมียที่ไร่นวุติ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ 
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ 
ทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการปลูกมะคาเดเมีย ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จังหวัดเชียงราย

 

      นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังได้นำเข้าเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะเป็นต้นตอและท่อนพันธุ์สำหรับเสียบขยายพันธุ์  เมื่อต้นตอที่เพาะมีอายุได้ ๑๒-๑๘ เดือน ซึ่งในปัจจุบันมีแปลงต้นพันธุ์ที่สามารถขยายพันธุ์ขนาดใหญ่ในระดับ ๑๐๐-๒๐๐ ไร่ อยู่ ๓ แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย (วาวี) ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเลย แหล่งขยายพันธุ์ขนาดใหญ่ทั้ง ๓ แห่ง มีพื้นที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่  ในการส่งเสริมการปลูกมะคาเดเมีย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีบทบาทสำคัญโดยทรงนำไปปลูกในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นตัวอย่างการปลูกป่าเศรษฐกิจเพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

 

มะคาเดเมีย
นายดำเกิง  ชาลีจันทร์
หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาพืชมะคาเดเมีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖

 

ในปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้คัดเลือกมะคาเดเมียพันธุ์ดี ๓ พันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูกเป็นการค้า คือ

๑. พันธุ์เชียงใหม่ ๔๐๐ (HAES 660)

      เป็นพันธุ์เบาและออกดอกดกใช้ปลูกรวมกับพันธุ์อื่นเพื่อช่วยผสมเกสรให้พันธุ์อื่นโดยมีอัตราส่วนพันธุ์เชียงใหม่ ๔๐๐ จำนวน ๑ แถวต่อพันธุ์อื่น จำนวน ๓ แถว พันธุ์เชียงใหม่ ๔๐๐ เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๗๐๐ เมตรขึ้นไป แต่ถ้าเป็นพื้นที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๔๐๐-๖๐๐ เมตร ต้องอยู่ในแนวเส้นละติจูด ๑๙.๘ องศาเหนือขึ้นไป ได้แก่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ข้อเสียคือผลมีขนาดเล็กมีจำนวนเมล็ด ๑๗๕-๑๙๐ เมล็ด/กิโลกรัม ผลิตผลเมล็ดทั้งกะลาจำนวน ๑๓-๒๐ กิโลกรัม/ต้น (อายุ ๑๔ ปี) ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและสภาพพื้นที่

๒. พันธุ์เชียงใหม่ ๗๐๐ (HAES 741)

      ผลมีขนาดค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักเนื้อในมากกว่าพันธุ์เชียงใหม่ ๔๐๐ และพันธุ์เชียงใหม่ ๑๐๐๐ เมล็ดเนื้อในมีสีขาวสวยเป็นที่ดึงดูดตา เจริญเติบโตดีให้ผลิตผลสูงและมีคุณภาพดีในพื้นที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๗๐๐ เมตรขึ้นไป ผลิตผลเมล็ดทั้งกะลาจำนวน ๑๕-๓๐ กิโลกรัม/ต้น (อายุ ๑๔ ปี)

๓. พันธุ์เชียงใหม่ ๑๐๐๐ (HAES 508)

      ผลมีขนาดปานกลางเนื้อในมีคุณภาพยอดเยี่ยมคือมีรูปทรงและสีสวยพันธุ์เชียงใหม่ ๑๐๐๐ เจริญเติบโตดีและให้ผลิตผลสูงในสภาพอากาศหนาวเย็นที่ระดับความสูง ๑,๐๐๐ เมตรขึ้นไป เป็นพันธุ์ทนแล้งแต่ไม่ทนร้อน ถ้าปลูกในพื้นที่ต่ำกว่า ๗๐๐ เมตรลงมาจะเกิดอาการแพ้ความร้อนคือ ใบเหลืองซีด ขอบใบไหม้ ผลิตผลเมล็ดทั้งกะลาจำนวน ๒๕-๔๐ กิโลกรัม/ต้น (อายุ ๑๔ ปี) ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและสภาพพื้นที่

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow